ตระกูลเจียรวนนท์

ตระกูลเจียรวนนท์ เป็นตระกูลนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ประเทศจีน มีธุรกิจคือบริษัทข้ามชาติเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ โดยนิตยสาร ฟอบส์เอเชีย ให้พี่น้องเจียรวนนท์ (สุภกิต เจียรวนนท์ และศุภชัย เจียรวนนท์) เป็นมหาเศรษฐีไทยที่รวยที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2564 มีมูลค่าทรัพย์สิน 3.02 หมื่นล้านดอลลาร์[1]

เจียรวนนท์
แซ่เจี๋ย
ตระกูลบรรพบุรุษสกุลเซีย
ประเทศประเทศไทย
ถิ่นพำนักปัจจุบันกรุงเทพมหานคร
นิรุกติศาสตร์เจีย–ระ–วะ–นน
ภาษาบาลี जीरा (จิร)+पद (วร)+अनोन् (อานนฺท)
"ความยินดีอันประเสริฐที่ช้านาน"
ถิ่นกำเนิดซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
ก่อตั้งพ.ศ. 2462
ต้นตระกูลเอ็กชอ แซ่เจีย
ทรัพย์สินเครือเจริญโภคภัณฑ์
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
ซีพี ออลล์
แม็คโคร
โลตัส
ทรู คอร์ปอเรชั่น
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ประวัติ แก้

 
ธนินท์ เจียรวนนท์
 
ศุภชัย เจียรวนนท์

ตระกูลเจียรวนนท์รุ่นที่ 1 คือ นายเอ็กชอ แซ่เจี๋ย อยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ เมืองแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ทางใต้ของเมืองแต้จิ๋วอยู่ติดกับท่าเรือเมืองซัวเถา โดยเมืองแต้จิ๋วกับเมืองซัวเถา เรียกรวมกันว่า แต้ซัว[2] ปัจจุบันอำเภอเถ่งไฮ่อยู่ในการปกครองของเมืองซัวเถา ครอบครัวของนายเอ็กชอเป็นเจ้าของที่ดิน เอ็กชอเดินทางมาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2462 โดยอาศัยอยู่กับญาติ ได้ลงหลักปักฐานที่เยาวราช โดยนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก จนในปี พ.ศ. 2464 ได้เปิดร้านชื่อ ร้านเจียไต๋จึง ขึ้นบนถนนเยาวราช[3]

รุ่นที่ 2 โดยการนำของพี่ชายคนโต จรัญ เจียรวนนท์ และมนตรี เจียรวนนท์ พี่ชายคนรอง หลังจากได้เรียนจบจากเสฉวนก็ได้กลับมาช่วยกิจการของที่บ้าน ใน พ.ศ. 2496 จรัญได้เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ และตั้งชื่อบริษัทว่า เจริญโภคภัณฑ์ ส่วนนามสกุล "เจียรวนนท์" ผู้ใช้คนแรกคือ สุเมธ เจียรวนนท์ พี่ชายคนที่ 3[4] ส่วนน้องชายคนเล็ก ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้เข้ามาทำงานในบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เมื่ออายุ 25 ปี เมื่อ พ.ศ. 2507 ธนินท์รับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ดูแลธุรกิจอาหารสัตว์ แทนมนตรีที่หันไปทุ่มเททางด้านโรงงาน และงานค้าขายสินค้าเกษตร ขณะที่จรัญดูภาพรวมธุรกิจในฐานะประธานบริษัท

ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการสร้างของสุเมธและธนินท์ เริ่มตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร จักรยานยนต์และธุรกิจการเงิน ความสำเร็จของธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในตลาดจีน ทำให้ซีพีเป็นบริษัทข้ามชาติ และขายการลงทุนไปต่างประเทศ เป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน เป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่นั้นมาใช้ชื่อ เจียไต๋ กรุ๊ป

การลงทุนของญาติของตระกูลเจียรวนนท์ คือ เซี่ย ปิ่ง ซึ่งเป็นบุตรของเซี่ย เจิ้ง หมิง (พี่น้องของบิดานายธนินท์) ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Sino Biopharmaceutical และ CP Pharmaceutical Group บุตรอีกคนของเซี่ย ปิ่ง ชื่อ เอริค เซี่ย เป็นผู้บริหารของ CP Pharmaceutical Group และ Sino Biopharmaceutical[5]

ธนินท์ เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์มานานกว่า 50 ปี จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ธนินท์ แต่งตั้งสุภกิต บุตรชายคนโต และศุภชัย บุตรชายคนเล็ก ให้ดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอของเครือซีพีตามลำดับ ขณะที่ ณรงค์ บุตรชายคนกลาง เป็นรองประธานเครือซีพีพร้อมกับการดูแลธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตของเครือในประเทศจีน[6]

ธุรกิจของตระกูล แก้

อ้างอิง แก้

  1. ""ตระกูลเจียรวนนท์" รวยสุดในไทยปี 64 มีทรัพย์สินเพิ่มเฉียด "แสนล้านบาท"". positioningmag.
  2. "ค้นรากเหตุปัจจัย "จีนแต้จิ๋ว" อพยพมาไทยมหาศาล สู่กำเนิด "เจียรวนนท์" ที่ยิ่งใหญ่ภายหลัง". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. ธนินท์ เจียรวนนท์. "จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)". กรุงเทพธุรกิจ.
  4. "คอลัมน์ "เส้นเรื่องธุรกิจ" : 4 จตุรเทพแห่งความร่ำรวย พี่น้องตระกูล 'เจียรวนนท์'".
  5. "ผ่าอาณาจักรเครือซีพี "ตระกูลเจียรวนนท์" กับธุรกิจในแดนมังกร". ฐานเศรษฐกิจ.
  6. "พี่น้องเจียรวนนท์". ฟอบส์ประเทศไทย.