โคลนถล่ม

(เปลี่ยนทางจาก ดินถล่ม)

โคลนถล่ม เป็นภัยธรรมชาติ คือ คำเรียกรวมๆของการเคลื่อนที่ของมวลสาร (Mass movement หรือ mass-wasting) ซึ่งคือ กระบวนการเคลื่อนตัวของมวลหิน ดินและทรายลงมาตามความลาดชันภายใต้แรงดึงดูดของโลกเป็นหลัก โดยอาจอาศัยตัวกลางระหว่างการพัดพา ยกตัวอย่างเช่น น้ำ, ลมและธารน้ำแข็ง ซึ่งตัวกลางเหล่านี้เป็นตัวช่วยเสริมการย้ายมวล ดังนั้นหากตะกอนอิ่มตัวด้วยน้ำ แรงเสียดทานระหว่างเม็ดตะกอนจะลดลง การย้ายมวลจึงเกิดได้ดีขึ้น

โคลนถล่มพัดสะพานและถนนขาด ใน อ.ท่าปลา อุตรดิตถ์

หลายคนเข้าใจว่า การย้ายมวลเกิดเฉพาะบนแผ่นดิน (Continents) เท่านั้น แต่จากการศึกษาทางธรณีฟิสิกส์และการลำดับชั้นหินตะกอนพบว่า บริเวณไหล่ทวีป ของมหาสมุทรหลายแห่ง มีการเคลื่อนตัวของตะกอนเช่นเดียวกับบนแผ่นดิน และจัดเป็นการเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วลงมาตามความลาดชัน เรียกว่า กระแสน้ำขุ่นข้น (turbidity current)

กระบวนการเกิดดินหรือโคลนถล่ม แก้

ส่วนใหญ่การย้ายมวลที่กล่าวถึงกันบ่อยๆ คือ แผ่นดินเลื่อน (Landslide) หรือดินถล่ม โดยรวมเอาวิธีการย้ายมวลทุกรูปแบบไว้ด้วยกัน ซึ่งความจริงยังไม่ถูกต้องมากนัก รูปแบบการย้ายมวลมีหลายกระบวนการด้วยกัน โดยถือปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกำหนด

  1. ความเร็วของการย้ายมวล
  2. ปริมาณน้ำที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
  3. ชนิดของสารที่เกิดการย้ายมวล
  4. ความลาดชันของพื้นที่

หากจำแนกตาม Sharpe (1938) จะพิจารณาความเร็วของการย้ายมวล ปริมาณน้ำและความลาดชันของพื้นที่เป็นสำคัญ โดยเรียงลำดับจาก ปริมาณน้ำน้อยและมีการเคลื่อนตัวของมวลสารมาก ในพื้นที่ความลาดชันสูง – ปริมาณน้ำมากและมีการเคลื่อนตัวของมวลสารน้อย ในพื้นที่ความลาดชันต่ำ ดังนี้[1]

  1. แผ่นดินถล่ม
  2. กองหินจากการถล่ม ซึ่งเป็นการถล่มอย่างรวดเร็วจากเทือกเขาสูงชัน โดยอัตราความเร็วอาจมากกว่า 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถทำลายสิ่งต่างๆที่ขวางกั้น
  3. ดินเลื่อน เป็นการเคลื่อนตัวของหินหรือหินผุตามไหล่เขาหรือลาดเขาจากแรงดึงดูดของโลก การเลื่อนตัวเป็นไปอย่างช้า ๆจนสามารถกำหนดขอบเขตของการเลื่อนตัวด้านข้าง ถ้าปริมาณน้ำมากขึ้นและการเคลื่อนตัวเร็วขึ้นดินเลื่อนอาจเปลี่ยนเป็นโคลนไหล
  4. น้ำหลากแผ่ซ่าน เป็นลักษณะการหลั่งไหลของน้ำแผ่ซ่านจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ขณะฝนตกหนัก เพราะปริมาณน้ำมีมากจนไหลลงร่องห้วยลำธารต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลแผ่ซ่านของน้ำออกเป็นผืนบาง ๆ บนผิวดิน
  5. การกร่อนแบบพื้นผิว เป็นการกร่อนผุพังของพื้นผิวที่มักเกิดในฤดูฝน เพราะน้ำฝนไหลหลากลงสู่ร่องลำธารต่างๆไม่ทันจึงไหลแผ่ซ่านไปตามพื้นดินที่ต่ำกว่า ทำให้เกิดการกัดกร่อนเป็นบริเวณกว้างกว่าน้ำหลากแผ่ซ่าน
  6. ธารน้ำ

ข้อสังเกตหรือสิ่งบอกเหตุ แก้

การย้ายมวลบางครั้งเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผลหรือโอกาสการระมัดระวังน้อยมาก โดยส่วนใหญ่ การย้ายมวลมักเกิดจากเหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นตัวกระตุ้น

