ดาหลัง เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทยจัดอยู่ในประเภทบทละครใน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องคือ รามเกียรติ์ อุณรุท ดาหลัง และอิเหนา โดย ดาหลัง และ อิเหนา นั้นมีต้นเค้ามาจากนิทานปันหยีของทางชวาเหมือนกัน แต่ความนิยมในดาหลังนั้นมีน้อยมาก อันจะสังเกตได้ว่าแทบไม่มีผู้ใดคิดจะหยิบมาอ่านหรือนำมาศึกษาอย่างจริงจังอาจเพราะด้วยเนื้อหานั้นค่อนข้างรุนแรงกว่าอิเหนา ภาษานั้นไม่ไพเราะลื่นไหลน่าอ่านเท่ากับอิเหนาฉบับรัชกาลที่ 2 และเนื้อเรื่องที่ได้ตีพิมพ์ออกมานั้นไม่จบตอน ขาดในส่วนของตอนจบไป จึงไม่มีใครทราบว่าเรื่องดาหลังนั้นแท้จริงแล้วจบอย่างไร จากสาเหตุข้างต้นจึงน่าจะเป็นเหตุให้วรรณคดีเรื่องนี้ถูกมองข้ามไปโดยปริยาย

หน้าปกหนังสือดาหลัง พิมพ์พระราชทานในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันวัสสาอัยิกาเจ้า
ดาหลัง
ชื่ออื่นอิเหนาใหญ่
กวีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ประเภทบทละครใน
คำประพันธ์กลอนบทละคร
ความยาว32 เล่มสมุดไทย
ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปีที่แต่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ลิขสิทธิ์กรมศิลปากร
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

ผู้แต่ง

แก้

ดาหลัง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิเหนาใหญ่ เป็นกลอนบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีเค้าเดิมมาจากนิทานชวา เชื่อกันว่าเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หญิงเชลยชาวชวาปัตตานี ซึ่งเป็นข้าหลวงรับใช้เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎพระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เล่าถวายเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้น ทั้งสองพระองค์จึงทรงแต่งเรื่องขึ้นคนละเรื่องคือ อิเหนาใหญ่ และ อิเหนาเล็ก แต่เรื่องทั้งสองสูญหายไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ทั้งอิเหนาใหญ่และอิเหนาเล็ก โดยอาสัยเค้าเรื่องเดิมสมัยอยุธยา[1]

พระราชนิพนธ์เรื่องดาหลังนี้ ผู้รู้ทางวรรณคดีเห็นกันว่าเป็นโวหารสมัยรัชกาลที่ 1 ทั้งๆ ที่ไม่มีบานแผนก เป็นความนำในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลนั้นส่วนมาก แต่ความจริงการที่เรียกหนังสือใดๆ ว่าพระราชนิพนธ์นั้น สำหรับสมัยก่อนๆ ไม่ได้หมายความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งเอง หรือเขียนเองแต่ลำพังพระองค์ เยี่ยงนักเขียนในปัจจุบัน ซึ่งอย่างน้อยก็บอกให้คนอื่นเขียนตามคำบอกสมัยนั้นพระองค์ทรงเป็นประธานในการเรียบเรียง ทรงรวบรวมนักประพันธ์ กวี มาช่วยกันคิดแต่งติชมจนเป็นเรื่องขึ้น[2] ซึ่งส่วนมากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 นั้นจะใช้วิธีประชุมกวีเสียเป็นส่วนมากที่จะนิพนธ์ด้วยองค์เองตลอดเรื่อง ในเวลาที่ไทยเราตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งอิเหนาใหญ่ และ อิเหนาเล็กขึ้นควรจะเชื่อได้ว่าทั้งสองเรื่องนั้นสำนวนเดิมเคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว เพราะการฟื้นฟูวรรณคดีก็ดี งานราชการบ้านเมืองก็ดี เป็นการฟื้นฟูตามแบบกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ท่านไม่น่าจะมีเวลามาคิดแต่งดาหลังขึ้นใหม่แน่[2]

ประวัติ

แก้

เรื่องดาหลัง นั้น เคยพบสำนวนเดียว คือบทละครดาหลัง สังเกตได้ว่าเทคนิคในทางจัดละครยังอ่อนมาก ดูคล้าย รามเกียรติ์ สำนวนรัชกาลที่หนึ่ง ซึ่งมุ่งแต่จะบันทึกเรื่องไว้ให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนปลาย เรื่องดาหลังนี้พิมพ์ขึ้นครั้งแรกแต่ ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) ที่โรงพิมพ์นายเทพ เป็นสองเล่มกินความยาว 32 เล่มสมุดไทย สังเกตว่าเรื่องยังไม่จบ สมุดไทยดำซึ่งเป็นต้นฉบับของนายเทพก็ไม่ปรากฏว่าอยู่แห่งใดในเวลานี้[3] ในหอสมุดแห่งชาติพบดาหลังสมุดไทยดำ 39 เล่ม แต่ความน้อยกว่าฉบับพิมพ์ของนายเทพซึ่งพิมพ์จากสมุดไทย 32 เล่ม[3] ทางการของกรมศิลปากรบันทึกไว้ในหนังสือที่เขียนสมุดไทยนี้ว่า เป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 เขียนเมื่อรัชกาลที่ 3 มีความเพียงท้าวกาหลังทรงทราบว่ามิสาประหมังกุหนิงหายไป ไต่ถามดูไม่ได้ความว่ามีเรื่องต่อไปอีกในหอสมุด [4]

