ฌานแห่งดามาร์แต็ง (ฝรั่งเศส: Jeanne de Dammartin) เป็นธิดาขุนนางฝรั่งเศส ทรงเป็นเคาน์เตสแห่งปงตีเยอและโอมาลตามสิทธิ์ของตนเอง, เป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยาและเลออนจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา และเป็นพระราชมารดาของเลโอนอร์แห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ หลังพระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์ พระนางขัดแย้งกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา พระโอรสเลี้ยง เรื่องดินแดนและรายได้ที่พระนางควรได้รับในฐานะพระราชินีม่าย ต่อมาทรงเดินทางกลับปงตีเยอและสมรสกับฌ็อง เดอ แนล

ฌานแห่งดามาร์แต็ง
เคาน์เตสแห่งปงตีเยอ
พระราชินีคู่สมรสแห่งกัสติยา
ประสูติค.ศ. 1220 (โดยสันนิษฐาน)
สิ้นพระชนม์16 มีนาคม ค.ศ. 1279
พระสวามีพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา
ฌ็อง เดอ แนล ลอร์ดแห่งแฟลวีและอีเรล
พระราชบุตรเอเลเนอร์แห่งคาสตีล
และอื่น ๆ
พระบิดาซีมงแห่งดามาร์แต็ง
พระมารดามารีแห่งปงตีเยอ

ชาติกำเนิด แก้

สันนิษฐานกันว่าฌานน่าจะประสูติในราวปี ค.ศ. 1220[1] ในรัชสมัยของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส โดยฌานมีศักดิ์เป็นธิดาของพระภาคิไนยของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 เนื่องจากอาลิกซ์ พระอัยกีฝั่งมารดาของฌานเป็นพี่น้องต่างมารดาของพระเจ้าฟีลิปที่ 2

บิดาของฌานคือซีมง เดอ ดามาร์แต็ง เคานต์แห่งโอมาลซึ่งมีอายุราว 40 ปีในตอนที่ฌานซึ่งเป็นธิดาคนแรกเกิด ซีมงอยู่คนฝ่ายตรงข้ามกับพระเจ้าฟีลิปที่ 2 และต่อสู้กับกษัตริย์ฝรั่งเศสในสมรภูมิบูวีนในปี ค.ศ. 1214 แม้ว่าเขาจะสมรสกับมารี มารดาของฌานซึ่งเป็นพระภาคิไนยของพระเจ้าฟีลิป มารีเป็นบุตรที่มีชีวิตรอดเพียงคนเดียวของกีโยม ตาลวา เคานต์แห่งปงตีเยอกับอาลิกซ์ พระธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสกับกอนส์ตันซาแห่งกัสติยาและเป็นพระเชษฐภคินีต่างมารดาของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 พระเจ้าฟีลิปคาดหวังให้การสมรสของอาลิกซ์กับกีโยมไม่มีบุตรเพื่อที่เคาน์ตีปงตีเยอจะได้ตกเป็นของราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ทว่ามารีกลับรอดชีวิต แต่เมื่อบิดาของเธอถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1221 พระเจ้าฟีลิปกลับยกมรดกที่ควรเป็นของเธอให้แก่รอแบร์ เคานต์แห่งเดรอซ์ ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ มารีได้ทำข้อตกลงกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 พระโอรสของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 ในปี ค.ศ. 1225 ซีมง สามีของมารีถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1239 และมารีได้ครองตำแหน่งเป็นเคาน์เตสในปี ค.ศ. 1251

ฌานมีน้องสาวสามคน คือ อากัต, ฟีลีปา และมารี สี่พี่น้องมีชีวิตอยู่จนถึงวัยแต่งงาน ตามวิถีปฏิบัติแบบฝรั่งเศสดินแดนมรดกปงตีเยอและโอมาลจะตกเป็นของบุตรคนโต ฌานซึ่งเป็นพี่สาวคนโตจะได้สิทธิ์ในการครอบครองดินแดนมรดกทั้งหมด

สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา แก้

 
ตราประจำพระองค์ของพระราชินีฌาน

ในปี ค.ศ. 1234/35 ฌานตกเป็นที่หมายตาของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษซึ่งได้ส่งราชทูตมายังปงตีเยอเพื่อขอพระนางสมรส การเจรจาตกลงเรื่องการสมรสตำเนินไปจนถึงขั้นที่พระเจ้าเฮนรีเขียนจดหมายถึงซีมงเพื่อขอให้ส่งตัวฌานมาอังกฤษก่อนเทศกาลเพนเทคอสต์หรือวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1235 แม้ปงตีเยอจะไม่ใช่ดินแดนที่กว้างใหญ่หรือร่ำรวยเป็นพิเศษ แต่มีพรมแดนติดกับแฟลนเดอส์และดัชชีนอร์ม็องดีที่พระเจ้าจอห์น พระราชบิดาของพระเจ้าเฮนรีเสียให้แก่พระเจ้าฟีลิปในปี ค.ศ. 1204 เคาน์ตีจึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และจะเป็นฐานที่มั่นอันดีเยี่ยมของอังกฤษในการสู้รบเพื่อเอานอร์ม็องดีกลับคืนมา บลังกาแห่งกัสติยา พระสุณิสาของพระเจ้าฟีลิปที่ 2 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 พระนัดดาของพระเจ้าฟีลิปตระหนักได้ถึงภัยคุกคามจากซีมง เดอ ดามาร์แต็ง หากธิดาของเขาได้สมรสกับกษัตริย์แห่งอังกฤษ

แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 3 กลับเลือกที่จะสมรสกับอะลิอูโนแห่งพรอว็องส์ น้องสาวของมาร์การิดาแห่งพรอว็องส์ พระมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 บลังกาแห่งกัสติยาจึงร่วมมือกับพระราชินีม่ายเบเรงเกลา พระเชษฐภคินีของพระนางจัดการสมรสแบบคลุมถุงชนระหว่างฌานกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยาและเลออน พระโอรสของพระราชินีม่ายเบเรงเกลา โดยฌานกับพระเจ้าเฟร์นันโดเป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่สองซึ่งอยู่ห่างกันหนึ่งขั้น ทั้งคู่มีบรรพบุรุษร่วมกันคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 แห่งกัสติยา (พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 - กอนส์ตันซาแห่งกัสติยา - อาลิกซ์แห่งฝรั่งเศส - มารีแห่งปงตีเยอ - ฌานแห่งปงตีเยอ; พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 7 - พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออน - พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน - พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3) การสมรสของทั้งคู่จะต้องได้รับการผ่อนผันจากสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาได้ผ่อนผันให้ทั้งคู่สมรสกันได้ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1237

การสมรสของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 กับฌานน่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1237 ที่นครบูร์โกส โดยตามสัญญาการสมรสเคาน์ตีปงตีเยอจะยังคงเป็นของฝรั่งเศส ฌานอาจมีพระชนมายุ 17 พรรษา (หรือไม่ก็ 20 พรรษา) ส่วนพระเจ้าเฟร์นันโดมีพระชนมายุมากกว่าพระองค์ 20 ปี และมีพระราชบุตรอยู่แล้ว 8 คน เป็นพระโอรส 7 คนกับพระธิดา 1 คน ซึ่งเกิดจากการสมรสครั้งแรกกับเบอาทริคส์ (เอลิซาเบธ) แห่งชวาเบิน อัลฟอนโซ พระโอรสคนโตของพระเจ้าเฟร์นันโดอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันกับฌาน พระองค์กับพี่น้องชายอีกหกคนทำให้โอกาสที่พระโอรสของฌานจะได้ขึ้นครองบัลลังก์กัสติยานั้นแสนริบหรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสียเปรียบในการสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดแทนที่จะเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษซึ่งไม่เคยมีพระมเหสีและพระราชบุตรมาก่อน ทว่าทั้งคู่มีชีวิตสมรสที่มีความสุข ฌานประทับใจในความองอาจทางทหารของพระสวามี เมืองแล้วเมืองเล่าของอัลอันดะลุสถูกพระองค์ตีจนแตกพ่ายในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1230–1240 กอร์โดบาถูกยึดในปีก่อนที่ทั้งคู่จะสมรสกัน นิเอบลาและอูเอลบาแตกพ่ายต่อพระเจ้าเฟร์นันโดในปีต่อมา ตามด้วยเอซิฆาในปี ค.ศ. 1240 และอื่น ๆ อีกมากมาย ในปี ค.ศ. 1244 พระเจ้าเฟร์นันโดย้ายไปปักหลักอยู่ทางตอนใต้ของสเปนซึ่งจะทำให้สานต่อปฏิบัติการทางทหารกับกลุ่มอัลโมฮัดได้ดีกว่า ฌานได้ติดตามพระองค์ไปด้วย สันนิษฐานกันว่าพระราชบุตรวัยเยาว์ของทั้งคู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเลโอนอร์ อนาคตพระราชินีแห่งอังกฤษ พำนักอยู่กับทั้งคู่ด้วย

