สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

อดีตสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก ช่อง TITV)

ทีไอทีวี (อังกฤษ: Thailand Independent Television ชื่อย่อ: TITV) เป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟเฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) ที่อยู่ในภายใต้การกำกับดูแลโดย กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ได้รับมอบอำนาจการออกอากาศจากกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบกและ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในสถานะหน่วยงานรูปแบบพิเศษ[1] (Service Delivery Unit - SDU) ตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยรับช่วงการออกอากาศ ต่อจาก สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ของ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานเดิม แต่ สปน.ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 หลังจากไม่สามารถชำระค่าสัมปทาน และค่าปรับผิดสัญญาคงค้างได้ทันตามกำหนดในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยแพร่ภาพออกอากาศทางช่อง 29 ในช่องสัญญาณเดียวกันกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้เริ่มดำเนินการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สถานีโทรทัศน์คลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟ ดำเนินการออกอากาศต่อโดยไม่มีการตัดสัญญาณภาพออกอากาศ

ทีไอทีวี
สำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์
ระบบ UHF เฉพาะกิจ
(หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ)
ตราสัญลักษณ์สุดท้ายก่อนยุติออกอากาศในเดือนมกราคม พ.ศ. 2551
ประเทศไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ
คำขวัญทีไอทีวี สื่อเสรีเพื่อสังคม
สำนักงานใหญ่เลขที่ 1010 อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
แบบรายการ
ระบบภาพ576ไอ (4:3 คมชัดปกติ/แพล)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
และ กรมประชาสัมพันธ์
บุคลากรหลักนพพร พงษ์เวช รักษาการ
ผู้อำนวยการสถานีฯ
ปราโมช รัฐวินิจ
นายสถานีฯ (พ.ศ. 2551)
ประวัติ
เริ่มออกอากาศ8 มีนาคม พ.ศ. 2550
ยุติออกอากาศ15 มกราคม พ.ศ. 2551 (0 ปี 313 วัน)
แทนที่โดยไทยพีบีเอส
(องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย)
ชื่อเดิมไอทีวี
ลิงก์
เว็บไซต์www.titv.in.th (ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว)
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
ไทย ยูเอชเอฟช่อง 29

ประวัติ

แก้

ในเบื้องต้น สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี จะถ่ายทอดโดยใช้สถานีส่ง และอุปกรณ์ ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งติดตั้งอยู่ที่อาคาร สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยยังคงใช้ผังรายการเดิมของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หลังจากนั้น จะมีการพิจารณาปรับผังรายการให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง [2] [3] แต่ในทางปฏิบัติ สถานียังคงดำเนินงานอยู่ที่ อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 และพนักงานในสถานีโทรทัศน์ทั้งหมด ล้วนเป็นพนักงานของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทันทีที่บริษัทถูกบอกเลิกสัญญาสัมปทานการบริหารสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟจากสปน.

สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีได้ดำเนินการออกอากาศมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งยุติการออกอากาศ เมื่อเวลา 00.08 น. ของวันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ภายหลังจากที่สถานีโทรทัศน์ได้ถูกโอนกิจการไปเป็นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เท่ากับว่า เป็นการสิ้นสุดลงของการเป็นสถานีโทรทัศน์เสรีในประเทศไทยที่ออกอากาศมาเป็นเวลาเกือบ 12 ปี ทั้งนี้นับรวมเวลาที่ไอทีวีออกอากาศอีกด้วย

ความเป็นมาของสถานี

แก้

สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 กำหนดว่าหากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานที่ค้างอยู่ทั้งสิ้น 2,210 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นจำนวนเงินรวม 464.5 ล้านบาท และค่าปรับกรณีทำผิดสัญญาเรื่องผังรายการอีกกว่า 97,760 ล้านบาทได้ ภายในวันที่ 7 มีนาคม ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จะดำเนินการยกเลิกสัญญาสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟโดยทันที ซึ่งภายหลังจากที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีท่าทีว่าจะไม่สามารถชำระเงินค่าสัมปทานค้างจ่าย และค่าปรับ เป็นจำนวนเงินรวมเกือบ 1 แสนล้านบาทได้นั้น คณะรัฐมนตรีจึงตัดสินใจที่จะยึดคืนสัมปทานจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและดำเนินการบริหาร สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ เป็นการชั่วคราว จำนวน 9 คน ประกอบไปด้วย

