ตระกูลนานา

ตระกูล

ตระกูลนานา เป็นตระกูลนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายอินเดียสายมุสลิม ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยนับแต่ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และอยู่ใน 1 ใน 10 ของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเครือซีเมนต์ไทย[1]

นานา
ตระกูลบรรพบุรุษสกุลเทปาเดีย
ประเทศประเทศไทย
ถิ่นพำนักปัจจุบันกรุงเทพมหานคร
นิรุกติศาสตร์นา-นา
ภาษาคุชราต: નાના (นานา)
"เล็ก"
ถิ่นกำเนิดเมืองแรนเดอร์ รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย
ก่อตั้งสมัยรัชกาลที่ 5
ต้นตระกูลอาลีบาย อะหะหมัด เทปาเดีย
ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน
(พ.ศ. 2528–2529)
ทรัพย์สินแรนเดอรีเบอรามาการ
ซอยสุขุมวิท 3 (ซอยนานาเหนือ) ซึ่งเป็นที่ดินของตระกูลนานา

ประวัติ

แก้

ต้นตระกูลนานาคนแรกที่เข้ามาในประเทศไทย คือ อาลีบาย อะหะหมัด เทปาเดีย (Allybhai Thapadia) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่เมืองแรนเดอร์ รัฐคุชราต ผู้ทำหน้าที่จัดหาสิ่งของต้องพระราชประสงค์จากต่างชาติทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า พระพิเทศาตระพานิช[2] ซึ่งเอกสารบางฉบับเรียกชื่อต่างกันออกไป เช่น พระพิเทศานครพานิช พระพิเทศสันตรพานิช

อาลีบาย มีสกุลเดิมว่า เทปาเดีย ภายหลังใช้ชื่อสกุลว่า "นานา" โดยมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้พาลูกหรือหลานไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ตรัสถามว่าคำเรียกเด็กเล็กในภาษาของอาลีบายเรียกว่าอย่างไร อาลีบานได้กราบบังคมทูลว่าใช้คำว่า "นานา" อันเป็นภาษาท้องถิ่นของคุชราต หมายถึง "เล็ก" พระองค์จึงตรัสว่าจากนี้ไปจะเรียกว่า อาลีบาย นานา ซึ่งอาลีบายได้ถือเป็นเสมือนนามสกุลพระราชทานที่ใช้เรียกชื่อตระกูลสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน อาลีบายมีชื่อปรากฏอยู่ในนจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายตอนว่า เป็นเป็นผู้จัดหาสิ่งของต้องพระราชประสงค์ไปถวายในโอกาสต่าง ๆ และในวโรกาสฉลองพระนคร 100 ปี เมื่อ พ.ศ. 2425

เชื่อว่าอาลีบาย นานา ได้กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายและเสียชีวิตที่บ้านเกิดเมืองแรนเดอร์ โดยมีบุตรชายเกิดที่จากชาวอินเดียเป็นผู้สืบทอดธุรกิจโดยยังคงอยู่อาศัยและทำธุรกิจทำการค้าอยู่ในย่านตึกแดงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดังปรากฏรายชื่อในบัญชีสารบาญสำหรับเจ้าพนักงานไปรษณีย์ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2426 ระบุชื่ออิบราฮิม อาลีบาย นานา บุตรชายคนโตของ อาลีบาย นานา อาศัยในบริเวณถนนตึกใหม่ริมวัดอนงคารามวรวิหาร และยังปรากฏเอกสารเมื่อ พ.ศ. 2439 กล่าวถึงการซื้อที่ดินของอิสมาอีล อาลีบาย นานา บุตรชายคนที่สองของอาลีบาย