ฌานมีพระโอรสธิดาจากการสมรสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยาและเลออน ดังนี้

พระราชินีม่ายแห่งกัสติยา แก้

ฌานตกพุ่มม่ายในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1252 ซึ่งพระนางน่าจะอยู่ในวัยสามสิบต้นๆ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยาแห่งเลออน กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่สิ้นพระชนม์ในเมืองเซบิยาซึ่งพระองค์ยึดคืนมาจากกลุ่มอัลโมฮัด พระราชินีฌานอยู่ที่เตียงสิ้นพระชนม์ของพระสวามี โฆเฟร เด โลอายซา นักประวัติศาสตร์ในราชสำนักซึ่งอยู่ในตอนที่พระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์เล่าว่ากษัตริย์ถูกฝังในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน "เบื้องหน้าแท่นบูชาของโบสถ์ซันตามารีอาในเซบิยา" และ "ต่อหน้าพระราชบุตรทุกคนของพระองค์ยกเว้นอาร์ชบิชอปแห่งโตเลโด [ดอนซันโช]"[2] ซึ่งพระราชบุตรที่ว่าอาจรวมถึงเลโอนอร์ อนาคตพระราชินีแห่งอังกฤษซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 10 พรรษา ผู้สืบทอดตำแหน่งเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเจ้าเฟร์นันโดคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระโอรสเลี้ยงวัย 30 พรรษาของฌานที่สมรสกับบิโอลันเตแห่งอารากอน พระธิดาวัย 15 พรรษาของพระเจ้าไชเมที่ 1 "เอลกองกิสตาดอร์" (บิโอลันเตเป็นพระเชษฐภคินีของอีซาเบลแห่งอารากอนซึ่งสมรสกับพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศสและเป็นพระอัยกีฝั่งบิดาของอีซาแบลแห่งฝรั่งเศส พระราชินีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2)

ตามอัตชีวประวัติของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 กษัตริย์คนใหม่เคารพพระมารดาเลี้ยงมาก แต่ทั้งคู่น่าจะมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินและเฉยเมยต่อกันมากกว่า พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 ได้ยกดินแดนเด่น ๆ มากมายให้แก่ "ดอญญาฆัวนา" พระราชินีของพระองค์ เช่น กอร์โดบา, การ์โมนา, มาร์เชนา, ลูเก และทรัพย์สินที่ดินกับอาณาเขตอื่น ๆ ในมณฑลกอร์โดบา, ฆาเอน และอาร์โฆนา หลังพระเจ้าเฟร์นันโดสิ้นพระชนม์ ฌานทำข้อตกลงกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระองค์เหลือมาร์เชนาเพียงแห่งเดียว[3]

