ดนัย ศรีวัชรเมธากุล

ดนัย ศรีวัชรเมธากุล หรือ โค้ชด่วน[1] เกิดวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เป็นอดีตนักวอลเลย์บอลระดับอาชีพชาวไทย และเป็นอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้แก่ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย[2]

ดนัย ศรีวัชรเมธากุล
ข้อมูลส่วนบุคคล
ชื่อเต็มดนัย ศรีวัชรเมธากุล
ชื่อเล่นด่วน
สัญชาติประเทศไทย
เกิด5 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (53 ปี)
อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
ข้อมูลการฝึกสอน
ทีมปัจจุบันไทย วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย (พ.ศ. 2544 – 2567)

ประวัติ แก้

ดนัย ศรีวัชรเมธากุล เกิดในตระกูลชาวไทยเชื้อสายจีน ชื่อเล่นของเขาคือ โหน่ง ด่วนที่ทุกคนเรียกกันนั้นมาจากนามสกุลเดิมของเขา เขาเป็นหนึ่งในพี่น้อง 9 คน และทุกคนเล่นกีฬากันทั้งหมด โดยทางบ้านของเขาประกอบอาชีพค้าของชำ ดนัยเข้าเรียนระดับประถมที่โรงเรียนชุมชนชุมแพ ซึ่งเขาเล่นกีฬาหลายชนิดให้แก่ทางโรงเรียน โดยเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับอำเภอและระดับจังหวัด จากนั้น เขาได้ศึกษาระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนโนนหันวิทยายน ระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนชุมแพศึกษา ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ และได้เป็นนักวอลเลย์บอลของทางวิทยาลัย ก่อนที่ทางสตาฟฟ์โค้ชจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ทาบทามให้ร่วมทีม เขาจึงตัดสินใจย้ายไปเรียนปี 1 ใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยดังกล่าว[2]

เมื่อครั้งที่ดนัยเล่นให้แก่สโมสรวอลเลย์บอลธนาคารกรุงเทพในปีแรก เขาก็ได้มีส่วนช่วยให้ทีมดังกล่าวคว้าแชมป์การแข่งวอลเลย์บอลถ้วย ข และจากการเล่นที่โดดเด่น ทำให้เขาได้รับรางวัลนักวอลเลย์บอลยอดเยี่ยม กับรางวัลตบยอดเยี่ยม ครั้น พ.ศ. 2542 ดนัยก็ได้รับการทาบทามจากพงษ์เทพ เครือชะเอม ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกทีมเดียวกันให้มาช่วยทำทีมวอลเลย์บอลชายทีมชาติไทยเข้าแข่งขันที่จังหวัดฟุกุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น และเขาได้พาทีมคว้าเหรียญทองในการแข่งขันที่จัดขึ้น ณ จังหวัดศรีสะเกษ[2]

ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ได้กลับมาช่วยทีมชาติไทยอีกครั้งใน พ.ศ. 2544 จากการเชื้อเชิญของเกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ในการทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ให้แก่ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ในส่วนของทางเทคนิค โดยได้ทำการวิเคราะห์สถิติต่าง ๆ ทุกอย่าง รวมถึงได้มีการนำโปรแกรมมาช่วยวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไขทักษะของนักกีฬาให้ดีขึ้น จนทีมชาติไทยสามารถสู้กับทีมระดับโลกได้ในเวลาต่อมา[2]

เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ดนัยได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสตาฟฟ์โค้ชให้แก่ทีมไทยบี ในการแข่งวอลเลย์บอลเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จังหวัดนครปฐม[3] และในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ดนัยได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนให้แก่วอลเลย์บอลหญิงยุวชนทีมชาติไทยในการแข่งขันวอลเลย์บอลยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2012 ที่จัดขึ้น ณ เฉิงตู ประเทศจีน โดยในวันที่ 12 ตุลาคม เขาได้มีส่วนช่วยให้ทีมชาติไทยเป็นฝ่ายชนะทีมชาติคาซัคสถานที่ 3-0 เซต[4]