โดยคณะกรรมการบริหารชุดนี้ จัดประชุมเป็นนัดแรก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2550 และมีมติใช้ชื่อสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟนี้ว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (TITV-Thailand Independent Television) พร้อมทั้งหาข้อยุติเรื่องกฎหมาย และแผนดำเนินงานเข้าบริหารสถานีฯ ภายหลังการยกเลิกสัมปทาน ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 อีกด้วย[4] พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้แต่งตั้งให้ นายจีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีคนแรก

ในวันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติว่าหากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับ และค่าสัมปทานค้างจ่าย รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ภายใน 7 มีนาคม ได้ ให้ยุติการออกอากาศเป็นการชั่วคราว เพื่อส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า รัฐสามารถดำเนินการออกอากาศต่อเนื่องได้หรือไม่ และให้ดำเนินการยึดเครื่องส่งโทรทัศน์ยูเอชเอฟ มาเก็บรักษาไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์ในวันที่ 9 มีนาคม ด้วย ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรีนี้ ย่อมหมายความว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวีจะต้องยุติการออกอากาศ ทำให้ไม่มีสัญญาณออกอากาศผ่านทางช่องความถี่นี้ ส่งผลให้เกิด "จอดำ" ขึ้นทันที

หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี นายจตุรงค์ สุขเอียด ผู้แทนพนักงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ได้เข้ายื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินต่อศาลปกครอง เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีสามารถออกอากาศต่อไปได้ โดยศาลปกครองรับเรื่องไว้พิจารณา และจะให้มารับทราบผลการวินิจฉัย ในเวลา 13.00 น. วันที่ 7 มีนาคม ท่ามกลางการจับตาจากพนักงานของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และประชาชนว่าสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ และจะเกิดกรณี "จอดำ" ขึ้นหรือไม่

ปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ตีความข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ สามารถดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟต่อเนื่องไปได้ และในวันเดียวกัน ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยให้คุ้มครองฉุกเฉินสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ให้สามารถออกอากาศต่อไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ท่ามกลางความดีใจของพนักงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นอย่างมาก และตลอดทั้งวัน สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้ทำการนำเสนอรายการอดีตไอทีวี โดยเป็นรายการพิเศษเพื่อที่จะอำลาผู้ชม และเตรียมเปลี่ยนผ่านไปสู่ชื่อใหม่ของสถานีโทรทัศน์แห่งเดียวกัน

และแล้ว ในเวลา 00.00 น. ของคืนวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี จึงได้ฤกษ์ออกอากาศอย่างเป็นทางการ โดยมีรายการทีไอทีวี อัปเดต (TITV Update) ซึ่งผู้ประกาศข่าวในคืนนั้น คือ นายกฤต เจนพานิชการ เป็นรายการแรกหลังเปลี่ยนชื่อมาจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งออกอากาศต่อจากรายการอดีตไอทีวี อนึ่ง สถานีฯได้ใช้ที่ทำการเดิมของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งได้แก่ อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 และใช้พนักงานชุดเดิม จำนวน 853 คน ซึ่งเป็นอดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์เสียใหม่ เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ TITV ในแนวตรงทั้งหมด โดยให้ตัวอักษร T ตัวแรกเป็นสีขาวอยู่ภายในวงกลมสีแดง ในขณะที่ตัวหนังสือ ITV ใช้สีเทา อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้ว ลักษณะฉากรายการต่างๆ ของฝ่ายข่าว รวมไปจนถึงผังรายการทั้งหมดยังคงมีลักษณะเช่นเดียวกับของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิม

การดำเนินงาน และผลตอบรับ

แก้

การดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีตลอดระยะเวลาที่ออกอากาศนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากกลุ่มบุคคลบางส่วน ถึงความเหมาะสมในการดำเนินงาน โดยเฉพาะกลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นผู้นำ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ทั้งๆที่ไม่มีกฎหมายรองรับ รวมถึงการรับพนักงานทั้งหมดของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิมเข้าทำงานต่อ ทั้งๆที่พนักงานทั้งหมดนี้คือพนักงานจากบริษัทเอกชน แต่กลับได้รับเข้าทำงานต่อ ในลักษณะคล้ายคลึงกับการเป็นพนักงานลูกจ้างของรัฐ

