ติลบืร์ค
ติลบืร์ค (ดัตช์: Tilburg) เป็นเทศบาลและเมืองในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนอร์ทบราแบนต์ มีประชากรมากกว่า 217,595 คน (มกราคม ค.ศ. 2019) เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจังหวัด และใหญ่เป็นอันดับ 7 ของประเทศ
ติลบืร์ค | |
---|---|
เทศบาล | |
สถานที่ตั้งของเมืองติลบืร์ค | |
พิกัด: 51°33′18″N 5°5′26″E / 51.55500°N 5.09056°E | |
ประเทศ | เนเธอร์แลนด์ |
จังหวัด | นอร์ทบราแบนต์ |
การปกครอง | |
• ผู้ว่า | Peter Noordanus (PvdA) |
• Aldermen | Auke Blaauwbroek (PvdA) Berend de Vries (D66) Roel Lauwerier (VVD) Marjo Frenk (GL) Joost Möller (VVD) Marieke Moorman (PvdA) Erik de Ridder (CDA) |
พื้นที่(2009) | |
• เทศบาล | 119.15 ตร.กม. (46.00 ตร.ไมล์) |
• พื้นดิน | 117.30 ตร.กม. (45.29 ตร.ไมล์) |
• พื้นน้ำ | 1.85 ตร.กม. (0.71 ตร.ไมล์) |
• เขตเมือง | 161.39 ตร.กม. (62.31 ตร.ไมล์) |
ประชากร | |
• เทศบาล | 207,510 คน |
• ความหนาแน่น | 1,769 คน/ตร.กม. (4,580 คน/ตร.ไมล์) |
• เขตเมือง | 229,043 คน |
• Demonym | Tilburger |
เขตเวลา | UTC+1 (CET) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC+2 (CEST) |
Postcodes | 5000–5049, 5056, 5070, 5071 |
รหัสพื้นที่ | 013 |
เว็บไซต์ | www.tilburg.nl |
ติลบืร์ค เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยติลบืร์ค มีเทศกาลฟันแฟร์ (funfair) ที่มีชื่อเสียง จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมของทุกปีและยาวนาน 10 วันติดต่อกัน[1] วันจันทร์ในช่วงฟันแฟร์นี้เรียกว่า โรเซอมานดาค (วันจันทร์สีชมพู) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ติลบืร์คมีสถานีรถไฟ 3 แห่งภายในเขตเทศบาล กรรมสิทธิ์พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเคยเป็นของกิจการรถไฟดัตช์มาก่อนที่เทศบาลเมืองจะมาซื้อและพัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองใหม่
ประวัติศาสตร์
แก้ติลบืร์ค ปรากฏในเอกสารครั้งแรกประมาณ ค.ศ. 709 ในชื่อ ติลลิบืร์ค (Tilliburg)[2] และไม่ปรากฏชื่ออีกเลยอีกหลายร้อยปี ในช่วงยุคกลาง ติลบืร์คเป็นดินแดนมากกว่าเป็นเมือง มีหมู่บ้านเล็กๆล้อมรอบปราสาทที่สันนิษฐานว่าสร้างด้วยไม้ ชื่อ มอตเตอบืร์ชท์ อยู่บนเนินเขาเล็กๆ ซึ่งต่อมาถูกทำลายลงไป ต่อมาดินแดนแถบนี้ตกเป็นของขุนนางผ่านการสืบเชื้อสาย เป็นแหล่งรายได้จากการเก็บภาษี ค่าปรับ และดอกเบี้ยจากชาวบ้าน
ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยัน ฟันเฮสเทรชท์ ขุนนางคนหนึ่งของติลบืร์คได้สร้างปราสาทติลบืร์คขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แม้ต่อมา ปราสาทจะถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1858 เพื่อสร้างโรงงานขึ้นมาแทน ปราสาทถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งโดยเลียนแบบจากโครงเดิมในปี ค.ศ. 1995 หลังจากที่โรงงานปิดตัวลงไป ติลบืร์กเลื่อนฐานะเป็นเมืองเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1809 โดยในครั้งนั้นมีประชากรเพียง 9,000 คน จึงมีการฉลองครบรอบ 200 ปีไปเมื่อปี ค.ศ. 2009
เมืองหลวงแห่งผ้าขนแกะของเนเธอร์แลนด์
แก้ในอดีตติลบืร์คเป็นพื้นที่เลี้ยงแกะ ต่อมา เกษตรกรค้นพบว่ารายได้จากการขายขนแกะไม่เพียงพอจึงเริ่มทอผ้าขนแกะขาย บ้านหลายหลังเริ่มมีเครื่องทอผ้าเป็นของตัวเองในศตวรรษที่ 17 จากนั้น เกิดการพัฒนาการทอผ้าเป็นระบบเมื่อมีพ่อค้าป้อนเส้นใยให้ชาวบ้านไปถักทอ อุตสาหกรรมโตอย่างรวดเร็วจนติลบืร์คกลายเป็นเมืองที่มีโรงงานทอผ้าถึง 145 แห่งใน ค.ศ. 1881 ผ้าขนแกะจากติลบืร์คได้รับความนิยม จนกระทั่งทศวรรษที่ 1960 อุตสาหกรรมซบเซาลงไปจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอในเอเชีย จนเหลือโรงทอผ้าไม่ถึงสิบแห่งในทศวรรษที่ 1980
ในช่วงที่อุตสาหกรรมผ้าขนแกะซบเซาลงไปนั้น ติลบืร์คมีการวางผังเมืองใหม่ อนุสรณ์สถานและชุมชนหลายแห่งถูกทำลายและสร้างเป็นอาคารสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นศาลาว่าการเมือง สถานีรถไฟเก่า[3]
พระเจ้าวิลเลิมที่ 2
แก้ติลบืร์คมีความผูกพันกับพระเจ้าวิลเลิมที่ 2 แห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นเจ้าชายเพื่อดูแลกองทัพต่อต้านการปฏิวัติเรียกร้องเอกราชของประเทศเบลเยียม พระองค์ทรงตั้งฐานทัพที่ติลบืร์ค และแม้จะทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ยังเสด็จมาประทับที่ติลบืร์คอยู่บ่อยครั้ง พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์เพื่อปรับปรุงพันธุ์แกะ สร้างฟาร์มและโรงเลี้ยงวัวหลายแห่ง พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังแห่งใหม่ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1847 แต่มาแล้วเสร็จไม่กี่วันหลังพระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1849 ปัจจุบัน พระราชวังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของศาลาว่าการเมือง สโมสรฟุตบอลวิลเลิมตเวก็ตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เช่นกัน
อ้างอิง
แก้- ↑ (ในภาษาดัตช์) Tilburgse Kermis
- ↑ Baron Sloet, L. A. J. W. (1872). Oorkondenboek der Graafschappen Gelre en Zutfen tot op den Slag van Woeringen, 5 Juni 1288. s'Gravenhage: Martinus Nijhoff. pp. 3 (no. 2).
- ↑ "Hoogspoor - Tilburg Wiki" (ภาษาดัตช์). Regionaalarchieftilburg.nl. 26 November 2013. สืบค้นเมื่อ 24 June 2014.