ตำบลแสลงโทน
แสลงโทน เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
ตำบล | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Tambon Salaeng Thon |
แสลงโทน | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | บุรีรัมย์ |
อำเภอ | ประโคนชัย |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 36.45 ตร.กม. (14.07 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2565)[1] | |
• ทั้งหมด | 6,203 คน |
• ความหนาแน่น | 170.95 คน/ตร.กม. (442.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 31140 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 310702 |
เทศบาลตำบลแสลงโทน | |
---|---|
พิกัด: 14°46′46″N 103°03′22″E / 14.779552°N 103.056092°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | บุรีรัมย์ |
อำเภอ | ประโคนชัย |
จัดตั้ง | 18 กรกฎาคม 2551 (ทต.แสลงโทน) |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | เทียนอิ๋ว เหลืองเดชานุรักษ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 36.45 ตร.กม. (14.07 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2565) | |
• ทั้งหมด | 6,203 คน |
• ความหนาแน่น | 170.95 คน/ตร.กม. (442.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 05310702 |
ที่อยู่ สำนักงาน | เลขที่ 199 หมู่ที่ 3 ตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 31140 |
เว็บไซต์ | www |
ข้อมูลทั่วไป
แก้ตำบลแสลงโทนตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอประโคนชัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่คือเทศบาลตำบลแสลงโทนซึ่งเดิมเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสภาตำบลเรียกว่า "สภาตำบลแสลงโทน" จัดตั้งครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน พ.ศ. 2513 ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และได้รับการยกฐานะจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา[2]
ประวัติ
แก้ยุคแรก
แก้บ้านแสลงโทนเป็นเมืองที่มีการอาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือประมาณ 1,600 - 2,000 ปีมาแล้ว และมีการทิ้งร้างไประยะหนึ่ง จึงมีชุมชนในละแวกใกล้เคียงเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยซ้อนทับชุมชนเมืองโบราณเดิม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2478 เริ่มมีการศึกษาจากกรมศิลปากร จากภาพถ่ายทางอากาศ เมืองโบราณแสลงโทนมีรูปวงกลมรี มีกำแพงดินและคูเมืองกั้นล้อมรอบเป็นกำแพงเมือง 3 ชั้น ปัจจุบันเหลือเพียงชั้นเดียว และยังพบหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดี เช่น ใบเสมาในเขตเมืองโบราณแสลงโทน ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มคือ ภายในกำแพงเมือง 2 กลุ่ม ที่บริเวณศาลเจ้าพ่อแสลงโทนและโคกพระนอนหน้าโรงพักตำรวจ ส่วนอีกกลุ่มอยู่นอกคูเมืองด้านทิศเหนือ ใบเสมาทั้ง 3 กลุ่มมีลักษณะเป็นหินทรายสีขาวและแดงแบบรูปทรงธรรมชาติ ปักกระจายทั่วบริเวณหนึ่ง โดยไม่กำหนดทิศทางมีทั้งที่ปักคู่และปักเดี่ยว และยังพบหินศิลาแลง หินทรายสีชมพูในบริเวณศาลเจ้าพ่อแสลงโทนและโคกพระนอนหน้าโรงพักตำรวจ และพระพุทธรูป เทวรูปเก่า ไหบรรจุโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องใช้ เครื่องประดับ และเศษภาชนะดินเผา เป็นต้น
จากหลักฐานร่องรอยที่ปรากฏ เมื่อเทียบเคียงเอกสารทางวิชาการและเมืองต่างในแถบประเทศไทยที่รับอิธิพลวัฒนธรรมทวารวดี ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบ้านแสลงโทนเป็นเมืองโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12–16 หรือ ประมาณ 1,600 - 2,000 ปีมาแล้ว และถูกทิ้งร้างไป (อ้างอิงจากกรมศิลปากร. 2532. "แผนที่ทางโบราณคดีจังหวัดบุรีรัมย์." มปท. หน้า 97 และ วารสารบทความทางวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)[3][4]