และในช่วงหลังของการดำเนินงานสถานี เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ที่มีบางฝ่ายมองว่าการนำเสนอข่าวของสถานี เป็นไปในทางให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในช่วงใกล้การเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่มีบางฝ่ายมองว่าสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีนำเสนอข่าวไปในแนวทางสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ นายจอม เพชรประดับ ผู้ดำเนินรายการตัวจริง ชัดเจน เดินทางไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เพื่อเข้าสัมภาษณ์พิเศษกับพ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงที่กำลังจะใกล้ถึงการเลือกตั้ง ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม จนทำให้เทปการสัมภาษณ์นั้นถูกนายนพพร พงษ์เวช รักษาการผู้อำนวยการสถานีค้องสั่งระงับการออกอากาศไปอย่างไม่มีกำหนด และได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ แต่สุดท้ายแล้ว ทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ก็ยอมนำเทปการสัมภาษณ์พ.ต.ท.ทักษิณ ในรายการตัวจริง ชัดเจน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี

อย่างไรก็ดี การทำงานภายในสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีในช่วงแรก ไม่ราบรื่นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เพราะเนื่องจากในช่วงที่คณะรัฐมนตรีกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะหาวิธีการรองรับการทำงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีอย่างไร พนักงานทั้งหมดในสถานีนั้นต่างทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ส่งผลให้เริ่มมีพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีบางส่วนลาออกจากสถานีไม่ว่าจะเป็น กิตติ สิงหาปัด ที่ย้ายไปอยู่ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี, สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ที่ย้ายไปอยู่ทางช่อง 7 สี, ชัยรัตน์ ถมยา และ ประวีณมัย บ่ายคล้อย ที่ย้ายไปอยู่ทางช่องทีเอ็นเอ็น 24 เป็นต้น ทำให้เป็นที่จับตาว่าสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีจะสามารถดำรงอยู่ได้หรือไม่ แต่สุดท้ายแล้ว ทางคณะรัฐมนตรีก็ตัดสินใจที่จะรองรับการทำงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ด้วยการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) ภายใต้ชื่อสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ)[5] เพื่อรองรับการทำงานของสถานีเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ทำให้สถานการณ์ของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเริ่มดีขึ้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งหนึ่ง โดยมีการประชุมว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (พ.ศ.) (ในขณะนั้น) ซึ่งทางภาครัฐ ได้เสนอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำการลงมติการแปรสภาพเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ระหว่าง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) และสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งเป็น 2 กิจการสถานีโทรทัศน์ในการกำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในวาระที่ 2 ของการประชุม สรุปได้ว่าสมาชิก สนช. ได้ลงมติด้วยคะแนน 106 ต่อ 44 เสียง ให้ดำเนินการโอนกิจการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ตามความมาตรา 55 ของร่างที่คณะกรรมาธิการเป็นผู้นำเสนอในขณะนั้น จึงส่งผลทำให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีต้องแปรสภาพเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะในปี พ.ศ. 2551 โดยย้ายไปสังกัดที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย[6] ส่วน สทท.11 ในฐานะเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็ได้ทำการปรับปรุงภาพลักษณ์และเปลี่ยนชื่อเรียกโดยทั่วไปใหม่ว่า เอ็นบีที (National Broadcasting Services of Thailand)

ทว่าในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ทางกรมประชาสัมพันธ์โดยนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้ลงนามในคำสั่งโยกย้ายผู้บริหารฝ่ายข่าวจำนวน 11 คน [7] ซึ่งรวมถึงนายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว โดยแต่งตั้งให้ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อดีตบรรณาธิการฝ่ายข่าวของสำนักข่าว INN มาดำรงตำแหน่งแทน ส่งผลให้พนักงานฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีบางส่วน ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับคำสั่งแต่งตั้งนายสนธิญาณมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานี ซึ่งศาลปกครองได้ให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว [8]

