สมเด็จพระเจ้าลูกเธอตรัสน้อย[1] (ช่วงปี พ.ศ. 2231 — ?) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา ประสูติแต่กรมหลวงโยธาเทพพระมเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี[2]

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอตรัสน้อย
เจ้าฟ้า
ประสูติช่วงปี พ.ศ. 2231
กรุงศรีอยุธยา
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2244/2283
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเพทราชา
พระมารดากรมหลวงโยธาเทพ
ศาสนาพุทธ

ประวัติ แก้

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว สมเด็จพระเพทราชาขึ้นสืบราชสมบัติ แล้วตั้งกรมหลวงโยธาเทพพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นเป็นพระมเหสี เมื่อเสด็จฯ ไปตำหนักกรมหลวงโยธาเทพเพื่อจะเข้าที่บรรทม กรมหลวงโยธาเทพไม่ยอมรับ ตรัสตัดพ้อต่าง ๆ แล้วทรงพระแสงดาบติดพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้หาหมอมาทำเสน่ห์ จนกรมหลวงโยธาเทพเกิดหลงไหลถึงกับทรงพระกันแสงหาพระองค์ ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปหาอีก กรมหลวงโยธาเทพจึงทรงยอม ผ่านไป 7-8 เดือนจึงพบกรมหลวงโยธาเทพก็ทรงพระครรภ์ได้ 3 เดือนแล้ว[3] ถึงเดือน 10 ปีมะเส็ง นพศก ตอนใกล้รุ่ง จึงประสูติเป็นพระราชโอรส พระราชทานพระนามว่าตรัสน้อย ในคืนวันนั้นเกิดแผ่นดินไหว[4] เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีโสกันต์ ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท[5]

ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่ากรมโยธาเทพประสูติพระราชโอรสเมื่อ จ.ศ. 1050 ปีมะโรง (พ.ศ. 2231) พระญาติถวายพระนามว่าตรัสน้อย แต่สมเด็จพระเพทราชาตรัสเรียกว่าสำมยัง[6] ใน จ.ศ. 1062 ปีมะโรง (พ.ศ. 2243) ตรงกับรัชกาลพระเจ้าเสือ กรมหลวงโยธาเทพพาตรัสน้อยออกจากพระราชวัง ไปตั้งพระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรย์ และทำพิธีโสกันต์ตรัสน้อยแล้วให้ผนวชเป็นสามเณรในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ ทรงเล่าเรียนทั้งพระปริยัติธรรมและไสยศาสตร์ต่าง ๆ จนพระชันษาได้ 18 ปีจึงลาผนวชมาศึกษาวิชาการรบ ได้ศึกษาภาษาต่าง ๆ ทั้งภาษาแขก ฝรั่ง เขมร ยวน พม่า มอญ และจีน การปกครอง โหราศาสตร์ และการแพทย์ จากพระอาจารย์หลายท่าน เมื่อพระชันษาครบอุปสมบทจึงได้ผนวชเป็นพระภิกษุ[7]

ชีวิตในปลายพระชนม์ แก้

ไม่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าตรัสน้อยดำรงพระชนมชีพต่อไปอย่างไร จดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส ระบุว่า เจ้าฟ้าตรัสน้อยซึ่งเป็นพระมรณภาพในราวปี พ.ศ. 2283 ซึ่งตรงกับช่วงกลางสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก่อนจะเสียกรุงให้พม่า 27 ปี โดยประมาณ[8]

ขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2244 เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงพระดำริเห็นว่าผู้คนทั้งปวงนิยมยินดีรักใคร่ตรัสน้อยมาก นานไปเบื้องหน้าเจ้าฟ้าตรัสน้อยก็จะได้เป็นใหญ่ จึงทรงพระดำริเป็นความลับให้ชาวที่ออกไปเชิญเสด็จตรัสน้อย โดยอ้างว่ามีพระราชโองการให้เชิญเสด็จเข้าไปบัดนี้ เจ้าฟ้าตรัสน้อยคิดว่าพระราชโองการให้หาจริง จึงเสด็จขึ้นขี่คอชาวที่เข้ามา ชาวที่ก็พาเสด็จเข้ามาถึงพระคลังวิเศษ แล้วก็ประหารเสียด้วยท่อนจันทน์ แล้วจึงเชิญพระศพไปวัดโคกพระยา[9]

พงศาวลี แก้

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถ
  1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 341
  2. ภาสกร วงศ์ตาวัน. ไพร่ขุนนางเจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2553. หน้า 161
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 333
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 334
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 341-342
  6. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 268
  7. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 281
  8. วีระ ธีรภัทร, เรื่องเก่าเอามาเล่าอีก (6) เก็บถาวร 2010-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 343-344
บรรณานุกรม
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9