ส่วนที่มาของชื่อ "แสลงโทน" ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด น่าจะเป็นการเรียกชื่อภายหลังจากเริ่มมีคนต่างถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานทับซ้อนเมืองโบราณเดิม จากการสันนิษฐานและศึกษาเปรียบเทียบกับชุมชนโดยรอบบริเวณนี้ ปรากฏว่ามาจากการตั้งชื่อตามต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ชุมชนบริเวณนั้นตั้งถิ่นฐานอยู่ คำว่า "แสลงโทน" ก็น่าจะมาจากคำว่า "แสลง" คือต้นไม้ชนิดหนึ่งคือต้นแสลงที่มีมากในบริเวณพื้นที่ของสมัยนั้น ส่วนคำว่า "โทน" อาจะเป็นคำเติมในภายหลัง
ยุคปัจจุบัน
แก้เดิมตำบลแสลงโทน เมื่อ พ.ศ. 2443 ขึ้นกับตำบลบ้านไทร ต่อมาเมื่อ 29 กันยายน พ.ศ. 2513 ได้มีการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองใหม่โดยแยกพื้นที่บ้านแสลงโทน บ้านสี่เหลี่ยม (พื้นที่ตำบลสี่เหลี่ยม อำเภอประโคนชัย ในปัจจุบัน) และบ้านสำโรง (พื้นที่ตำบลสำโรง อำเภอพลับพลาชัย ในปัจจุบัน) จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นตำบลแสลงโทน และต่อมาใน พ.ศ. 2538 ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายที่จะจัดตั้งกิ่งอำเภอแสลงโทนขึ้น จึงแยกบ้านสี่เหลี่ยมและบ้านสำโรงจัดตั้งขึ้นเป็นตำบลเพื่อรองรับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ แต่ก็ถูกล้มเลิกไปเนื่องจากมีประชาชนบางตำบลคัดค้าน และเป็นผลทำให้เกิดการจัดตั้งอำเภอพลับพลาชัยขึ้นแทน ตำบลแสลงโทนจึงมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอประโคนชัยตั้งแต่นั้นมา
ลักษณะภูมิศาสตร์
แก้ที่ตั้งภูมิประเทศ
แก้ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะพื้นที่เป็นเป็นพื้นที่ราบลุ่ม โดยลาดเอียงจากทิศเหนือลงไปทิศใต้ สภาพทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย โดยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 150–180 เมตร และพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประโคนชัยไปทางทิศเหนือประมาณ 19 กิโลเมตร และห่างตัวจังหวัดบุรีรัมย์ไปทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 2445 ประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 36.45 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต
แก้- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลเสม็ด (อำเภอเมืองบุรีรัมย์)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลสำโรง (อำเภอพลับพลาชัย)
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบ้านไทร (อำเภอประโคนชัย)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลสี่เหลี่ยม (อำเภอประโคนชัย) และตำบลเมืองฝาง (อำเภอเมืองบุรีรัมย์)
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้ตำบลแสลงโทนประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน ได้แก่
- หมู่ที่ 1 บ้านแสลงโทน
- หมู่ที่ 2 บ้านแสลงโทน
- หมู่ที่ 3 บ้านแสลงโทน
- หมู่ที่ 4 บ้านแสลงโทน
- หมู่ที่ 5 บ้านหนองบอน
- หมู่ที่ 6 บ้านแสลงโทน
- หมู่ที่ 7 บ้านแสลงโทน
โครงสร้างพื้นฐาน
แก้การคมนาคม การคมนาคมติดต่อระหว่างตำบลและหมู่บ้านใช้การคมนาคมทางบกโดยทางรถยนต์เป็นหลักในการติดต่อและขนส่งผลิตผลทางการเกษตร โดยมีเส้นทางที่สำคัญ ดังนี้
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2445 เชื่อมการคมนาคมระหว่างอำเภอเมืองบุรีรัมย์กับอำเภอประโคนชัย
- ทางหลวงชนบท บร.3002 เชื่อมการคมนาคมระหว่างบ้านแสลงโทนกับบ้านกระเดื่อง และเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218
- ทางหลวงชนบท บร.3011 เชื่อมการคมนาคมระหว่างบ้านแสลงโทนกับอำเภอพลับพลาชัย
โทรคมนาคม มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย ในเขตเทศบาลมีเสาส่งสัญาณโทรศัพท์ทุกเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล และมีสายโทรศัพท์ผ่าน ทำให้การติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว
การไฟฟ้า อยู่ใกล้ตัวเมืองและมีสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอประโคนชัยตั้งอยู่ในพื้นที่ทำให้สามารถให้บริการไฟฟ้าได้ครอบคลุมแทบทุกหลังคาเรือน
ลักษณะสภาพทางเศรษฐกิจ
แก้ราษฎรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาข้าว แต่โดยศักยภาพด้านพื้นที่ที่อยู่ชานเมืองติดต่อกับเขตตัวเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญของจังหวัดทำให้การขยายตัวด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและการบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
- ด้านการอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงงานขยะแปรใช้ใหม่ โรงงานเลี้ยงไก่ เป็นต้น
- ด้านพาณิชย์ มีการประกอบกิจการด้านการพาณิชยกรรมและการบริการจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร สถานีบริการน้ำมัน
- ด้านเกษตร ปัจจุบันราษฎรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนาข้าว
มีห้างสรรพสินค้า จำนวน 2 แห่ง
- ห้างทวีกิจแสลงโทนสาขาที่1 ตั้งอยู่ที่ ริมถนนสาย 2445 หมู่ที่3 ตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัย
- ห้างทวีกิจแสลงโทนสาขาที่2 ตั้งอยู่ที่ ริมถนนสาย 2445 หมู่ที่7 ตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัย
ลักษณะทางสังคม
แก้- สถิติจำนวนประชากรและบ้าน ข้อมูล ปี 2566
พื้นที่ | ชาย (คน) | หญิง (คน) | รวม (คน) | บ้าน (หลัง) |
หมู่ที่ 1 แสลงโทน | 662 | 658 | 1,320 | 397 |
หมู่ที่ 2 แสลงโทน | 457 | 443 | 900 | 291 |
หมู่ที่ 3 แสลงโทน | 501 | 535 | 1,036 | 348 |
หมู่ที่ 4 แสลงโทน | 267 | 250 | 517 | 152 |
หมู่ที่ 5 หนองบอน | 548 | 502 | 1,050 | 253 |
หมู่ที่ 6 แสลงโทน | 404 | 391 | 795 | 257 |
หมู่ที่ 7 แสลงโทน | 268 | 290 | 558 | 183 |
ยอดรวมทั้งหมด | 3,107 | 3,069 | 6,176 | 1,907 |
ด้านสาธารณสุข
แก้- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนแสลงโทน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านแสลงโทน
ด้านการศาสนาและวัฒนธรรม
แก้ราษฎรส่วนใหญ่ร้อยละ 98 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 1 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นร้อยละ 1 มีศาสนสถานที่สำคัญ ดังนี้
- วัด จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
- สำนักสงฆ์ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สำนักสงฆ์วัดป่าแสลงโทน
ด้านการศึกษา
แก้สถานศึกษา จำนวน 3 แห่ง และ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ 2 แห่ง ประกอบด้วย
- โรงเรียนแสลงโทนพิทยาคม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านแสลงโทน
- โรงเรียนบ้านแสลงโทน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านแสลงโทน
- โรงเรียนบ้านหนองบอน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านหนองบอน
- ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์เทศบ้านตำบลแสลงโทน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านแสลงโทน
- ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์วัดบ้านแสลงโทน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านแสลงโทน
- ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์เทศบ้านตำบลแสลงโทน (บ้านหนองบอน) ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านหนองบอน
สถานที่ท่องเที่ยว
แก้- เมืองโบราณแสลงโทน เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ในเขตบ้านแสลงโทน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ ตามทางหลวงหมายเลข 2445 สายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ระยะทาง 25 กิโลเมตร ทางหลวงตัดผ่ากลางชุมชนโบราณ มองเห็นคันดินเป็นแนวสูงประมาณ 5-7 เมตร อยู่สองข้างทาง เมืองโบราณแห่งนี้มีลักษณะเป็นรูปกลมรีวางตามแนวตะวันออก ตะวันตก มีเนื้อที่ในเขตเมืองโบราณทั้งหมด 1.19 ตารางกิโลเมตร มีคูเมืองโอบอยู่นอกคันดิน 3 ชั้น ปัจจุบันเหลือเพียงชั้นเดียว ใกล้คันดินด้านที่ตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแสลงโทนในปัจจุบัน มีเนินดินซึ่งมีก้อนหินศิลาแลงกระจัดกระจายเข้าใจว่าเคยมีศาสนสถาน แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อแสลงโทน เรียกว่า ศาลปู่เจ้าหรือกระท่อมเนียะตา เป็นศาลเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านแสลงโทนและชาวบ้านใกล้เคียง สร้างด้วยไม้ระแนง หลังคามุงกระเบื้องและพื้นเป็นปูนซีเมนต์ ทั้งคูน้ำคันดิน (ที่เหลืออยู่ริมทางหลวง) และเนินดินศาลเจ้าพ่อแสลงโทน ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้ว นอกจากนี้ยังพบหลักฐานอื่นที่สำคัญ คือ สระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมในเขตวัดแสลงโทน 2 สระ พบเศษภาชนะดินเผา โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องประดับ เทวรูปเก่าและใบเสมาเก่า ซึ่งเข้าใจว่าบริเวณนี้เคยเป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชนโบราณ
ด้านภาษาและวัฒนธรรม
แก้- ด้านภาษา ภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาเขมรถิ่นไทย นอกจากนั้นคือภาษาไทยถิ่นอีสาน ไทย ส่วย ไทยเบิ้ง เป็นต้น
- ประเพณีลอยกระทง
- ประเพณีแห่ตาปู่แสลงโทนและประเพณีสงกรานต์โบราณแสลงโทน เป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาเป็น 100 ปี ซึ่งพิธีบูชาศาลเจ้าพ่อแสลงโทน หรือชาวบ้านนิยมเรียกว่าตาปู่ หรือ กระท่อมเนี๊ยะตา จัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจเป็นสิริมงคลแก่ ให้แก่ชาวบ้านรวมทั้งผู้ที่ทำเกี่ยวกับการเกษตรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกในแต่ละปี เพื่อบันดาลให้ฝนตกมา น้ำท่าอุดมสมบูรณ์และอยู่เย็นเป็นสุข โดยงานดังกล่าวได้อัญเชิญเจ้าพ่อแสลงโทนหรือตาปู่ แห่รอบตัวหมู่บ้าน 3 วัน พร้อมทั้งมีการละเล่นที่สนุกสนานผนวกรวมกันกับประเพณีสงกรานต์โบราณ
อ้างอิง
แก้- ↑ ข้อมูลสรุปประชากรในตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ. 2565 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statyear/#/TableTemplate5/Area/statpop?yymm=65&ccDesc=%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B9%8C&topic=statpop&ccNo=31&rcodeNo=3107&rcodeDesc=%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2&ttNo=310702&ttDesc=%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%99
- ↑ ข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น http://www.dla.go.th/servlet/InfoServlet?_mode=history&orgId=1717
- ↑ วารสารบทความทางวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/68_8.pdf
- ↑ ข้อมูลพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา เข้าถึงออนไลน์ทาง http://koratmuseum.com/download/pitakchai.pdf