  • การสั่นไหวอย่างรุนแรง หรือการเกิดแผ่นดินไหว พลังงานที่เกิดจากแผ่นดินไหวสามารถถ่ายทอดมายังพื้นดิน ทำให้เกิดการเสียสมดุลของพื้นที่ลาดเอียง (Slope failure)
  • การเปลี่ยนความลาดชัน หรือ การถอดส่วนค้ำจุน
  • การกัดลึก ของลำธารตามตลิ่งหรือการกัดเซาะของคลื่นตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะคลื่นลมแรงที่มีความเร็วและความแรงสูงมาก กระแทกกับชายฝั่งจนทำให้เกิดการเสียสมดุลของพื้นที่และเกิดแผ่นดินเลื่อนในที่สุด กรณีพื้นที่หมู่เกาะฮาวายซึ่งร่นเข้าไปในแผ่นดิน เนื่องจากคลื่นกระแทกหินภูเขาไฟที่มีรอยแตกถี่ๆบริเวณด้านล่างของผา จนเกิดการเลื่อนลง ทำให้หินที่วางตัวอยู่ด้านบนพังตัวลงมา
  • ฝนตกหนัก ฝนที่ตกหนักและยาวนานอาจทำให้พื้นดินที่เอียงเทอิ่มตัวด้วยน้ำ และเกิดการเสียสมดุล ด้วยเหตุนี้การย้ายมวลจึงเกิดขึ้นบ่อยในบริเวณที่มีฝนตกชุก
  • การระเบิดของภูเขาไฟ เป็นสภาวะหนักที่กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินเลื่อนหรือถล่ม ภูเขาไฟชนิดเป็นชั้น มักประกอบด้วยธารหินละลายและเถ้าถ่านไหลที่ยังไม่แข็งตัวและไม่เสถียรจึงอาจก่อให้เกิดการถล่มลงมาได้

โคลนถล่มในประเทศไทย แก้

โคลนถล่มที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช แก้

 
พื้นที่ภัยพิบัติโคลนถล่ม ต.กะทูน อ.พิปูนประมาณ พ.ศ. 2532 สีขาวบนเขาคือพื้นที่ที่โคลนถล่ม สีขาวบนพื้นราบคือพื้นที่ตั้งถิ่นฐานเดิมของชาวบ้าน โปรดสังเกตทางน้ำออกที่ลูกศรชี้

(เหตุการณ์ดินโคลนถล่มในอำเภอพิปูน พ.ศ. 2531) ก่อนวันเกิดเหตุ 3- 4 วันได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้พื้นดินรวมทั้งเชิงเขาที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกยางพาราบนพื้นที่เดิมที่เปรียบเสมือนฟองน้ำตั้งเอียงที่พอซับน้ำได้พอประมาณเท่านั้น หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำ น้ำที่อุ้มไว้อย่างเอียงๆ เต็มที่แล้วนั้น นอกจากจะทำให้ดินมีน้ำหนักมากขึ้น ยังลดความฝืดของอณูดินเองกับหล่อลื่นรากพืชที่ช่วยกันต้านแรงดึงดูดของโลกไว้ เมื่อมีฝนระลอกใหญ่ตกเพิ่มเติมลงมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ดังกล่าว จึงทำให้พื้นที่ที่หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำส่วนบนบางส่วนพังทลายลงมาในรูปของโคลนถล่มพร้อมกับต้นไม้เดิมและต้นยางพาราไหลทลายทับถมลงมาในลักษณะโดมิโน พื้นที่ลาดชันบางส่วนแม้จะแข็งแรงรับนำหนักตัวเองได้พอควรอยู่ก่อน ย่อมไม่อาจรับน้ำหนักโคลนและท่อนไม้ที่ไหลทะลักที่มีความเร่งเพิ่มยกกำลังสองตามกฎแรงดึงดูดของโลก นอกจากนี้น้ำส่วนบนที่เบากว่ายังยกระดับสูงได้อย่างรวดเร็วภายในเวลานับเป็นเพียงนาทีเท่านั้น บ้านเรือนที่ปกติปลูกสูงพอสมควรก็มักถูกทำลายได้มากมายในพริบตาเช่นกัน

แอ่งตำบลกระทูนมีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร มีทางน้ำและลำธารหลายสายซึ่งรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบที่เรียกว่าพื้นที่รับน้ำ (Watershed) ที่ประมาณจากแผนที่ภูมิประเทศเพียง 200-300 ตารางกิโลเมตรไหลมารวมที่ช่องระบายน้ำออกจากแอ่งเขาพิปูนที่กว้างเพียงประมาณ70 เมตร ทำให้โคลนและซุงมารวมจุดขวางทางอยู่ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเกิดสูงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่เป็นที่ตระหนักกันดีในเชิงอุทกศาสตร์และการป้องกันภัยธรรมชาติ ชาวบ้านและทางราชการที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงจึงให้ความสำคัญน้อย และมักปล่อยให้มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงนั้นต่อไปอีกเมื่อเวลาเนิ่นออกไปด้วยเหตุผลทางสังคม กฎหมายที่มีอยู่ก็เพียงเพื่อบรรเทาและให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น มิได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายในด้านการตั้งถิ่นฐานระยะยาวบนพื้นที่เสี่ยงไว้

ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global warming) แม้จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติระยะยาว แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและการเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์จำนวนมหาศาลของมนุษย์กำลังเพิ่มอัตราความเร็วและความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่รุนแรงและค่อนข้างพยากรณ์ได้ยาก ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงสูงเช่นนี้มากมายหลายแหล่ง รวมทั้งพื้นที่ที่กรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศไว้แล้วจึงไม่ควรละเลยภัยธรรมชาติประเภทโคลนถล่มอีกต่อไป

อ้างอิง แก้

  1. Charles Farquharson Stewart Sharpe (1960). Landslides and related phenomena: a study of mass-movements of soil and rock. Pageant Books. สืบค้นเมื่อ 17 May 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้