คลื่นความถี่

แก้

โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีในระบบยูเอชเอฟ ในนามสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้น มีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ โดยทำสัญญาสัมปทานให้ บริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด (ภายหลังคือ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)) ดำเนินการจัดตั้งสถานีฯ ได้ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 และออกอากาศทางช่อง 26 มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539

ต่อมา ราวปี พ.ศ. 2542 ไอทีวีได้รับอนุญาตจาก สปน.ให้เปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณที่ออกอากาศ ในระบบยูเอชเอฟ จากช่อง 26 มาเป็นช่อง 29[ต้องการอ้างอิง] และในปีเดียวกัน ไอทีวีดำเนินการย้ายเสาส่งสัญญาณในส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร จากอาคารเอสซีบีปาร์คพลาซ่า , อาคารสินสาธร ทาวเวอร์ และ อาคาร เนชั่น ทาวเวอร์ มาอยู่ที่ อาคารใบหยก 2 แทน โดยไอทีวีดำเนินการแพร่ภาพนิ่ง เพื่อแจ้งให้ผู้ชมทราบการเปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณ และการย้ายเสาส่งของสถานีฯ ไว้ทางช่อง 26 พร้อมไปกับการแพร่ภาพออกอากาศตามปกติ ทางช่อง 29 ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ก่อนที่จะยุติการแพร่ภาพทางช่อง 26 อย่างสมบูรณ์ ในปีเดียวกัน และออกอากาศทางช่อง 29 เรื่อยมาจนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตามลำดับ ปัจจุบันช่อง 26 ในกรุงเทพมหานคร ถูกใช้งานโดยกรมประชาสัมพันธ์เพื่อแพร่ภาพในระบบดิจิทัล

อนึ่ง ไอทีวีเคยพักการออกอากาศทางสถานีฯ ตามเวลาปกติ ในช่วงเวลา 01.30 - 06.00 น. ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2543 โดยใช้ภาพทดสอบ ไม่มีเสียง

การโฆษณา

แก้

รายชื่อผู้อำนวยการสถานี

แก้

สีประจำสถานี

แก้

สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีใช้   สีแดง สลับ   สีขาวบ้าง   สีดำบ้าง เป็นสีประจำสถานีตั้งแต่เริ่มออกอากาศจนกระทั่งยุติออกอากาศ

เพลงประกอบรายการข่าว

แก้
  • ตลอดเวลาของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ได้ใช้ U-Phonix ของ Stephen Arnold เป็นเพลงประกอบรายการข่าวเกือบทุกช่วงข่าวของสถานี

การยุติการออกอากาศ

แก้

เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 หลังจาก พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มกราคมแล้ว[9] สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้มีหนังสือถึงกรมประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กรมประชาสัมพันธ์จึงได้ออกหนังสือคำสั่งที่ 25/2551 ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ยุติการออกอากาศ ตั้งแต่เวลา 00.08 น. ของวันดังกล่าว (ในหนังสือคำสั่งจริงได้ระบุไว้ว่าให้ยุติการออกอากาศในเวลา 24:00 น. ของวันที่ 14 มกราคม)[10] เพื่อให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ดำเนินการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (15 มกราคม) [11] ภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส ส่งผลต้องทำให้มีการหยุดการออกอากาศตามผังรายการเดิมและการส่งสัญญาณการออกอากาศจากอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 เป็นการชั่วคราว ด้วยเวลา 16 วัน โดยเปิดสถานีด้วยการออกอากาศนโยบายของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ จากนั้นเป็นสารคดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทั้งหมดส่งสัญญาณจากอาคารที่ทำการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่[12]

โดยในคืนของวันที่ 14 มกราคม เวลา 23:45 น. มีการออกอากาศข่าวด่วนของทีไอทีวี เพื่อเตรียมอำลาผู้ชม โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี และ นางสาวศศิวรรณ์ เลิศวิริยะประภา เป็นผู้ประกาศ และปิดรายการด้วยมิวสิกวีดีโอเพลง "คำสัญญา" ร้องโดย วงอินโดจีน โดยเริ่มต้นด้วยภาพฉากแรกของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และภาพความทรงจำตลอดยุคสมัยของไอทีวีและทีไอทีวี

