ถนนสายไม้ หรือ ชุมชนประชานฤมิตร ตั้งอยู่ในซอยประชาราษฎร์ สาย 1 ซอย 24 และซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 5 (ประชานฤมิตร) ซึ่งเป็นซอยที่เชื่อมถนนประชาราษฎร์ สาย 1 กับถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ถนนสายไม้มีความยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 53 ไร่ ปัจจุบันถือเป็นแหล่งรวมเครื่องเรือนและชิ้นส่วนอุปกรณ์ไม้ต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีร้านไม้อยู่ประมาณ 200 ร้าน บริเวณริมถนนประชาราษฎร์ สาย 1 มีซุ้มประตูสูงใหญ่ สลักจากไม้ตะเคียนทอง เขียนตัวอักษรสีทองว่า "ประชาคมประชานฤมิตร"

ซุ้มประตูถนนสายไม้

ประวัติ

แก้

แต่เดิมนั้นบริเวณบางโพเป็นส่วนชานเมือง เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ส่วนในพระนครคือตัวเมืองซึ่งรับไม้มาจากทางภาคเหนือของไทย มีการตั้งโรงเลื่อยในเขตพระนครริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าพื้นที่ในพระนครนั้นคับแคบและการตั้งโรงงานนั้นสร้างมลพิษ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ย้ายออกจากเขตเมือง โรงเลื่อยจึงจำเป็นต้องย้ายกันออกมา[1] มีการตั้งโรงเลื่อยไม้หลายโรงเรียงรายกันอยู่ เริ่มตั้งแต่บางกระบือ บางอ้อ รวมถึงบางโพ โรงเลื่อยเหล่านี้จะแปรรูปไม้เป็นผลิตภัณฑ์แล้วนำส่งขายไปที่ย่านบางลำพู วัดสระเกศ และสะพานดำ แต่เนื่องจากไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ ร้านผลิตเครื่องเรือนต่าง ๆ ได้อพยพมาอยู่กันที่ซอยประชานฤมิตรซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดบางโพโอมาวาสในปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่นี้ยังว่างและอยู่ใกล้แหล่งผลิตและสะดวกในการขนส่ง

ในอดีตภายในซอยประชานฤมิตรมีสะพานไม้อยู่ 6 สะพาน ต่อมา พ.ศ. 2503 มีการปรับปรุงถนนจากถนนคันดินกว้าง 2 เมตร ขยายเป็นถนนกว้าง 8 เมตร มีการลาดยางถนน ตั้งชื่อว่า ถนนร่วมสุข[2]

พ.ศ. 2522 ชาวจีนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ วัดญวน สะพานขาว ถนนดำรงรักษ์ สะพานดำ วัดสระเกศ และบางลำพู ได้ย้ายมาอยู่ในซอยประชานฤมิตรและซอยไสวสุวรรณ ชาวจีนเหล่านี้ได้นำความรู้ด้านการแกะสลักเครื่องไม้ติดตัวมาด้วย จากเดิมชาวบ้านทำอาชีพทำไร่ทำสวนมาเป็นผลิตเครื่องเรือนไม้

พ.ศ. 2540 สำนักงานเขตบางซื่อเห็นว่าชุมชนนี้มีความพิเศษ จึงเข้าส่งเสริมเศรษฐกิจท้องที่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น จนมีการตั้งกิจกรรมนี้ว่า ถนนสายไม้ เมื่อ พ.ศ. 2542[3]

ปัจจุบันได้มีการขยายถนนสายไม้ไปสู่ซอยประชาราษฎร์ สาย 1 ซอย 28 และซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 13 (ไสวสุวรรณ) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ถนนสายไม้เส้นที่ 2[4]

อ้างอิง

แก้
  1. "บางโพ แหล่งขายไม้ใหญ่สุดในกรุงเทพฯ ที่มีกว่า 200 ร้านค้า จนได้ชื่อว่า "ถนนสายไม้"". urbancreature.co.
  2. กฤชภาพ แก้วจันดี. "การบริหารจัดการชุมชนย่านถนนสายไม้ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  3. "ผู้คนค้าขาย แผ่นไม้เล่าเรื่อง : ประชานฤมิตร ถนนสายไม้แห่งบางโพ". สารคดี.
  4. "ถนนสายไม้ (ซอยประชานฤมิตร)". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).