จดหมายเหตุสามก๊ก

(เปลี่ยนทางจาก ซานกว๋อจื้อ)

จดหมายเหตุสามก๊ก (อังกฤษ: Records of the Three Kingdoms; จีน: 三國志; พินอิน: Sānguó Zhì) เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ บทประพันธ์โดย เฉินโซ่ว (ตันซิ่ว, Chen Shou) บัณฑิตและขุนนางชาวเสฉวน มีตัวตนจริงอยู่ในสมัยยุคสามก๊ก โดยเนื้อหาตามบทประพันธ์เกิดจากจินตนาการ ซึ่งแท้จริงแล้วฉากสำคัญหลายฉากในจดหมายเหตุสามก๊กเช่น ในปี พ.ศ. 776 ซึ่งเป็นปีเกิดของเฉินโซ่ว ภายหลังพระเจ้าเหี้ยนเต้สละบัลลังก์แล้ว ตระกูลของเฉินโซ่วรับราชการเป็นบริวารแก่จ๊กก๊กของพระเจ้าเล่าปี่ ซึ่งรวมทั้งเฉินโซ่วด้วย ซึ่งบันทึกทางประวัติศาสตร์รวมทั้งเรื่องราวการต่อสู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นการบันทึกโดยตันเซ็กบิดาของเขา

จดหมายเหตุสามก๊ก  
ส่วนหนึ่งของชีวประวัติเปาจิดจากจดหมายเหตุสามก๊ก
ผู้ประพันธ์เฉินโซ่ว (ตันซิ่ว)
ชื่อเรื่องต้นฉบับ三國志 (ซานกั๋วจื้อ)
ประเทศจีน
ภาษาจีนดั้งเดิม
หัวเรื่องประวัติศาสตร์ของยุคสามก๊ก
วันที่พิมพ์ศตวรรษที่ 3
จดหมายเหตุสามก๊ก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม三國志
อักษรจีนตัวย่อ三国志
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามTam quốc chí
ฮ้าน-โนม三國志
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
삼국지
ฮันจา
三國志
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ三国志
ฮิรางานะさんごくし
การถอดเสียง
โรมาจิSangokushi

ในปี พ.ศ. 806 แคว้นจ๊กก๊ก ที่ ตันซิ่ว หรือ เฉินโซ่วอาศัยอยู่ ได้ประกาศยอมแพ้ต่อแคว้นวุย ตันซิ่วและครอบครัวรวมทั้งชาวจ๊กก๊กคนอื่น ๆ จึงถูกนำตัวไปยังวุยก๊ก ขณะนั้นสุมาเจียว ซึ่งเป็นผู้ครองแคว้นวุยสิ้นพระชนม์ สุมาเอี๋ยนจึงเป็นผู้สืบทอดแคว้นต่อไปและสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนราชวงศ์วุย และแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าโจฮวนในปี พ.ศ. 808 ก่อนจะสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าจิ้นหวู่ตี้แห่งราชวงศ์ใหม่ ราชวงศ์จิ้นตะวันตก 15 ปีสืบต่อมา พระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ก็สามารถรวบรวมอาณาจักรสามก๊กให้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้

ตันซิ่วได้เขียนและรวบรวมหนังสือชุด "ชีวประวัติและผลงานของ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง" เมื่อเสนาบดีเตียวหัวได้อ่านแล้วก็ชื่นชอบมาก จึงนำขึ้นถวายให้พระเจ้าจิ้นหวู่ตี้ เมื่อทรงอ่านแล้วก็โปรดปรานและรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวของจูกัดเหลียง จึงมีบัญชาให้เรียกตัวตันซิ่วเข้าเฝ้า แล้วสั่งให้เขารวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสามก๊กอย่างละเอียด ตันซิ่วจึงเริ่มรวบรวมประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในสมัยที่พระเจ้าเลนเต้ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 711 ไปจนถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าจิ้นหวู่ตี้รวบรวมแผ่นดินจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวใน พ.ศ. 823 อย่างละเอียด เพื่อเอากลศึกสงครามต่าง ๆ ที่เกิดในยุคนี้ให้เป็นตำราสงครามให้แก่คนรุ่นหลัง สามก๊กฉบับแรกนี้มีชื่อว่า "ซานกั๋วจื้อ"[1]

