ฌ็อง วีลียาม ฟริตส์ ปียาแฌ (ฝรั่งเศส: Jean William Fritz Piaget, ออกเสียง: [ʒɑ̃ pjaʒɛ]; 6 สิงหาคม ค.ศ. 1896 – 16 กันยายน ค.ศ. 1980) นักจิตวิทยาชาวสวิส มีชื่อเสียงจากการศึกษาพัฒนาการทางปัญญาของเด็ก โดยได้สรุปออกมาเป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านความคิดความเข้าใจของมนุษย์ (Piaget's theory of cognitive development)

รูปปั้นฌ็อง ปียาแฌ

ปียาแฌเกิดที่เมืองเนอชาแตล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จบปริญญาเอกทางชีววิทยา แต่หันมาสนใจทางจิตวิทยา โดยอาศัยประสบการณ์จากการเลี้ยงลูก 3 คน เขาได้เฝ้าสังเกตและบันทึกพฤติกรรมของลูก ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่ลูกทำได้หรือทำไม่ได้ตามลำดับช่วงอายุ สรุปเป็นทฤษฎีของฌ็อง ปียาแฌ แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็น 4 ขั้น ได้แก่

  • ขั้น sensorimotor stage ตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ขวบ เป็นขั้นของการใช้ประสาทสัมผัสของมนุษย์
  • ขั้น preoperational stage ตั้งแต่อายุ 2–7 ขวบ เป็นขั้นก่อนความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
  • ขั้น concrete operational stage ตั้งแต่อายุ 7–11 ขวบ จะเริ่มเข้าใจความคิดที่เป็นเชิงรูปธรรมอย่างดี และยังสามารถใช้ความคิดเหตุผลมากกว่าวัยที่แล้ว (มีการใช้เหตุผลไปและกลับ)
  • ขั้น formal operational stage ตั้งแต่อายุ 11–15 ขวบ มีการใช้ความคิดเข้าใจ มีเหตุมีผลในเชิงนามธรรม

เขาเป็นนักจิตวิทยากลุ่มที่เน้นความรู้ความเข้าใจ (cognitive) กล่าวว่า เด็ก 3–5 ขวบ เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมจากเพื่อนในโรงเรียนอนุบาลหรือเพื่อนบ้านวัยเดียวกันแต่เด็กวัยนี้ ยังเข้าใจถึงความถูกต้องและความไม่ลึกซึ้งนักดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เด็กวัยนี้ ได้พัฒนาในเรื่องการยอมรับการแยกตัวจากพ่อแม่ฝึกให้มีความเชื่อมั่นเมื่ออยู่กับคนอื่นให้เด็กเข้าใจระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ฝึกให้รู้จักการแบ่งปันและการผลัดเปลี่ยนกันและรู้จักอดใจรอในโอกาสอันควร

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา

พีอาเจต์ มองการเล่นเป็นกระบวนการพัฒนาทางสติปัญญา ซึ่งกระบวนการพัฒนาทางสติปัญญาและลักษณะของการเล่นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การเล่นของเด็กจะเริ่มโดยใช้ประสาทสัมผัส (sensorimotor system) ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะสำรวจและจะยุติลงเมื่ออายุประมาณสองขวบ ต่อมาเด็กจะเล่นเกี่ยวกับการสร้าง (constructive play) เด็กจะเริ่มรู้จักนำเอาสิ่งของมาสร้างให้เป็นสิ่งต่างๆขึ้นมา ส่วนการเล่นโดยใช้สัญลักษณ์ (symbolic play) จะเกิดในช่วงที่เด็กมีอายุปลายๆสองขวบ และจะพัฒนาได้เต็มที่เมื่ออายุได้ประมาณ 3–4 ขวบ

ทฤษฏีพัฒนาการทางด้านจริยธรรมของมนุษย์

ในเรื่องของคุณงามความดีหรือจริยธรรมนั้น ได้มีการศึกษาค้นคว้ากันมาตั้งแต่สมัยต้นๆแล้ว นักทฤษฏีด้านจริยธรรมบางท่านก็เชื่อว่าสังคมมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของบุคคลพวกนี้จึงเชื่อว่า คนต่างกลุ่มต่างสังคมย่อมมีจริยธรรมที่แตกต่างกัน ดังที่เกสเสล (Gessel) กล่าวไว้ว่า “ทารกไม่ได้เกิดมาพร้อมกับมีจริยธรรมหรือศีลธรรมประจำใจติดตัวมา การที่ทารกจะพัฒนาไปแล้วรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดดี สิ่งใดเลว สิ่งใดควรประพฤติ ปฏิบัติ เกิดจากการอบรมในภายหลัง” โดยพัฒนาการทางจริยธรรมจะมี 2 แบบ

1.      ไม่ทำ เพราะรู้ว่าไม่ดี และทำเพราะว่ารู้ว่าดี เป็นสิ่งที่เกิดจากแรงภายใน

2.      ไม่ทำ เพราะรู้ว่า ถ้าทำจะถูกลงโทษและจะทำ เพราะถ้าทำแล้วจะได้รับรางวัลเป็นการตอบแทน เป็นแรงจากภายนอก