ซุน ป้า

(เปลี่ยนทางจาก ซุนป๋า)

ซุน ป้า (จีน: 孫霸; พินอิน: Sūn Bà; ก่อน ค.ศ. 235[a] - กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250) ชื่อรอง จื่อเวย์ (จีน: 子威; พินอิน: Zǐwēi) เป็นเจ้าชายของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน พระองค์เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก

ซุน ป้า
孫霸
อ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง)
ดำรงตำแหน่งกันยายน ค.ศ. 242 – 250
ประสูติระหว่าง ค.ศ. 224 ถึง ค.ศ. 235
สวรรคตกันยายนและตุลาคม ค.ศ. 250
คู่อภิเษกบุตรสาวของหลิว จี
พระราชบุตร
  • ซุน จี
  • ซุน อี
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซุน (孫)
ชื่อตัว: ป้า (霸)
ชื่อรอง: จื่อเวย์ (子威)
ราชวงศ์ราชวงศ์ซุน
พระราชบิดาซุนกวน
พระราชมารดาเซี่ยจี

ประวัติ

แก้

ซุน ป้าเป็นบุตรชายคนที่ 4 ของซุนกวน[1] ขุนศึกในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊ก มารดาของซุน ป้าคือเซี่ยจี (謝姬) พระสนมของซุนกวน[2] ซุน ป้าได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 242[3]

ในช่วงทศวรรษ 240 ซุน ป้าเข้าสู่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับซุนโฮ พระเชษฐาองค์ที่ 3 และรัชทายาท[b] เพราะซุน ป้าต้องการจะชิงตำแหน่งรัชทายาทจากซุนโฮ ในความเป็นจริงแล้ว ตัวซุนกวนเองเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งระหว่างพระโอรสองค์ที่ 3 (ซุนโฮ) และองค์ที่ 4 (ซุน ป้า) ของพระองค์ แม้ว่าซุนกวนจะทรงแต่งตั้งซุนโฮเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 242 แล้ว แต่พระองค์ก็ปฏิบัติต่อซุน ป้าอย่างดีเป็นพิเศษ ขุนนางบางคนได้หารือกันแล้วทูลโน้มน้าวซุนกวนให้ปฏิบัติและยึดถือตามหลักความถูกต้องเหมาะสมตามคำสอนในลัทธิขงจื๊อ ยกตัวอย่างเช่นซุนโฮควรได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์มากกว่าซุน ป้า เพราะซุนโฮอยู่ในฐานะรัชทายาทที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าเจ้าชายองค์อื่น ๆ แต่ซุนกวนทรงล้มเหลวในแยกแยะวิธีปฏิบัติต่อพระโอรสแต่ละพระองค์ให้ชัดเจน ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป การต่อสู้แย่งชิงอำนาจก็ยิงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อซุนโฮและซุน ป้าต่างก็เริ่มช่วงชิงความโปรดปรานและความสนพระทัยของพระบิดา[4]

เมื่อซุนกวนทรงเห็นว่าการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างพระโอรสของพระองค์มีผลกระทบทำให้ข้าราชบริพารของพรองค์แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย พระองค์จึงทรงห้ามเหล่าพระโอรสไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก และมีรับสั่งให้เหล่าพระโอรสมุ่งมั่นไปที่การศึกษาวิชาการ [5] ขุนนางชื่อหยาง เต้า (羊衜) เขียนฎีกาถวายซุนกวน ทูลแนะนำให้จักรพรดิยกเลิกการห้ามไม่ให้พระโอรสมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก หยาง เต้าทูลชี้แนะว่าทั้งซุนโฮและซุน ป้าทรงมีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่ปัญญาชนและขุนนางบัณฑิตที่ต่างกระตือรือร้นที่เข้าเฝ้าเจ้าชายทั้งสองพระองค์ จึงควรอนุญาตให้เหล่าพระโอรสได้มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก หยาง เต้ายังทูลอธิบายซุนกวนว่าการแยกเจ้าชายทั้งสองออกจากโลกภายนอกอาจทำให้ผู้คนติดว่าง่อก๊กกำลังประสบกับความไม่มั่นคงภายในและจะทำให้ข่าวลือแพร่กระจายออกไป[6] ซุนกวนอาจจะทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของหยาง เต้า