เนื้อหา

แก้

เรื่องดาหลังเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ชวา พระราชนิพนธ์นี้เป็นกลอนบทละครมีหน้าพาทย์กำหนดดนตรีประจำบทไว้เสร็จ เนื้อเรื่องดังกล่าวถึงกาลก่อนในชวาประเทศ มีราชธานีอยู่สี่นคร คือกุเรปัน ดาหา กาหลัง สิงหัดส่าหรี กษัตริย์วงศ์เทวดาสี่พี่น้องครองนครละองค์ วงศ์เทวดานี้มีพระอัยกาธิราชเป็นต้นสกุล แต่สิ้นพระชนม์ไปแล้วจนมีฐานะเป็นเทวดา เรียกว่า ปะตาระกาหลา (ภัตตรกาล) และยังเวียนมาคุ้มครองโลก โดยเฉพาะวงศ์วานของท่าน เรื่องดำเนินไปว่าในจำพวกกษัตริย์ทั้งสี่นี้ ท้าวกุเรปันผู้พี่ใหญ่มีพระโอรสด้วยประไหมสุหรี (ปรไมยสวรียา) ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีนั้นก่อน ได้นามว่าอิเหนา ท้าวดาหาผู้รองลงมาในพระวงศ์ก็มีธิดาด้วยประไหมสุหรีดุจกันทรงพระนามว่า บุษบาก้าโละ

ท้าวกุเรปันทรงตุนาหงัน (หมั้น) พระธิดากรุงดาหาประทานแก่อิเหนาผู้เป็นโอรสแต่แรกประสูติมาแต่อิเหนาเมื่อเจริญพระชันษาขึ้น ได้ไปพบหญิงงามชาวไร่ชื่อ เกนบุษบา และหลงรักนางจนไม่ใยดีต่อคู่หมั่น พระบิดาพากเพียรจะให้อิเหนาไปอภิเษกสมรส แต่อิเหนาบิดพริ้วจนพระบิดากริ้วแสนสาหัส ถึงให้ไปลอบฆ่านางเกนบุษบาเสีย อิเหนาเสียพระทัยอย่างที่สุดจนหลบหนีไปจากพระนครพร้อมด้วยรี้พล เดินทางไปโดยไม่มีจุดหมาย และปลอมพระองค์เป็นชาวป่าเรียกนามว่าปันหยี ในการที่ออกเดินทางไปโดยอาการอย่างนี้เรียกว่า มะงุมมะงาหรา และได้ไปประสบเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งทุกข์ทั้งสุข ผ่านบ้านเมืองใดก็ท้าเขารบ รบแล้วก็ชนะ บ้างก็ยอมแพ้ แก่ปันหยียกบุตรธิดาถวายทั้งทรัพย์สมบัติ ไปๆ ก็ไปหลงกลของเจ้าเมืองมะงาดา ซึ่งพาไปเที่ยวเกาะแล้วให้ล่มเรือปันหยี ปันหยีถูกคลื่นซัดไปขึ้นฝั่งด้วยกันกับประสันตา ต้องอยู่อย่างยากจนลำบากโดยการหากินเป็นดาหลัง คือผู้เชิดหนัง ระหว่างนี้พระญาติวงศ์รวมทั้งพระธิดาบุษบาก้าโละก็ออกติดตามหา โดยต่างก็ปลอมองค์เป็นปันจุเหร็จ คือชาวป่าเที่ยวรบราฆ่าฟันไปทุกเมือง จนท้ายสุดเหล่าเจ้านายซึ่งปลอมพระองค์เป็นชาวป่าออกหาซึ่งกันและกันนั้น เผอิญไปพร้อมกันอยู่ที่กรุงกาหลัง และไปได้ความว่าใครเป็นใครที่กรุงนั้น ในที่สุดบรรดาคู่ตุนาหงัน (คู่หมั่น) ก็ได้อภิเษกซึ่งกันและกันโดยแนวที่ถูกต้องทุกประการ[5]

อ้างอิง

แก้
  1. พรรณี รองโสภา. เล่าเรื่องดาหลัง, 1. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2518
  2. 2.0 2.1 กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ. "คำนำ." ใน พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จ. ดาหลัง. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2499.
  3. 3.0 3.1 ประวัติท้าววรจันทร์ และ วิจารณ์เรื่องเค้ามูลอิเหนา, 110. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ยิ้มศรี, 2484.
  4. พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จ. ดาหลัง. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2499.
  5. ขุนนิกรการประกิจ, ผู้แปล. พงศาวดารอิเหนาฉบับอารีนัครา, 43-44. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, 2520.