ชุดไทยพระราชนิยม

ชุดไทยพระราชนิยม เป็นชุดที่ประกอบด้วยเครื่องแต่งกายอย่างชุดไทย ออกแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติในงานพิธีทางการ

ชุดชาย แก้

เสื้อพระราชทาน แก้

เสื้อพระราชทาน เป็นเสื้อที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างตัดฉลองพระองค์ ได้แก่ ชูพาสน์ ชูโต, พิชัย วาศนาส่ง และสมภพ หลุยลาภประเสริฐ ออกแบบให้เป็นเครื่องแบบประจำชาติในปี 2522 จากนั้นโปรดให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่งเสื้อดังกล่าวเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สาธารณชน[1][2] จนภาพจำของพลเอกเปรมมักคู่กับเสื้อพระราชทานนี้เสมอ ต่อมามีการประยุกต์และมีการแต่งกายด้วยเสื้อแบบนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักการเมืองและข้าราชการในวาระสำคัญต่าง ๆ บ้างก็แต่งในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส

เสื้อพระราชทานนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับเสื้อราชปะแตนซึ่งเป็นเสื้อที่มีมาก่อนโดยได้รับการประยุกต์จากเสื้อคลุมเนห์รูของอินเดีย แต่มีความต่างที่วัสดุในการตัดเย็บที่มีความหลากหลายกว่า[3] เสื้อพระราชทานมีลักษณะคอเสื้อตั้งอย่างแมนดารินสูง 3.5 ถึง 4 เซนติเมตร และเรียวคอเสื้อเข้าสาบอก ขลิบรอบคอ สาบอก แขนเสื้อหรือรอยพับแขนเสื้อ กระดุมกลมแบน 5 เม็ดคลุมด้วยผ้าหรือวัสดุที่ใกล้เคียงกับสีและเนื้อผ้า มักเจาะกระเป๋าบนเสื้อที่แนวเหนือกระดุมเม็ดล่างสุดเล็กน้อย ข้างละ 1 กระเป๋า กระเป๋านอก 2 กระเป๋า กระเป๋าด้านบนตรงอกซ้าย 1 กระเป๋า หรืออาจมีมากกว่าหรือไม่มีเลยก็ได้ ตัวเสื้อมีทั้งแบบแขนสั้น แบบแขนยาว และแบบแขนยาวผูกเอว เสื้อแบบแขนยาวโดยมากจะเย็บแขนเสื้อทาบด้วยผ้าแบบและสีเดียวกันกับตัวเสื้อกว่างประมาณ 4 ถึง 5 เซ็นติเมตรเริ่มจากด้านในอ้อมด้านหน้าไปสุดเป็นปลายมนด้านหลังแขนเสื้อ และชายเสื้ออาจผ่ากันตึงหรือมีเส้นรอยตัดต่อมีหรือไม่มีก็ได้ สวมกับกางเกงขายาว[4]

ชุดหญิง แก้

 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี

เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐและหลายประเทศในทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2503 พระองค์ทรงคำนึงและมีพระราชดำริว่าควรจะจัดให้สร้างสรรค์เครื่องแบบประจำชาติให้เป็นไปตามประเพณีอันดีงาม พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายของเจ้านายฝ่ายในในอดีต และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ จากนั้นทรงโปรดให้ปรับปรุงพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย มีรูปแบบที่หลากหลายถึง 8 ชุด ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ์ และชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงใช้ในโอกาสต่าง ๆ และพระราชทานแบบให้แก่บุคคลใกล้ชิดได้สวมใส่ จนต่อมาเป็นที่รู้จักและใช้ในวงกว้าง[5][6]

ชุดไทยจักรี แก้

ชุดไทยจักรี ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นชุดที่มีความเป็นทางการและมีความสง่างาม โดยปกติ ชุดนี้ทอด้วยวิธีการยกเพื่อให้ชุดมีความหนาโดยไม่ต้องเสริมด้าย มักจะเสริมด้วยด้ายสีทองหรือสีเงินเพื่อเสริมให้เนื้อผ้ามีความสง่างามยิ่งขึ้น ห่มสไบ และสวมกับซิ่นจีบหน้านาง

ชุดไทยบรมพิมาน แก้

 
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน

ชุดไทยบรมพิมาน ตั้งชื่อตามพระที่นั่งบรมพิมาน เป็นอีกชุดที่มีความเป็นทางการและมักใช้ในงานช่วงเย็นหรืองานพิธีสำคัญ ประกอบด้วยเสื้อแขนยาว อาจมีกระดุมกลัดติดเสื้อที่ด้านหน้าหรือหลังก็ได้ ตัวเสื้อจะสวมกับซิ่นผูกจีบหน้านาง ผ้าจะถักเพิ่มด้วยไหมทองเพื่อสร้างรูปลักษณ์และความรู้สึกที่มีความหรูหรา คอเสื้อมีลักษณะกลมแนบไปกับคอ นุ่งซิ่นยาวถึงข้อเท้า ตัวชุดตัดเย็บให้มีความกลมกลืนและทำให้ผู้สวมใส่แลดูสูงโปร่งและสมส่วน มักสวมใส่ในพิธีทางการหรือกึ่งทางการก็ได้ นอกจากนี้อาจประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