เหล่าข้าราชบริพารของซุนกวนก็แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยลกซุน, จูกัดเก๊ก, กู้ ถาน (顧譚), จู จฺวี้ (朱據), เตงอิ๋น, ชือ จี (施績), ติง มี่ (丁密) และงอซัน ซึ่งมีความเห็นว่าซุนโฮทรงเป็นทายาทโดยชอบธรรมจึงสนับสนุนซุนโฮ อีกฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยเปาจิด, ลิต้าย, จวนจ๋อง, ลิกี๋, ซุน หง (孫弘), เฉฺวียน จี้ (全寄), หยาง จู๋ (楊笁), อู๋ อาน (吳安) และซุน ฉี (孫奇) สนับสนุนซุน ป้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฉฺวียน จี้และหยาง จู๋มักพูดเรื่องในแง่ลบเกี่ยวกับซุนโฮต่อพระพักตร์ของซุนกวน ในขณะที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซุนกวนทรงเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายในเรื่องนี้จึงตรัสกับซุนจุ๋นว่าพระองค์ทรงกังวลว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจะลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นระหว่างบุตรชายของอ้วนเสี้ยว[7] พระองค์ทรงต้องการจะยุติการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและแต่งตั้งรัชทายาทองค์ใหม่ จึงทรงเริ่มดำเนินการกับขุนนางบางคนดังต่อไปนี้ งอซันถูกจำคุกและถูกประหารชีวิตในภายหลัง กู้ ถานถูกเนรเทศไปมณฑลเกาจิ๋ว หยาง จู๋ถูกประหารชีวิตและศพถูกทิ้งลงแม่น้ำ เฉฺวียน จี้, อู๋ อาน และซุน ฉีถูกประหารชีวิต[8][9]

ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาทและย้ายให้ไปประทับในอำเภอกู้จาง (故鄣縣 กู้จางเซี่ยน; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภออานจี๋ มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ซุนกวนยังทรงบังคับให้ซุน ป้ากระทำอัตวินิบาตกรรม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 250 หรือมกราคม ค.ศ. 251 ซุนกวนทรงแต่งตั้งซุนเหลียงพระโอรสองค์เล็กเป็นรัชทายาทองค์ใหม่แทนที่ซุนโฮ[10]

ครอบครัว

แก้

ซุน ป้าสมรสกับบุตรสาวของหลิว จี[11] มีพระโอรส 2 พระองค์คือซุน จี (孫基) และซุน อี (孫壹) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 254 ถึง ค.ศ. 256 ซุนเหลียงผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กลำดับที่ 2 ในปี ค.ศ. 252 พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ซุน จี และซุน อีเป็นอู๋โหว (吳侯) และหว่านหลิงโหว (宛陵侯) ตามลำดับ พระองค์ยังทรงรับซุน จีมารับราชการเป็นข้ารับใช้ส่วนพระองค์ ในปี ค.ศ. 257 ซุน จีถูกจับขังคุกหลังถูกจับได้ว่าขโมยม้าทรงของจักรพรรดิ เมื่อซุนเหลียงตรัสถามเตียว เสฺวียน (刁玄) ว่าการลงโทษใดจึงจะเหมาะสมกับซุน จี เตียว เสฺวียนทูลตอบว่าซุน จีกระทำความผิดร้ายแรง แต่เตียว เสฺวียนยังทูลแนะนำซุนเหลียงให้ทรงผ่อนปรนต่อซุน จี และทูลชี้แนะว่าซุนเหลียงอาจจะพระราชทานอภัยโทษให้ซุน จีหรือเนรเทศก็ได้ ในที่สุดซุนเหลียงจึงทรงเลือกที่จะพระราชทานอภัยโทษแก่ซุน จี[12]