ระหว่างนั้น ในคืนวันเดียวกัน ตวงพร อัศววิไล บรรณาธิการข่าวประจำวัน ผู้แทนฝ่ายข่าวทีไอทีวี ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ให้ดำเนินคดีกับปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในความผิดฐานใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการออกคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตรายการและพนักงาน อีกทั้งการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ เป็นกิจการสาธารณะ จำเป็นต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางแล้ว จึงถือว่าเป็นการกระทำเกินอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์[13]

โดยหลังจากการประชุมของผู้บริหารฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี มีมติให้ยื่นขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในช่วงเช้าวันที่ 15 มกราคม ด้วย จากนั้น อลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว เป็นผู้แทนผู้บริหาร กล่าวกับพนักงานว่า ในวันที่ 15 มกราคม ขอให้พนักงานทุกคนเข้าทำงานตามปกติ แต่ให้งดการใช้กล้องวิดีโอและอุปกรณ์ต่างๆ และรอการตัดสินของคณะกรรมการชั่วคราว ที่คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งในวันรุ่งขึ้น ขณะที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งห้ามพนักงานทีไอทีวีเข้ามาภายในสำนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (ซึ่งหลังจากนี้ก็ได้กลายเป็นชื่อเดิมของสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 มิฉะนั้น จะแจ้งข้อหาบุกรุก[14]

เวลาประมาณ 01.00 น. คืนวันที่ 15 มกราคม มีประชาชนประมาณ 50 คน เดินทางมาให้กำลังใจกับสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ที่ลานจอดรถหน้าอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 โดยมีอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ให้การต้อนรับ พร้อมชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ราว 30 นาย เข้ารักษาการณ์ในบริเวณอาคาร[15]

ผู้แทนพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เดินทางไปยังศาลปกครอง เพื่อยื่นคำร้อง ขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 25/2551 ดังกล่าว โดยศาลได้นัดไต่สวนฉุกเฉิน ในวันที่ 16 มกราคม เวลา 13.30 น.[16] ซึ่งการไต่สวนเสร็จสิ้นลง เมื่อเวลา 17.00 น. ทั้งนี้ ศาลได้นัดรับคำพิพากษาทางโทรสาร ในช่วงบ่ายวันที่ 17 มกราคม แต่เมื่อถึงเวลา ทางศาลขอเลื่อนการส่งคำพิพากษาไปเป็นเวลา 16.00 น.[17] ที่สุดผลปรากฏว่า ศาลพิจารณาให้ยกคำร้องคุ้มครองฉุกเฉิน[18][19]

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม ผู้บริหารทีไอทีวีได้นัดประชุมอีกครั้ง โดยมีมติให้ส่งตัวแทนเข้าพบคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พร้อมยื่นหนังสือสอบถามถึงการรับพนักงานทีไอทีวีกลับเข้าทำงาน รวมทั้งใบสมัครของพนักงานให้พิจารณาด้วย[20] ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ทางองค์การฯ ได้ประกาศรับพนักงานของทีไอทีวีเพียง 274 คน จาก 399 คน ซึ่งรวมถึงทีมข่าวกีฬาชุดเดิมของทีไอทีวีเข้าทำงานในลักษณะของพนักงานชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน และหากประสงค์เข้าทำงานถาวรกับทางองค์การฯ ก็จะต้องยื่นใบสมัครเข้าทำงานเช่นเดียวกันกับผู้สมัครเป็นพนักงานขององค์การฯ โดยทั่วไปเช่นกัน

ดังนั้น ในที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ไปสู่การเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ คือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จึงนับเป็นการสิ้นสุดลงของการเป็นสถานีโทรทัศน์เสรีในประเทศไทย ซึ่งมีมานานเกือบ 12 ปี ภายใต้คลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟ (UHF) ที่เป็นความถี่เดียวกัน และเครื่องส่งโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ช่อง 26 และช่อง 29 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยออกอากาศในนามของไอทีวี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539

การเปลี่ยนแปลงสู่ไทยพีบีเอส

แก้

ไทยพีบีเอส ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 00:08 น. โดยรับช่วงการออกอากาศต่อจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งในวันนั้น เป็นวันสถาปนาขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ โดยองค์การฯ ได้รับโอนกิจการทีไอทีวี ของกรมประชาสัมพันธ์ มาดำเนินการต่อด้วย และเป็นผลทำให้ทีไอทีวีต้องหยุดการออกอากาศตามผังรายการและสัญญาณของสถานีฯเองทั้งหมด พร้อมกับเชื่อมต่อรับสัญญาณชั่วคราวเพื่อดำเนินการทดลองการออกอากาศจากอาคารเอ็นบีที 2 เอชดี ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์และเอ็นบีทีเวิลด์) เป็นเวลา 16 วัน และกลับมาออกอากาศโดยสัญญาณของสถานีเองอีกครั้ง ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนกระทั่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จึงได้เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในเวลา 05:00 น.

