ตรูญัน (อักษรโรมัน: Trunyan) หรือ เตอรูญัน (อักษรโรมัน: Terunyan) เป็นหมู่บ้านชาวบาหลี (บันจาร์; banjar) ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบบาตูร์ ซึ่งเป็นทะเลสาบแอ่งกะทะในตำบลบังลี ทางตอนกลางของเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย หมู่บ้านนี้เป็นหนึ่งในหมู่บ้านของชาวบาหลีอากาที่สำคัญที่สุด เช่นเดียวกับหมู่บ้านเตอกานัน และซัมบีรัน ตรูญันเป็นที่รู้จักมากเป็นพิเศษจากพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลศพ หมู่บ้านตรูญันวางศพผู้วายชนม์ไว้บนพื้นดินในที่โล่ง มีแค่เสื้อผ้าและไผ่สานคลุมอยู่เท่านั้น และทิ้งไว้เช่นนั้นให้ย่อยสลาย ส่วนกลิ่นศพเชื่อกันว่ามีต้นไม้ใกล้เคียงดับไว้

ลานไว้ศพและต้นไทรเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักของหมู่บ้านตรูญัน

ข้อมูลทั่วไป แก้

ตรูญันเป็นหนึ่งในหมู่บ้านชาวบาหลีอากาที่มีความโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรมสูงที่สุดในเกาะบาหลี และตั้งอยู่บนเชิงเขาอากุง หมู่บ้านสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดโดยทางเรือ

โดยทั่วไปถือว่าชาวบ้านในชุมชนเป็นชาวบาหลีอากา หรือชาวบาหลีภูเขา ซึ่งต่างกับชาวบาหลีที่ราบ โดยที่บาหลีอากายังคงปฏิบัติตามธรรมเนียมพิธีที่มีอยู่เดิมก่อนการเข้ามาของอิทธิพลศาสนาฮินดูและพุทธดังที่ชาวบาหลีที่ราบนำมาปฏิบัติมากกว่า พิธีกรรมและวัฒนธรรมของตรูญันถือว่าโดดเด่นแม้กระทั่งในบรรดาหมู่บ้านบาหลีอากาด้วยกันเอง โบสถ์พราหมณ์ (ปูรา) หลักของหมู่บ้านมีป้ายข้อความอ้างว่าปูรานี้สร้างขึ้นในอย่างน้อยศตวรรษที่ 10 (ปี 833 ตามปฏิทินซากา) ส่วนหมู่บ้านน่าจะเก่าแก่กว่าปูรา[1]

สังคม แก้

สังคมตรูญันประกอบด้วยสอง "วรรณะ" สำคัญ คือ บันจาร์เจอโร (banjar jero) และ บันจาร์จาบา (banjar jaba) วรรณะในระบบของตรูญันได้มาจากการสืบเชื้อสายที่มีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิเกลเกล โดยบันจาร์เจอโรเป็นผู้สืบทอดของชาวตรูญันที่เดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อไปรับการแต่บตั้งโดยกษัตริย์แห่งเกลเกล ส่วนบันจาร์จาบา คือคนที่ถูกปกครองโดยบันจาร์เจอโรอีกที ระบบวรรณะนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างที่สังคมภายนอกมีอิทธิพลต่อสังคมตรูญันที่ตั้งอยู่ห่างไกลมากจากสังคมอื่น ๆ[2] อีกอิทธิพลภายนอกที่โดดเด่นคือการบังคับให้ชายหนุ่มของตรูญันต้องเดินทางลงไปยังที่ราบของบาหลีเป็นช่วงเวลาหนึ่งเพื่อไปเป็นขอทานในลักษณะเช่นเดียวกับการบิณฑบาตของพระสงฆ์ในประเทศไทย อิทธิพลนี้ได้รับมาจากพระพุทธศาสนาที่เข้ามามีอทิธิพลเด่นชัดในศตวรรษที่ 10[3]

เช่นเดียวกับชาวบาหลีกลุ่มอื่น ๆ ชาวตรูญันให้ความสำคัญกับการประดับประดาสิ่งสร้างต่าง ๆ อย่างสวยงามวิจิตร พิธีกรรมต่าง ๆ ต้องจัดอย่างตระการตาที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่นหากจะจัดงานมงคลสมรส ก็จะต้องจัดให้อลังการที่สุด มิฉะนั้นก็ไม่ต้องจัดเลย เนื่องจากเศรษฐกิจของตรูญันมีขนาดเล็กและเป็นกสิกรรมอยู่ คนจำนวนมากไม่ได้มั่งคั่ง คู่รักที่แต่งงานหลายคู่แม้จะมีลูกแล้วก็เลือกที่จะเลื่อนงานแต่งงานออกไปตลอดกาล เพียงเพราะค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีที่สูงมาก[2]

พิธีศพ แก้

 
ร่างศพที่ไว้บนพื้นและคลุมด้วยกรงไผ่

ชาวตรูญันมีพิธีศพที่ไม่เหมือนชนกลุ่มอื่นใดในเกาะบาหลี แทนที่การฝังศพ พิธีศพของตรูญันจะไว้ร่างของผู้วายชนม์ไว้บนพื้นเฉย ๆ คลุมด้วยผ้า และกรงไผ่ และทิ้งไว้เช่นนั้นให้ย่อยสลายตามกาลเวลา ว่ากันว่าต้นไทรเก่าแก่ (ขื่อว่า ตารูเมอญัน; taru menyan, แปลว่า "ต้นกลิ่นหอม") ที่โตอยู่ใกล้กับที่ไว้ศพช่วยดับกลิ่นย่อยสลายของศพได้ นอกจากนี้ยังว่ากันว่าชื่อหมู่บ้าน "ตรูญัน" น่าจะมาจากชื่อของต้นไม้นี้ด้วย เมื่อศพย่อยสลายหมดจนเหลือแต่กระดูกแล้ว กะโหลกจะถูกแยกไปตั้งบนแท่นบูชารูปบันได ตั้งอยู่ห่างไปราว 500 เมตรจากบันจาร์กูบัน (Banjar Kuban) ซึ่งเข้าถึงได้จากทางเรือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พิธีศพเช่นนี้มีไว้สำหรับร่างของคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น หากเป็นโสด ศพจะถูกฝังในหลุม[1]

พิธีศพเช่นนี้มีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยยุคหินใหม่ ในศาสนาบายู (Agama Bayu) ในบาหลียุคก่อนอิทธิพลฮินดู ลัทธิที่ว่านี้บูชาดวงดาวและสายลม (angin ngelinus)[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "Trunyan, traditional Bali village". Wonderful Bali. Wonderfulbali. 2016. สืบค้นเมื่อ November 21, 2016.
  2. 2.0 2.1 Emiko Susilo 1997, p. 6.
  3. Cooke 2005.

บรรณานุกรม แก้