 
เล็ก นานา

รุ่นที่ 3 ของตระกูลนานายังคงขยายธุรกิจที่ดิน มีอาหมัด อิบราฮีม นานา (Ahmed Ebrahim Nana) หรือ เอ อี นานาผู้พัฒนาที่ดินในย่านสุขุมวิท อาหมัดได้เปิดร้านขายผ้าทอดิ้นเงินดิ้นทองซึ่งอินเดีย เรียกว่า เจอรี (Zeri) และเริ่มต้นธุรกิจที่ดินโดยจัดตั้งบริษัทแรนเดอรีเบอรามาการ (Randery Burah Makan Company) เมื่อ พ.ศ. 2456 ต่อมา พ.ศ. 2458 ได้จัดตั้งบริษัท เอ อี นานาแอนกาปนี เพื่อทำธุรกิจซื้อขายสิ่งของต่าง ๆ ส่งสินค้าไปต่างประเทศและสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2459 จัดตั้งบริษัท เอ. แอน. เอ. นานาแอนด์โก เพื่อรับซื้อและขายน้ำอ้อย สำหรับต้มเหล้า และให้ลูกชายนำเข้าน้ำตาลจากกอินโดนีเซีย

นายเอ อี ได้ทำธุรกิจจัดสรรที่ดินย่านบางกะปิซึ่งปัจจุบันคือ ถนนสุขุมวิทตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ. 2473 ใกล้ซอยสุขุมวิท 1 ถึงบริเวณแยกวัฒนา ได้ซื้อที่ดินมาจัดสรรและตัดถนนตังแต่ซอยนานาเหนือ นานาใต้ รวมไปถึงซอยรื่นฤดี (ซอย 1) แล้วขยับขยายปถึงซอยอโศกและซอยสันติสุข บางซอยที่จัดสรรในระยะแรกได้ตั้งชื่อตามชื่อลูก ๆ ของนาย เอ อี นานา เช่น ซอยอีสรอฮีม ซอยมะห์มูด เป็นต้น ภายหลังในสมัยจอมพล ป.พิสูลสงครามมีข้อกังวลว่าถนนสุขุมวิทจะเป็นเมืองแขก จึงเปลี่ยนชื่อซอยเหล่านั้นเป็นชื่อไทย เช่น ซอยไชยยศ ซอยปรีดา และซอยใจสมาน เป็นต้น การจัดสรรที่ดินอื่น มีซอยรื่นฤดี ซอยอารีย์ ซอยนานา ซอยสันติสุข สุขุมวิทซอย 4 ซอยประภัสสร ซอยประสานมิตร ซอยแดงอุดม (สุขุมวิท 3) และบริเวณซอยประสานมิตร หรือ สุขุมวิท 23[3]

ปัจจุบันทายาทยังคงดำเนินธุรกิจในนามบริษัทแรนเดอรีเบอรามาการ (Randery Burah Makan Company) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงต่าง ๆ ที่เป็นมรดก

รุ่นที่ 4 แม้ไม่มีอะไรโดดเด่นนัก แต่มีเล็ก นานา ที่หันมาเล่นการเมือง[4] รุ่นที่ 5 บุตรชายของเล็ก นานา คือ ยุพ นานา เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแรนเดอรีเบอรามาการ

อ้างอิง

แก้
  1. "เปิดอาณาจักร " นานา " ราชาที่ดิน นักธุรกิจมุสลิมเชื้อสายอินเดีย จากผู้บุกเบิกในยุครัชกาลที่ 4 สู่ ทายาทรุ่นที่ 5 แห่งตระกูล เทปาเดีย หรือ ตระกูล นานา ในปัจจุบัน". สำนักข่าวอะลามี่.
  2. "ตามผ้าภารตะ". เดอะคลาวด์.
  3. "ชุมชนอินเดียย่านตึกแดงตึกขาว : ประวัติศาสตร์การค้าผ่านภาพถ่ายเก่า โดย ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการอิสระ". ไทยทริบูน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-19. สืบค้นเมื่อ 2021-12-19.
  4. "พนิดา นานา...ในดวงใจ ใต้ฮิญาบ". ผู้จัดการออนไลน์.