ถนนข้าวสาร

ถนนในเขตพระนคร
(เปลี่ยนทางจาก ตรอกข้าวสาร)

ถนนข้าวสาร (อักษรโรมัน: Thanon Khao San) เป็นถนนในท้องที่แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีระยะทางเริ่มตั้งแต่ถนนจักรพงษ์หน้าวัดชนะสงคราม ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงถนนตะนาวใกล้สี่แยกคอกวัว

ถนนข้าวสาร
แผนที่
2016 Bangkok, Dystrykt Phra Nakhon, Ulica Khaosan (08).jpg
ถนนข้าวสาร
ข้อมูลของเส้นทาง
ประวัติ
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2435–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือถนนจักรพงษ์ ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ถนนตะนาว ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

แก้

ถนนข้าวสารเป็นถนนที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมโยธาธิการได้กราบบังคมทูลให้ตัดถนนตรอกข้าวสาร เริ่มตั้งแต่ถนนหน้าวัดชนะสงคราม (ซึ่งได้นามว่าถนนชนะสงคราม) ตัดมาทางตะวันออกตามตรอกข้าวสารแล้วสร้างสะพานข้ามคลองมาบรรจบกับถนนเฟื่องนครตอนหน้าสวนหลวงตึกดิน พระราชทานนามถนนตามเดิมว่า "ถนนข้าวสาร"

ถนนข้าวสารเดิมเป็นย่านเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตรอกที่ขายข้าวสาร เป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ซึ่งข้าวสารจำนวนมากจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือ ปัจจุบันก็คือ คลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้[1] นอกจากนี้ก็ยังขายถ่านหุงข้าว ของชำ โดยถัดออกไป 1 ถนน จะเป็นคลองที่เชื่อมต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีการค้าขายข้าวสารมากมายจึงเรียกว่าตรอกข้าวสาร (เพราะขนาดเล็ก) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นถนนข้าวสาร หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดชุมชนขึ้น และขยับขยายต่อไป ต่อมาเริ่มมีร้านขายของมากขึ้น เช่นร้านขายของเล่น อย่างลูกข่าง ร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือ[2]

ต่อมาความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครครบรอบ 200 ปี ได้เข้ามาเช่าห้องพักอาศัยเพื่อเที่ยวชมเมืองหลวงของไทยในช่วงเทศกาลสำคัญนี้ และเริ่มมีฝรั่งเข้ามามาถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด โดยมีทีมงานกองถ่ายมาอยู่กันจำนวนมาก ที่มาเช่าที่ เช่าเกสเฮาส์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี ก็ต้องเช่าจากบ้านที่อยู่แถวนั้นซึ่งใช้แบ่งเช่า จึงเป็นที่มาของเกสเฮาส์ เกสต์เฮ้าส์ของชาวต่างชาติเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2529 ระยะหลังเริ่มมีคนเข้ามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นศูนย์รวมของพวกแบ็คแพ็กเกอร์ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทย จนเป็นที่โด่งดังในที่สุด ก่อนที่จะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบอีกทีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นย่านบันเทิงยามราตรีที่สำคัญของกรุงเทพฯ

 
สงกรานต์บนถนนข้าวสาร

ถนนข้าวสารถือเป็นถนนที่ได้รับความนิยมในการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก การเล่นสงกรานต์บนถนนข้าวสารเริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2533 เนื่องจากที่ถนนข้าวสารนี้เป็นแหล่งที่พักอาศัยชั่วคราว หรือที่เรียกว่าเกสต์เฮ้าส์ ดังนั้นประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ของคนไทยจึงถูกใจนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาพักในถนนข้าวสารเป็นอย่างมาก โดยการเล่นสงกรานต์ถนนข้าวสารในช่วงแรก ๆ ก็เป็นแต่เพียงเล่นสาดน้ำกันธรรมดาเท่านั้น

แต่เทศกาลสงกรานต์นี้มาโด่งดังในช่วง พ.ศ. 2542-2543 โดยนอกจากการเล่นสาดน้ำเป็นปกติแล้ว ก็ยังมีทั้งการจัดกิจกรรม มีเวทีการแสดง มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน จากแต่ก่อนที่คนเล่นต้องเตรียมน้ำเตรียมแป้งมาเล่นกันเอง และมีน้ำเตรียมไว้ให้เล่นตามจุดต่าง ๆ ด้วย[3]

ช่วงปี พ.ศ. 2563 มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ต้องยกเลิกไปและปี 2566 ถนนข้าวสารกลับมาจัดงานสงกรานต์ในรอบ 3 ปี

การค้า

แก้

อเล็กซ์ การ์แลนด์ (Alex Garland) เจ้าของบทประพันธ์ เรื่อง The Beach เคยให้คำนิยามถนนสายนี้ ในรายการวิทยุ BBC-Radio 1 ไว้อย่างน่าสนใจว่า "จะมีที่ไหนหนอที่มี คนสารพัดชาติมารวมตัวกันที่นี่ ที่ถนนข้าวสาร ถนนที่เพียบไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อ เพราะที่นี่คุณจะหาเทปผีจากวงดังวงไหนก็ได้ในโลก มีที่พักราคาถูก "[4]