อย่างไรก็ตาม ซานกั๋วจื้อ ก็มีอุปสรรคในการเขียนมาก และเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในฐานะของจดหมายเหตุราชสำนัก มีลักษณะเป็นบันทึกชีวประวัติบุคคลต่างๆ ในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จนสิ้นสุดยุคสามก๊ก เรื่องราวในซานกั๋วจื้อไม่ได้แพร่หลายมากนักในระยะแรก แต่ก็เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กฉบับแรกที่ถูกนักเขียนในรุ่นหลังนำมาใช้ค้นคว้า อ้างอิง จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์หมิง นักประพันธ์คนสำคัญคือ หลอกว้านจง (ล่อกวนตง) ก็ได้นำจดหมายเหตุสามก๊กมาใช้เป็นต้นแบบในการประพันธ์วรรณกรรมสามก๊ก ซึ่งต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง สองพ่อลูกนักประพันธ์คือ เหมาหลุน และ เหมาจงกัง ก็ได้นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้กระชับและสมบูรณ์ขึ้น จนกลายเป็นสามก๊กที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งก็คือต้นแบบของ วรรณกรรมสามก๊ก ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ นั่นเอง[1]

ประวัติการบันทึกจดหมายเหตุ แก้

ผู้เขียนบันทึกทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในยุคสามก๊กฉบับแรกคือตันซิ่วหรือเฉินโซ่ว เกิดในปีที่ 11 ศักราชเกี้ยนเฮ็งหรือในปี พ.ศ. 776 เชื่อว่า บิดาของตันซิ่ว คือตันเซ็ก ขุนพลของเล่าปี่ เคยมีผลงานช่วยเล่าปี่ทำศึกที่ฮันต๋ง และต่อมาติดตามขงเบ้งทำศึกปราบภาคเหนือ แต่ภายหลังตันเซ็กถูกขงเบ้งลงโทษและลดตำแหน่ง ตันซิ่วในวัยเด็ก ได้รับการศึกษาจากเจียวจิ๋ว โหราจารย์ในราชสำนักของจ๊กก๊ก ตันซิ่วเป็นคนฉลาดจึงเป็นที่ไม่พอใจของขันทีฮุยโฮ คนสนิทของพระเจ้าเล่าเสี้ยน ต่อมาในปี พ.ศ. 806 เตงงายแม่ทัพแห่งวุยก๊กได้ยกทัพเข้าโจมตีจ๊กก๊ก เป็นเหตุให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนต้องยอมสวามิภักดิ์และถูกควบคุมตัวไปยังวุยก๊ก

จุดเริ่มต้นสามก๊ก แก้

ตันซิ่วถูกต้อนจากเสฉวนไปยังวุยก๊กและถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับราชการในตำแหน่งขุนนางของวุยก๊ก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 808 สุมาเอี๋ยนโค้นล้มราชวงศ์วุยและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าจิ้นอู่ตี้แห่งราชวงศ์จิ้น เตียวหัวได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของตันซิ่วและแสดงความชื่นชมในผลงานการเขียน จึงได้เสนอให้พระเจ้าจิ้นอู่ตี้แต่งตั้งตันซิ่วในตำแหน่งเห่าเหนียม ต่อมาตันซิ่วได้มีโอกาสย้ายกลับมาเสฉวนอีกครั้งและได้พบกับเจียวจิ๋วผู้เป็นอาจารย์ที่กำลังล้มป่วย ตันซิ่วจึงเข้าช่วยเหลือด้วยการรับมอบเอกสารของจ๊กก๊กและสานต่อผลงานการเขียนประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กต่อจากเจียวจิ๋ว