ในปี ค.ศ. 264 ซุนโฮ[c] (孫皓 ซุน เฮ่า) โอรสของซุนโฮ (ซุน เหอ) ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของง่อก๊ก หลังการขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิซุนโฮทรงสถาปนาย้อนหลังให้พระบิดาเป็นจักรพรรดิ และทรงระลึกถึงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระบิดากับซุน ป้า จักรพรรดิซุนโฮจึงทรงแก้แค้นต่อซุน จี และซุน อี โดยการริบบรรดาศักดิ์และเนรเทศทั้งคู่กับพระอัยกี (ย่า) ของทั้งคู่ (พระมารดาของซุน ป้า) ไปยังอำเภออูชาง (烏傷縣 อูชางเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครอี้อู มณฑลเจ้อเจียง)[13]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ไม่มีการบันทึกถึงปีประสูติของซุน ป้า พระองค์อาวุโสมากกว่าซุนฮิว (ประสูติในปี ค.ศ. 235) และน้อยกว่าซุนโฮ (ประสูติในปี ค.ศ. 224)
  2. ซุนโฮขึ้นเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 242 หลังการสิ้นพระชนม์ของซุนเต๋งพระโอรสองค์โตและรัชทายาทคนแรกของซุนกวนในปี ค.ศ. 241 ซุน ลฺวี่ (孫慮) พระโอรสองค์ที่ 2 ของซุนกวนสิ้นพระชนม์ก่อนแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นซุนโฮในฐานะพระโอรสองค์โตที่สุดที่ยังทรงพระชนม์อยู่จึงขึ้นเป็นรัชทายาทองค์ใหม่
  3. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อซุน เฮ่าที่เป็นบุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ด้วยชื่อว่า "ซุนโฮ" เช่นเดียวกับบิดา

อ้างอิง

แก้
  1. (孫霸字子威,和弟也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  2. (霸二子,基、壹。 ... 孫皓即位,追和、霸舊隙,削基、壹爵土,與祖母謝姬俱徙會稽烏傷縣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  3. ([赤烏五年]八月,立子霸為魯王。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  4. (殷基通語曰:初權旣立和為太子,而封霸為魯王,初拜猶同宮室,禮秩未分。羣公之議,以為太子、國王上下有序,禮秩宜異,於是分宮別僚,而隙端開矣。) อรรถาธิบายจากทง-ยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  5. ([孫]和為太子。霸為魯王,寵愛崇特,與和無殊。頃之,和、霸不穆之聲聞於權耳,權禁斷往來,假以精學。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  6. (督軍使者羊衜上疏曰:「臣聞古之有天下者, ... 萬國幸甚矣。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  7. (自侍御賔客造為二端,仇黨疑貳,滋延大臣。丞相陸遜、大將軍諸葛恪、太常顧譚、驃騎將軍朱據、會稽太守滕胤、大都督施績、尚書丁密等奉禮而行,宗事太子,驃騎將軍步隲、鎮南將軍呂岱、大司馬全琮、左將軍呂據、中書令孫弘等附魯王,中外官僚將軍大臣舉國中分。權患之,謂侍中孫峻曰:「子弟不睦,臣下分部,將有袁氏之敗,為天下笑。一人立者,安得不亂?」於是有改嗣之規矣。) อรรถาธิบายจากทง-ยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  8. (魯王霸覬覦滋甚,陸遜、吾粲、顧譚等數陳適庶之義,理不可奪,全寄、楊笁為魯王霸支黨,譖愬日興。粲遂下獄誅,譚徙交州。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  9. (時全寄、吳安、孫奇、楊笁等陰共附霸,圖危太子。譖毀旣行,太子以敗,霸亦賜死。流笁屍于江,兄穆以數諫戒笁,得免大辟,猶徙南州。霸賜死後,又誅寄、安、奇等,咸以黨霸搆和故也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  10. ([赤烏]十三年 ... 八月, ... 廢太子和,處故鄣。魯王霸賜死。冬十月, ... 十一月,立子亮為太子。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47.
  11. (繇長子基,字敬輿, ... 後權為子霸納基女,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 49.
  12. (霸二子,基、壹。五鳳中,封基為吳侯,壹宛陵侯。基侍孫亮在內,太平二年,盜乘御馬,收付獄。亮問侍中刁玄曰:「盜乘御馬罪云何?」玄對曰:「科應死。然魯王早終,惟陛下哀原之。」亮曰:「法者,天下所共,何得阿以親親故邪?當思惟可以釋此者,柰何以情相迫乎?」玄曰:「舊赦有大小,或天下,亦有千里、五百里赦,隨意所及。」亮曰:「解人不當爾邪!」乃赦宮中,基以得免。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.
  13. (孫皓即位,追和、霸舊隙,削基、壹爵土,與祖母謝姬俱徙會稽烏傷縣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 59.

บรรณานุกรม

แก้