กลับสู่ปงตีเยอ แก้

พระราชินีฌานกลับปงตีเยอบ้านเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1254 พระองค์กับดอนเฟร์นันโด พระราชบุตรคนโตที่มีพระชนมายุ 15 พรรษาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษในช่วงที่เดินทางผ่านอาณาเขตของกัสกอญ เฟร์นันโดถูกเรียกว่าเฟร์นันโดแห่งปงตีเยอแทนที่จะเป็นเฟร์นันโดแห่งกัสติยา สันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่พระองค์เป็นทายาทในเคาน์ตีดังกล่าว ในดินแดนของพระนางเองที่ผู้คนพูดภาษาที่พระนางพูดฌานอาจมีชีวิตที่สะดวกสบายกว่าเมื่อครั้งอยู่ในกัสติยาซึ่งปกครองโดยพระโอรสเลี้ยง เลโอนอร์ พระธิดาของพระนางสมรสกับลอร์ดเอ็ดเวิร์ด พระโอรสและทายาทของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษซึ่งเป็นอดีตคู่หมั้นของฌานในบูร์โกสเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1254 ดอนลุยส์ พระโอรสคนเล็กยังคงอยู่ในกัสติยาและเริ่มเป็นสักขีพยานในกฎบัตรของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 ผู้เป็นพระเชษฐาต่างมารดาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1255[4] สุดท้ายลุยส์สมรสกับฆัวนา โกเมซ เด มันซาเนโด เลดีแห่งกาตอน ธิดาขุนนางกัสติยา ขณะที่ดอนเฟร์นันโด พระเชษฐาคนโตเชื่อมสัมพันธไมตรีกับทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษด้วยการสมรสกับลอร์ เด มงฟอร์ ธิดาขุนนางฝรั่งเศสซึ่งเป็นหลานสาว (ลูกของพี่น้อง) ของซีมง เดอ มงฟอร์ เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ พระขนิษฐภรรดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ลุยส์สิ้นพระชนม์ก่อนปี ค.ศ. 1279 ส่วนเฟร์นันโดถูกสังหารก่อนปี ค.ศ. 1264 ราวต้นคริสต์ทศวรรษ 1260 ฌานได้สมรสกับฌ็อง เดอ แนล ลอร์ดแห่งแฟลวีและอีเรล สามีคนที่สองที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นข้าราชบริพารของพระนางเอง

เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 พระชามาดาและพระราชินีเลโอนอร์ พระธิดาของพระนางเดินทางจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์กลับอังกฤษในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1274 ทั้งคู่แวะมาพักกับฌานในปงตีเยอและทิ้งโจนแห่งเอเคอร์ พระธิดาวัย 2 พรรษาซึ่งถูกตั้งชื่อตามฌานไว้กับพระนาง พระนัดดาและพระอัยกีอยู่ด้วยกันจนกระทั่งพระราชินีฌานสิ้นพระชนม์ นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่าฌานแห่งเอเคอร์ "อาจถูกตามใจโดยพระอัยกีผู้แสนตามใจ"[5]

ฌาน เคาน์เตสแห่งปงตีเยอและโอมาล พระราชินีม่ายแห่งกัสติยาและเลออน และพระมารดาของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษสิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1279 ด้วยวัยเกือบ 60 พรรษาที่เมืองแอบเบอวีล ฌ็อง เดอ แนล สามีม่ายของพระนางมีชีวิตอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1292 (ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีอายุน้อยกว่าพระนาง) พระราชินีฌานพระชนมายุยืนกว่าพระโอรสของพระองค์ทั้งสี่คน คือ เฟร์นันโด, ลุยส์, ฆวน และซิมอน ฌ็อง เดอ ปงตีเยอ หลานชายของฌานสืบทอดโอมาลต่อจากพระนาง ขณะที่เคานต์ตีปงตีเยอของพระนางตกเป็นของพระราชินีเลโอนอร์ผู้เป็นพระธิดา

อ้างอิง แก้

  1. Douglas Richardson, Kimball G. Everingham, Plantagenet Ancestry: A Study in Colonial and Medieval Families, page 192
  2. H. Salvador Martínez, trans. by Odile Cisneros, Alfonso X, the Learned (2010), p. 97.
  3. Ibid., pp. 41, 111, 112.
  4. Parsons, 'Year of Eleanor of Castile's Birth', p. 247.
  5. Ibid., pp. 31, 40.