ต่อมาตันซิ่วได้ย้ายไปเมืองลกเอี๋ยงและได้รับมอบหมายให้รวบรวมชีวประวัติและผลงานของขงเบ้ง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการรวบรวมถึง 5 ปีกว่าจึงเสร็จสิ้น จากนั้น เตียวหัว ขุนนางใหญ่ของจิ้นก๊กได้อ่านแล้วประทับใจมากจึงนำขึ้นถวาย พระเจ้าสุมาเอี๋ยน หรือ พระเจ้าจิ้นอู่ตี้ และได้รับความชื่นชมในเรื่องราวของขงเบ้งมาก ภายหลังตันซิ่วจึงได้รับหน้าที่ให้รวบรวมเอกสารและเขียนประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กด้วย

แต่การรวบรวมเอกสารเต็มไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากตันซิ่วในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ในช่วงแรกที่เริ่มเขียนงาน เขายังไม่ได้รับโอกาสให้แตะต้องจดหมายเหตุของราชสำนักวุยในหอสมุดหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งฝ่ายจ๊กก๊กก็ไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ ตันซิ่วจึงมีเพียงจดหมายเหตุของฝ่ายจ๊กก๊กที่ได้รับมอบมาจากเจียวจิ๋วผู้เป็นอาจารย์เท่านั้น ซึ่งในเวลานั้นทางง่อก๊กก็ยังไม่ยอมจำนนต่อจิ้นก๊กด้วย ทำให้ตันซิ่วใช้ระยะเวลาในการรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์มากกว่า 30 ปีจึงสำเร็จ จึงสามารถเขียนจดหมายเหตุสามก๊กได้เสร็จสิ้น

จดหมายเหตุสามก๊กนั้นมีความยาวทั้งสิ้น 65 เล่ม[2]

การเผยแพร่ต้นฉบับ แก้

เมื่อต้นฉบับของสามก๊กหรือจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่ว เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย กลับส่งผลกระทบต่อตันซิ่วอย่างมากมาย เนื่องจากทายาทของเหล่าขุนนางทางวุยก๊กที่มีตำแหน่งสูงในราชสำนัก ต่างก็มีความต้องการให้ตันซิ่วเขียนจดหมายเหตุสามก๊กในทำนองยกย่องและเชิดชูเหล่าบรรพบุรุษของวุยก๊ก แต่ตันซิ่วไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นการสร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่เหล่าขุนนางวุยก๊กเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วก็ได้รับการช่วยเหลือจากขุนนางและนายทหารผู้ใหญ่ของจิ้นก๊กคือ เตียวหัว และ เตาอี้

เตียวหัวและเตาอี้ได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าจิ้นอู่ตี้พิจารณาจดหมายเหตุสามก๊ก แต่กลับถูกคัดค้านอย่างหนักจากเหล่าขุนนางในราชสำนักที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่ว ทำให้การพิจารณาเรื่องต้องถูกระงับไป ตันซิ่วเห็นว่าจดหมายเหตุสามก๊กที่เขียนขึ้นนั้นทำให้สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยต่อตนเอง ประกอบกับต้นฉบับร่างสามก๊กนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากขาดข้อมูลจากฝ่ายง่อก๊กอีกเป็นจำนวนมาก จึงหลีกเลี่ยงในการนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายต่อพระเจ้าจิ้นอู่ตี้

ภายหลังในปี พ.ศ. 823 ซุนโฮแห่งง่อก๊กยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ ตันซิ่วจึงได้ทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขต้นฉบับร่างของจดหมายเหตุสามก๊กอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 841 ตันซิ่วก็เสียชีวิต รวมอายุได้ 65 ปี ซึ่งภายหลังจากที่ตันซิ่วเสียชีวิต จดหมายเหตุสามก๊กที่เขียนและเรียบเรียงโดยตันซิ่วกลับได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก ทำให้ขุนนางหลายคนได้ถวายหนังสือกราบทูลพระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้ ให้นำคนไปคัดลอกต้นฉบับจดหมายเหตุสามก๊กที่บ้านของตันซิ่ว หนังสือสามก๊กหรือจดหมายเหตุสามก๊กจึงเป็นที่รับรองของทางราชการ และได้เข้าไปอยู่ในหอสมุดหลวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[3]

