ดูวาร์ตึ ฟือร์นังดึช
ดูวาร์ตึ ฟือร์นังดึช (โปรตุเกส: Duarte Fernandes; คริสต์ศตวรรษที่ 16) เป็นนักการทูตและนักสำรวจชาวโปรตุเกส และเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสยามเมื่อ ค.ศ. 1511 เขาเดินทางเข้ามาเพื่อปฏิบัติภารกิจทางการทูตที่อาณาจักรอยุธยา (ราชอาณาจักรสยาม) หลังจากที่โปรตุเกสเข้าพิชิตมะละกา
ประวัติ
แก้ดูวาร์ตึ ฟือร์นังดึช เป็นกะลาสีชาวโปรตุเกส เกิดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ฟือร์นังดึชเป็นคริสเตียนใหม่ซึ่งเป็นคำเรียกบุคคลที่สืบเชื้อสายมัวร์หรือยิวในสมัยนั้น[1] ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1500 ฟือร์นังดึชเดินทางไปมะละกาในฐานะส่วนหนึ่งของการเดินเรือครั้งแรกของดีโยกู ลอปึช ดึ ซึไกรา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1509[2][3] เมื่อเหล่ากะลาสีเริ่มกังวลว่าการเดินทางครั้งนี้จะทำให้กลับโปรตุเกสช้าลง กะลาสีหลายคนจึงพยายามบังคับดึ ซึไกรา ให้นำเรือกลับบ้าน หลังแผนการทำลายการสำรวจล้มเหลว ฟือร์นังดึชเป็นหนึ่งในชาวโปรตุเกสสิบเก้าคนที่ถูกจับที่มะละกา ด้วยอุปนิสัยที่เป็นมิตรทำให้เขารอดพ้นจากชะตากรรมของผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่น ๆ เขาร่วมกับรุย ดึ อาราอูฌู รวบรวมความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของภูมิภาค และกลายเป็นทูตของอาฟงซู ดึ อัลบูแกร์กึ ในช่วงนั้นเขาได้เรียนรู้ภาษามลายูอยู่บ้าง
ใน ค.ศ. 1511 ชาวโปรตุเกสพิชิตมะละกา เมื่อรู้ว่าราชอาณาจักรสยามก็อ้างสิทธิ์ดินแดนในมะละกา อัลบูแกร์กึจึงส่งฟือร์นังดึชพร้อมคณะผู้แทนทางทูตไปยังราชสำนักของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่ออธิบายว่าเหตุใดโปรตุเกสถึงยึดมะละกา เพื่อแสดงอำนาจของจักรวรรดิโปรตุเกส และเพื่อเริ่มความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างโปรตุเกสกับอยุธยา[4][1] เขาถูกส่งไปพร้อมกับกัปตันชาวจีนสองคนและกลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางมาถึงสยาม โดยเขาประสบความสำเร็จในการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกสกับราชอาณาจักรสยาม แล้วกลับมาพร้อมทูตสยามซึ่งนำของขวัญและจดหมายมาให้แก่อัลบูแกร์กึและถวายแด่พระมหากษัตริย์โปรตุเกส[5] ห้าปีหลังจากการติดต่อครั้งแรกนั้น อยุธยาและโปรตุเกสบรรลุข้อตกลงทำสนธิสัญญาที่อนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในอาณาจักรได้
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 HALIKOWSKI-SMITH, STEFAN. "'The Friendship of Kings Was in the Ambassadors': Portuguese Diplomatic Embassies in Asia and Africa during the Sixteenth and Seventeenth Centuries." Portuguese Studies 22, no. 1 (2006): 101-34. Accessed December 20, 2020. http://www.jstor.org/stable/41105256.
- ↑ Manuel Teixeira, The Portuguese missions in Malacca and Singapore (1511-1958), Agência Geral do Ultramar, 1963 pp. 38, 54
- ↑ Asian review, Volume 13 by Čhulālongkō̜nmahāwitthayālai. Sathāban ʻĒchīasưksā, p.39
- ↑ Chakrabongse, C., 1960, Lords of Life, London: Alvin Redman Limited
- ↑ Donald Frederick Lach, Edwin J. Van Kley, "Asia in the making of Europe", pp. 520-521, University of Chicago Press, 1994, ISBN 978-0-226-46731-3
บรรณานุกรม
แก้- Donald Frederick Lach, Edwin J. Van Kley, "Asia in the making of Europe", p. 520-521, University of Chicago Press, 1994, ISBN 978-0-226-46731-3