ชุดไทยดุสิต แก้

ชุดไทยดุสิต ตั้งชื่อตามพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตัวเสื้อไม่มีแขน คอหน้า-หลังคว้านกว้าง ผ่าหลัง ปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อม มีลวดลายสวยงาม ทอจากผ้ายกไหมหรือยกทอง ใช้ในงานพระราชพิธีตอนค่ำที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ

ชุดไทยศิวาลัย แก้

ชุดไทยศิวาลัย ตั้งชื่อตามพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นอีกชุดที่มีความเป็นทางการและมักใช้ในงานช่วงเย็นหรืองานพิธีสำคัญ มีลักษณะคล้ายกับชุดไทยบรมพิมาน เพียงแต่จะมีการห่มสไบเฉียงเหนือไหล่ด้วย

ชุดไทยจักรพรรดิ แก้

ชุดไทยจักรพรรดิ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นชุดไทยที่มีผ้าคลุมคล้ายชุดไทยจักรี แต่มีความอนุรักษนิยมสูงกว่า จึงมักใช้ในพิธีที่มีความเป็นทางการสูง ส่วนบนมีสไบปักที่มีคววามหนาคลุมทับไหล่ มักจะสวมในพระราชพิธีหรือรัฐพิธีที่สำคัญ

ชุดไทยอมรินทร์ แก้

ชุดไทยอมรินทร์ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย เป็นชุดเหมาะสำหรับงานช่วงเย็น ทอจากผ้าที่มีลักษณะเงางาม ผู้สวมใส่ชุดนี้ไม่ต้องสวมเข็มขัด ตัวเสื้อสร้างตัดให้ตัวเสื้อกว้างและรอบคอกลมรอบพอดีกับผู้สวมใส่ แขนเสื้อจะตัดให้แขนสั้นเพียงข้อศอกหรือยาวถึงข้อมือก็ได้ ชุดนี้มีความงามที่ตัวเนื้อผ้าและเครื่องประดับ โดยมักมักสวมในงานพิธีเลี้ยงอาหารเย็นหรือพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษา ทั้งนี้มักจะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

ชุดไทยจิตรลดา แก้

ชุดไทยจิตรลดา ตั้งชื่อตามพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ใช้ในงานพิธีช่วงกลางวัน เสื้อทักด้วยไหม แขนยาว ผ่าอกตลอด มีกระดุมเงิน ทอง หรือกระดุมที่กลืนกับผืนผ้า 5 กระดุม ปลายเสื้อคลุมรอบท่อนต้นของซิ่นมักแต่งในงานพิธี เช่น งานพระราชพิธีต่างๆ รับประมุขจากต่างประเทศที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ชุดไทยเรือนต้น แก้

ชุดไทยเรือนต้น ตั้งชื่อตามเรือนต้น เป็นชุดที่มีความลำลองที่สุดในบรรดาชุดไทยพระราชนิยม ใช้ผ้าไหมมีลายริ้ว ตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงซิ่น ยาวจรดข้อเท้า ตัวเสื้อแขนยาวถึงข้อมือและผ่าอกตลอด เหมาะสำหรับงานที่ไม่เป็นพิธีการ หรือในโอกาสปกติและต้องการความเรียบง่าย เช่น งานบุญ

บัญชีมรดกทางวัฒนธรรม แก้

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ชุดไทยพระราชนิยมเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ร่วมกับ ประเพณีแห่พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ งานปีผีมด ประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย และประเพณีจุดไฟตูมกาออกพรรษายโสธร นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ความเห็นในการเตรียมเสนอ ชุดไทยพระราชนิยม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อยูเนสโก ในปี 2567 ร่วมกับประเพณีลอยกระทง และรายการมวยไทย โดยให้ศึกษาจัดทำข้อมูล ก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป[7]

ดูเพิ่มเติม แก้

  วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
  พิธีเปิดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 ภาพจากเอ็นบีที พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ราชปะแตน ต้นแบบเสื้อพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีทรงฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิต

อ้างอิง แก้

  1. หลุยลาภประเสริฐ, สมภพ (ธันวาคม 2550). "ช่างตัดฉลองพระองค์". รีดเดอร์ส ไดเจสท์ ฉบับภาษาไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2012. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.
  2. "วธ.เตรียมรื้อใส่เสื้อพระราชทาน". บ้านเมือง. 13 มกราคม 2550. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 July 2011. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.
  3. GQ Thailand (17 มิถุนายน 2559). "ชุดราชปะแตน เหตุใดคนไทยทึกทักเอาว่าเป็นของตน?". GQ Thailand. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ชุดไทยพระราชนิยม (Chut Thai Phra ratcha niyom)". Ministry of Culture website. Ministry of Culture. 3 February 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 January 2010. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.
  5. "สารคดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ตอนที่ 40". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-12. สืบค้นเมื่อ 10 June 2010.
  6. "ประวัติ ชุดไทยพระราชนิยม ชุดประจำชาติ การแต่งกาย ความภูมิใจในความเป็นไทย". ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เลย กรมหม่อนไหม. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ขึ้นบัญชี 18 รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติ ปี66 ‘ข้าวหมูแดงนครปฐม’ ติดโผ