การเพิ่มอรรถาธิบายของเผยซงจือ แก้

ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีเจ้ากรมอาลักษณ์ชื่อว่า เผยซงจือ (ไป่ซ่งจี๋) ได้ศึกษาจดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่ว และก็ได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติม รวมถึงเรียบเรียงและชำระเนื้อหาในจดหมายเหตุสามก๊กขึ้นใหม่

เผยซงจือ หรือ ไปซ่งจี๋ ได้วิจัยและวิเคราะห์สาเหตุและที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆ ค้นคว้าเพิ่มเติมจากจดหมายเหตุและบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงตำนานที่มีชื่อเสียง แม้กระทั่งเรื่องเล่า เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแต่มีความน่าเชื่อถือ แล้วนำมาเขียนแทรกเป็นอรรถาธิบายสำหรับอธิบายประกอบเสริมเข้าไปเพื่อประกอบการวิจารณ์ต่อข้อเขียนของตันซิ่ว มีทั้งส่วนที่สนับสนุนและคัดค้านบันทึกของตันซิ่วอย่างละเอียดและหลายแง่มุม หรือหากข้อไหนที่ไม่แน่ใจ เขาก็เขียนเป็นปลายเปิดไว้

ด้วยเหตุนี้ จดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วเฉินโซ่ว ที่ได้ไป่ซ่งจี๋ทำอรรถาธิบายเสริม จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กที่ครอบคลุมและมีข้อมูลอัดแน่นมากกว่าเดิม และเป็นแหล่งอ้างอิงที่ทำให้นักประพันธ์และนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังนำมาศึกษาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งข้อมูลอรรถาธิบายหลายอย่างของไป่ซ่งจี๋ ก็มีส่วนช่วยเสริมให้กับ ล่อกวนตง ในการแต่งวรรณกรรมสามก๊กในเวลาต่อมาด้วย[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ยศไกร ส.ตันสกุล. จดหมายเหตุสามก๊ก ฉบับเฉินโซ่ว, กรุงเทพฯ: ปราชญ์, 2556
  2. จดหมายเหตุสามก๊ก, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 11
  3. การเผยแพร่ต้นฉบับสามก๊ก, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 11
  4. ยศไกร ส.ตันสกุล. สารพันคำถาม เรื่องจริงหรือเสริมแต่งใน จดหมายเหตุสามก๊ก ฉบับเฉินโซ่ว, กรุงเทพฯ: สยามความรู้, 2560, หน้า 8

ข้อมูล แก้

  • Chen, Shou (1977) [280s or 290s]. Pei, Songzhi (บ.ก.). 三國志 [Records of the Three Kingdoms]. Taipei: Dingwen Printing.
  • de Bary, WM. Theodore (2001), Sources of Japanese Tradition, Columbia University Press
  • Cutter, Robert Joe (2015). "San guo zhi" 三國志. ใน Chennault, Cynthia L.; Knapp, Keith N.; Berkowitz, Alan J.; Dien, Albert E. (บ.ก.). Early Medieval Chinese Texts: A Bibliographical Guide. Berkeley, CA: Institute of East Asian Studies, University of California, Berkeley. pp. 250–57. ISBN 978-1-55729-109-7.
  • Three Kingdoms: A Historical Novel. แปลโดย Roberts, Moss. University of California Press. 1991. ISBN 0-520-22503-1.
  • Zhang, Xiuping; และคณะ (1993). 100 Books That Influenced China: Sanguo Zhi (ภาษาจีน). Nanning: Guangxi People's Press. ISBN 9787219023396.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้