ฎีกา (คัมภีร์)
ฎีกา คือวรรณกรรมภาษาบาลี ที่แต่งเพื่ออธิบายความในคัมภีร์อรรถกถาของอรรถกถาจารย์ที่ได้ไขความในพระไตรปิฎกไว้ คัมภีร์ชั้นฎีกาจัดเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญรองลงมาจากคัมภีร์อรรถกถาที่ขยายความในพระไตรปิฎก เรียกว่า คัมภีร์ชั้นสาม คัมภีร์ฎีกามีความแตกต่างกับคัมภีร์อรรถกถา (คัมภีร์ชั้นสอง) ที่วัตถุประสงค์ในการแต่งฎีกานั้นทำเพื่ออธิบายเนื้อความในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา หรือฎีกาด้วยกันเอง
คัมภีร์ฎีกามีผู้แต่งจำนวนมากและมีหลายคัมภีร์ ส่วนใหญ่ชื่อคัมภีร์ชั้นฎีกาจะมีคำว่า ฎีกา และตามด้วยชื่อคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายความ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคำ ทีปนี โชติกา ปกาสินี หรือ คัณฐิ ลงท้าย1 ซึ่งคำลงท้ายเหล่านั้นรวมแปลว่า ให้ความกระจ่าง (อธิบายความในอรรถกถาให้กระจ่าง) คัมภีร์ชั้นฎีกาจัดเป็นแหล่งความรู้ทางพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญรองลงมาจากคัมภีร์ชั้นอรรถกถา[1]
ประวัติ
แก้ฎีกาบางคัมภีร์อาจมีสืบกันมาแต่ครั้งโบราณ และถูกนำมาเรียบเรียงอีกครั้งในยุคราว พ.ศ. 1400 - 1800 ซึ่งเป็นยุคที่มีฎีกาเกิดขึ้นมาก ซึ่งหลายคัมภีร์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ยังคงได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) จะได้แสดงความเห็นไว้ว่า คัมภีร์หลังยุคฎีกามานั้นควรจะจัดอยู่ในประเภทอัตตโนมติ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่ประเทศสหภาพพม่ายังพบว่ามีอาจารย์บางท่านจัดคัมภีร์ของตนไว้ในชั้นนี้อยู่ และในยุคหนึ่งประเทศพม่าเคยมีการเขียนฎีกาออกมามากจนมีคำว่า "ฝนฎีกา" เกิดขึ้น และบางคัมภีร์ก็แต่งขึ้นเพื่อค้านมติของพระฎีกาจารย์ ในยุคฎีกา จนมีกระแสต่อต้านเกิดขึ้นมากมาย เช่น คัมภีร์ปรมัตถทีปนีฎีกา ของพระภิกษุชาวเมียนม่า นามว่า แลดี สยาดอ ซึ่งแต่งค้านคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีของพระสุมังคลมหาสามี เมื่อยุค พ.ศ. 1700 ที่หลักสูตรเปรียญธรรมประโยค 9 ใช้เรียนกันในปัจจุบัน เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้แต่ง
แก้ผู้แต่งคัมภีร์ฎีกา เราเรียกว่า พระฎีกาจารย์ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ทรงความรู้ความสามารถมากไม่น้อยไปกว่าพระอรรถกถาจารย์ เพราะนอกจากพระฎีกาจารย์จะต้องสามารถทรงจำ และเข้าใจพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานเพื่อนำมาเขียนอธิบายได้แล้ว ยังจะต้องแตกฉานในคัมภีร์อรรถกถาและคัณฐีต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังจะต้องมีความชำนาญในไวยากรณ์ทั้งบาลีและสันสกฤต ในคัมภีร์สัททาวิเสสต่าง ๆ, รอบรู้ศัพท์และรูปวิเคระห์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี, ฉลาดในการแต่งคัมภีร์ให้สละสลวย ไพเราะ มีลำดับกฎเกณฑ์ ตามหลักอลังการะ, ต้องมีความสามารถในการแต่งคัมภีร์ตรงตามหลักฉันท์อินเดียซึ่งมีอยู่นับร้อยแบบ, และเข้าใจกรรมฐานจนถึงพระอรหันต์แตกฉานเชี่ยวชาญในข้อปฏิบัติเป็นอย่างดี
ฎีกาจารย์บางท่านอาจมีฐานะเป็นอรรถกถาจารย์ด้วย เนื่องจากรจนาทั้งอรรถกถาและฎีกา ซึ่งเท่าที่พบในประวัติศาสนาพุทธมี 2 ท่าน คือ พระธรรมปาลาจารย์ วัดพทรติตถวิหาร และพระโจฬกัสสปเถระ ผู้อยู่ในแคว้นโจฬรัฐ ทางตอนใต้ของชมพูทวีป
ฎีกาจารย์และคัมภีร์ฎีกาที่มีใช้แพร่หลายในประเทศไทย
แก้ฎีกาจารย์และคัมภีร์ฎีกาที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่นักศึกษาอภิธรรมของประเทศไทย ได้แก่ พระสุมังคลมหาสามี ผู้รจนาอภิธัมมตถวิภาวินีฎีกา อธิบายคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหอรรถกถา และ อภิธัมมัตถวิกาสินีฎีกา อธิบายคัมภีร์อภิธัมมาวตารอรรถกถา นอกจากนี้พระฎีกาจารย์ที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักเปรียญธรรมก็มีอยู่หลายท่านด้วยกัน เช่น พระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนามังคลัตทีปนี อธิบายมงคล 38, พระธรรมปาลาจารย์ ผู้รจนาปรมัตถมัญชูสา วิสุทธิมรรคมหาฎีกา, พระสารีบุตรเถระ2 ผู้รจนาสารัตถทีปนีฎีกา อธิบายอรรถกถาพระวินัย และสารัตถมัญชูสาฎีกา อธิบายอรรถกถาอังคุตตรนิกาย, พระโจฬกัสสปเถระ ผู้รจนาวิมติวิโนทนีฎีกา อธิบายอรรถกถาพระวินัย และอนาคตวังสอรรถกถา, พระวชิรพุทธิเถระ ผู้รจนาวชิรพุทธิฎีกา เป็นต้น
เชิงอรรถ
แก้พระวินัยปิฎก | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
พระสุตตันตปิฎก | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
พระอภิธรรมปิฎก | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|
| ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
หมายเหตุ 1: คำลงท้ายดังกล่าวบางคำนำมาจากคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งคัมภีร์ชั้นฎีกาใดที่ไม่ได้แต่งชื่อคัมภีร์ขึ้นใหม่ ก็จะใช้คำว่า ฎีกา นำหน้าตามด้วยชื่อคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่นำมาขยายความ เช่น ฎีกาสารัตถทีปนี เป็นต้น หมายเหตุ 1: พระสารีบุตรรูปนี้ มีชีวิตอยู่ราว พ.ศ. 1700 ไม่ใช่พระสารีบุตรผู้เป็นอัครมหาสาวกในครั้งพุทธกาล
ดูเพิ่ม
แก้- พระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นต้น (คัมภีร์ชั้น 1)
- อรรถกถา คัมภีร์ชั้นสอง (อธิบายความในพระไตรปิฎก)
อ้างอิง
แก้- ↑ เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท. วิทยานิพนธ์ปริญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2524. 184 หน้า. (อัดสำเนา)