อ้างอิง

แก้
  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้แปลงสภาพภารกิจการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) พ.ศ. ๒๕๕๐
  2. อธิบดีกรมประชาฯยันช่อง11 พร้อมให้ไอทีวีออกอากาศ เก็บถาวร 2007-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจากกรุงเทพธุรกิจ
  3. ไอทีวีจอไม่มืดศาลสั่งคุ้มครอง ยกเค้าบ้านผู้ประกาศข่าวสาว ข่าวจากคมชัดลึก
  4. สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (TITV-Thailand Independent Television)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้แปลงสภาพภารกิจการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ ให้แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เฉพาะกิจ(หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) พ.ศ. 2550
  6. สนช.ผ่านร่างโอนทีไอทีวีสาธารณะ มติเสียงข้างมาก 99 เสียง จากเว็บไซต์ MGR Online เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 (สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563)
  7. ฟ้าผ่า 'ทีไอทีวี' เด้งผอ. ตั้ง 'สนธิญาน' นั่งแทน ไทยรัฐออนไลน์ 21 ธันวาคม 2550 19:27
  8. ศาลปค.สั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับคำสั่งตั้งสนธิญาณ ไทยรัฐออนไลน์ 7 มกราคม 2551 19:15
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๘ก, ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑
  10. คำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่ 25/2551 เรื่อง ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เก็บถาวร 2008-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เดลินิวส์ออนไลน์ 14 มกราคม 2551 21:01 น.
  11. ปิดฉากทีไอทีวีคืนนี้ เชื่อมสัญญาณช่อง 11 เก็บถาวร 2008-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ไทยรัฐออนไลน์ 14 มกราคม 2551 21:41 น.
  12. อปส.ยืนยัน หลังเวลา 24.00 น.เป็นต้นไป ทีไอทีวีจะต้องออกอากาศรายการสารคดี ที่ผลิตจาก กปส.[ลิงก์เสีย] สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 14 มกราคม 2551
  13. อดีต พนง.ทีไอทีวี แจ้งความดำเนินคดี ‘ปราโมช’ ไทยรัฐออนไลน์ 15 มกราคม 2551 12:38 น.
  14. รอดูท่าที 5 กรรมการชั่วคราว คนทีไอทีวีน้ำตาพราก ไทยรัฐออนไลน์ 15 มกราคม 2551 00:32 น.
  15. คนแห่ให้กำลังใจทีไอทีวี ปักหลักอยู่หน้าตึกชินฯ3 ไทยรัฐออนไลน์ 15 มกราคม 2551 05:24 น.
  16. ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉิน ทีไอทีวี พรุ่งนี้ ไทยรัฐออนไลน์ 15 มกราคม 2551 20:27 น.
  17. ศาลเลื่อนชี้ชะตา “ทีไอทีวี” 4 โมงเย็นลุ้นกันอีกรอบ ไทยรัฐออนไลน์ 17 มกราคม 2551 14:01 น.
  18. ศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครอง พนง.ทีไอทีวีสุดวังเวง ไทยรัฐออนไลน์ 17 มกราคม 2551 19:51 น.
  19. คำสั่งศาลปกครองกลาง เรื่อง คำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 70/2551[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์ศาลปกครอง
  20. พนง.ทีไอทีวีตื๊อ 5 อรหันต์ ส่งตัวแทนถกขอกลับเข้าทำงาน ไทยรัฐออนไลน์ 18 มกราคม 2551 08:16 น.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ถัดไป
สถานีโทรทัศน์ไอทีวี
(1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2550)
  สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี
(8 มีนาคม พ.ศ. 2550 - 15 มกราคม พ.ศ. 2551)
  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
(15 มกราคม พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน)