ตารีกีปัส

การฟ้อนรำที่ใช้พัดประกอบการแสดง

ตารีกีปัส (อินโดนีเซีย: Tari Kipas) เป็นศิลปะการแสดงระบำพื้นเมืองที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของทางภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย และซูลาเวซีใต้ของอินโดนีเซีย ที่ใช้พัดประกอบการแสดง ประกอบกับเพลงที่มีความไพเราะน่าฟัง ลีลาท่ารำจึงอ่อนช้อย และเป็นการแสดงที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี นอกจากนั้นยังได้นำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ ในงานมหกรรมพื้นบ้านโลกอีกด้วย

ความหมายของชื่อ แก้

คำว่า "ตารีกีปัส" มาจากภาษามลายูสองคำที่ว่า "ตารี" ที่แปลว่า ระบำ หรือ ฟ้อนรำ และคำว่า "กีปัส" ที่แปลว่า พัด ดังนั้นคำนี้จึงแปลว่า การฟ้อนรำที่ใช้พัดประกอบการแสดง

ประวัติ แก้

ประเทศอินโดนีเซีย แก้

ตารีกีปัสเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวโกวาในซูลาเวซีใต้ บางครั้งรู้จักกันในชื่อ กีปัสปากาเรอนา (Kipas Pakarena) โดย ปากาเรอนา แปลว่า "เล่น" เชื่อกันว่ามีการร่ายรำมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโกวาในสมัยโบราณ[1].

เชื่อกันว่ากีปัสปากาเรอนาบอกเล่าเรื่องราวของการจากลาของคนบนโบติงลังงี (Boting Langi) คือสวรรค์ กับคนลิโน (Lino) คือคนที่ยังอยู่บนโลก การแสดงนี้แสดงให้เห็นถึงความประณีตของสตรีโกวาที่มีความนอบน้อมต่อสามี นอกจากนี้การแสดงยังมีกฎให้ทำตาหรี่ ห้ามลืมตามาก และห้ามยกขาสูงเกินไป บวกกับการแสดงชุดนึงมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้ผู้แสดงต้องมีความแข็งแรงทางกายมาก[2]

ปัจจุบันตารีกีปัสเป็นหนึ่งในการแสดงของซูลาเวซีใต้ และเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคดังที่พบในมาเลเซีย และไทยทางใต้

ประเทศไทย แก้

การแสดงชุดนี้ได้รับการฟื้นฟูโดยคณะครูโรงเรียนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ควบคุมการฝึกซ้อมโดย อาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2518 ก็ได้ชมการแสดงของรัฐต่าง ๆ หลายชุด เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย ก็ได้เล่าถึงการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ของมาเลเซียที่ได้ไปชมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง และได้ทราบว่าเมืองยะหริ่งเดิมก็เคยมีการแสดงที่คล้ายคลึงกันกับของมาเลเซียหลายชุด ดังนั้นจึงได้คิดฟื้นฟูการแสดงพื้นเมืองชุดต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะชุดตารีกีปัส ได้นำออกแสดงครั้งแรกเนื่องในงานเลี้ยงเกษียณอายุข้าราชการครูโรงเรียนยะหริ่ง ต่อมาได้มีการถ่ายทอดการแสดงชุดตารีกีปัสไปสู่ประชาชนครั้งแรก โดยเปิดสอนให้กับคณะลูกเสือของจังหวัดปัตตานี เพื่อนำไปแสดงในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2522 และได้ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดปัตตานี เมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นระบำชุดเปิดสนามงานกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ของจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2524 นับว่าการแสดงชุดตารีกีปัสได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศไทยและยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง[3] 

ลักษณะ แก้

การแสดงตารีกีปัส มีรูปแบบการแสดงเป็นหมู่ระบำ ซึ่งรูปแบบการแสดงมีอยู่ 2 ลักษณะคือ

  • การแสดงเป็นคู่ ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง หญิงล้วน
  • การแสดงเป็นหมู่ระบำโดยใช้ผู้หญิงแสดงล้วน

เครื่องแต่งกาย แก้

การแต่งกายฝ่ายหญิง

การแต่งกายฝ่ายหญิงแต่งกายตามแบบที่ได้รับการปรับปรุงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นการแต่งกายของตารีกีปัส เช่น

  • เสื้อบานง
  • โสร่งบาติก หรือผ้าซอแกะ
  • ผ้าสไบ
  • เข็มขัด
  • สร้อยคอ
  • ต่างหู
  • ดอกซัมเปง
การแต่งกายฝ่ายชาย

การแต่งกายฝ่ายชายแต่งกายตามการแต่งกายของตารีกีปัส เช่น

  • เสื้อตือโละบลางอ
  • กางเกงขายาว
  • ผ้ายกเงิน ผ้ายกทอง หรือ ผ้าซอแกะ
  • เข็มขัดเป็นแนะ
  • หมวกสีดำ[4]

เครื่องดนตรี แก้

เครื่องดนตรีประกอบการแสดงตารีกีปัส ได้แก่ ไวโอลิน แมนโดลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง ลูกซัด บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องแต่บรรเลงดนตรี มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ชื่อเพลง อินังจีนา (Inang Cina) เป็นเพลงพื้นบ้านมลายูที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีจีน[5]

อ้างอิง แก้

  1. Utami, Rizky (2014). Ensiklopedia tari-tarian Nusantara (ภาษาอินโดนีเซีย). Margacinta, Bandung. pp. 85–89. ISBN 9789796659869. OCLC 927620776.
  2. "Kipas Dance - South Sulawesi". indonesia-tourism. 9 May 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-10. สืบค้นเมื่อ 2019-02-19.
  3. "ฟ้อนตาลีกีปัส". 7 August 2012.
  4. การแสดงนาฏศิลป์
  5. ทองแกมแก้ว ด., & คัญทะชา ท. (1). ตารีลีเล็ง : ระบำเทียนระบำพื้นบ้านไทยมุสลิมภาคใต้ ผลงานสร้างสรรค์จากจินตนาการของศิลปินพื้นบ้าน: เซ็ง อาบู. RUSAMILAE JOURNAL, 33 (3), 19-32. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/62945

แหล่งข้อมูลอื่น แก้