สำหรับเกสเฮ้าส์และโฮสเท็ลที่มีชื่อเสียงมาช้านานและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวประเภทแบกเป้ต่างประเทศเป็นอย่างดีจะมีอยู่ไม่กี่แห่ง ได้แก่ TOP GUEST HOUSE ที่ตั้งอยู่ข้างตรอกสวัสดี และ BONNY GUEST HOUSE ซึ่งเป็นเกสเฮ้าส์แห่งแรกของถนนข้าวสารที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกทีเดียว[1] ราคาค่าเช่าห้องค้างคืนตามเกสเฮ้าส์ต่าง ๆ จะถูกมาก ถูกกว่าไปพักตามโรงแรมหรู ๆ คือราคาค่าห้องเริ่มตั้งแต่ 100 บาทไปจนถึง 500-600 บาทต่อวัน แต่ก็จะอยู่กันเป็นเดือน ๆ แต่คิดค่าเช่าเป็นรายวัน ราคาที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละสถานที่ที่เปิดให้บริการ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีโรงแรมขนาดกลางมาเปิดเพิ่มมากขึ้น

ถนนข้าวสารเป็นย่านการค้าทั้งกลางวันและกลางคืนที่มีสินค้ามากมายเช่น ร้านขายอาหารพร้อมกิน ตั้งแต่อาหารฝรั่งเศส อาหารอินเดีย อาหารอิตาลี และอาหารไทยยอดนิยมอย่างผัดไทย และปอเปี๊ยะ

กิจการบริการที่พักจะหนีไม่พ้น ร้านอาหาร โทรศัพท์ทางไกล ไปจนถึงการให้บริการรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ แม้ว่าบรรดาเกสต์เฮ้าส์ทั้งหลาย จะมีบริการครบวงจรให้ลูกค้า แต่ก็ยังมีร้านอินเทอร์เน็ตราคาถูก 50 สตางค์ต่อนาที หรือแม้แต่บาร์เบียร์ โดยมีร้านเช่า-ขายหนังสือมือสอง ร้านเสื้อผ้า รับบริการถักผม และร้านขายของพื้นเมือง

ร้านเสื้อผ้าที่ข้าวสารนี้ก็มีให้เลือกหา ตั้งแต่ร้านผ้าไหมชั้นดีไปจนถึงเสื้อยืดคอกลมตราห่านราคาประหยัด เสื้อผ้ายอดนิยมที่เห็นวางขายกันมากที่สุด ก็เป็นเสื้อผ้าเนื้อบางประเภท กางเกงเล ผ้าบาติก เสื้อผ้าฝ้าย มีกางเกงนักมวยและผ้าถุงแบบสำเร็จรูปให้เลือกสารพัดสี

ในช่วงเวลาปกติ มีรายการการคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่อวันบริเวณรอบ ๆ ถนนข้าวสารไว้ราว 15,000 ถึง 20,000 คนต่อวัน และอาจสูงถึง 50,000 คนในช่วงเวลาเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น

ถนนข้าวสาร เป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากวงการภาพยนตร์และเพลงทั้งจากชาวต่างประเทศและคนไทยเอง ซึ่งมักจะมาถ่ายทำกันที่ถนนข้าวสารนี้ ภายหลังจึงได้มีการเปิดเกสท์เฮาส์และโรงแรมราคาประหยัด ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก สถานบันเทิง ตลอดแนวถนนข้าวสาร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น[5]

ต่างประเทศ

แก้

ไทย

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ถนนข้าวสาร...แหล่งรื่นเริง สงกรานต์ ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ... เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารหญิงไทย
  2. ย้อนอดีตถนนข้าวสาร sanook.com
  3. เย็นฉ่ำกับงานสงกรานต์บน"ถนนข้าวสาร" เก็บถาวร 2005-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 เมษายน 2548 19:12 น.
  4. 4.0 4.1 ข้าวสาร sanook.com
  5. lovethailand.org
  6. ภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลี เรื่องเจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา kapook.com
  7. "3 ดาราดังฮ่องกง ประชันบท ในภาพยนตร์ เรื่อง Secret Action ถ่ายทำ ที่กรุงเทพและสระบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-07-25.
  8. ผู้สร้างภาพยนตร์จากอินเดียยกคณะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กระทรวงต่างประเทศ
  9. "tory of Paran". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-07-26.
  10. "ตะลึง! ก้านคอคลับ 2 ถ่าย MV น้ำกระจาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-13. สืบค้นเมื่อ 2007-07-26.
  11. SAME SAME [ลิงก์เสีย]
  12. แอ็คชั่นแอ็ดเวนเจอร์รูปแบบใหม่สำหรับหนังไทย เก็บถาวร 2007-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน movieseer.com

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′32″N 100°29′50″E / 13.75889°N 100.49722°E / 13.75889; 100.49722