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ดนัยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนให้แก่วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในการแข่งขันศึกอินวิเทชัน 2013 ที่ประเทศจีน โดยมีเกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน[5] จากนั้น ในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกันนี้ ดนัยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่ทีมชาติไทยร่วมกับณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค ในการแข่งกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน 2013 ที่จัดขึ้น ณ คาซาน ประเทศรัสเซีย[6][7] ส่วนในเดือนกันยายน เขาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนให้แก่ทีมชาติไทยในการแข่งวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2014 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย กลุ่มเอ ซึ่งจัดที่สนามพาร์กอารีนา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อคัดสองทีมเข้าสู่การแข่งวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2014 ที่ประเทศอิตาลีในปีถัดไป[8] และในเดือนเดียวกันนี้ ดนัยได้เป็นหนึ่งในสตาฟฟ์โค้ชคนสำคัญ ผู้มีส่วนช่วยให้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ได้ครองแชมป์การแข่งรายการวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2013 ที่จัดขึ้น ณ จังหวัดนครราชสีมา[9][10] จากผลงานในครั้งนี้เอง ที่ทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.) จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[11]

ชีวิตส่วนตัว แก้

ดนัย ศรีวัชรเมธากุล สมรสกับศิริพร กุสุม ซึ่งเป็นอดีตนักวอลเลย์บอลสโมสรเป๊ปซี่ และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อณิชา ศรีวัชรเมธากุล[2]

ผลงานในระดับอาชีพ แก้

ในฐานะผู้ฝึกสอน แก้

ทีม ประเทศ พ.ศ.
สโมสรวอลเลย์บอลหญิงไดมอนด์ฟู้ด วีซี   ไทย 2563–2564

รางวัลที่ได้รับ แก้

ในฐานะนักกีฬาวอลเลย์บอลสโมสร
  • นักกีฬายอดเยี่ยม วอลเลย์บอลชาย กีฬาวิทยาลัยพลศึกษา[2]
  • นักกีฬายอดเยี่ยม การแข่งวอลเลย์บอลถ้วย ข[2]
  • นักตบยอดเยี่ยม การแข่งวอลเลย์บอลถ้วย ข[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Sport Classic:เว็บข่าวกีฬาและสุขภาพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-26. สืบค้นเมื่อ 2021-09-22.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 "วอลเลย์บอลไทย: ดนัย ศรีวัชรเมธากุลโค้ชด่วน มือตบสู่กุนซือยุคใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-20. สืบค้นเมื่อ 2013-10-15.
  3. ตบสาวไทยเอไม่พลาดตบสอนเชิงไทยบี 3-0[ลิงก์เสีย]
  4. โค้ชด่วน ตั้งเป้าตบยุวชน ติดท๊อปโฟร์ ชิงแชมป์เอเชียที่จีน - วอลเลย์บอล[ลิงก์เสีย]
  5. ""วอลเลย์ฯสาวไทย" เหินฟ้าไปจีนลุยศึกอินวิเทชั่น 2013-"นุศรา" โบกมือลาลีกอาเซอร์ฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-04. สืบค้นเมื่อ 2013-10-15.
  6. "Sport - Manager Online - "บิ๊กติ๋ม" ยัน "โค้ชอ๊อด" หายทันคุมไทยลุย WGP". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-10-15.
  7. "ตบสาวไทย" ไร้ "โค้ชอ๊อด" คุมทัพ ม.โลก - เดลินิวส์
  8. "หนังสือพิมพ์บ้านเมือง » ตบไทยเหินฟ้าสู่แดนปลาดิบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-28. สืบค้นเมื่อ 2013-10-16.
  9. "สาวไทยสร้างสุข ศรัทธามหาศาล - ข่าวไทยรัฐออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-06. สืบค้นเมื่อ 2013-10-15.
  10. สปอร์ตสแควร์ : ข่าวสดออนไลน์
  11. Royal decorations for volleyball team - Bangkok Post: breakingnews (อังกฤษ)
  12. ""ในหลวง"พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก แก่นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-10-15.
  13. "ในหลวงพระราชทานเครื่องราชฯทีมวอลเลย์บอลหญิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-10-15.
  14. "ตบสาวไทย" รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ - เดลินิวส์
  15. พระราชทานเครื่องราชทีมวอลเลย์หญิงไทย - โพสต์ทูเดย์ ข่าวกีฬา[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้