แผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึก หรือ ชีทที่ระลึก (อังกฤษ: souvenir sheet หรือ miniature sheet) เป็นแผ่นแสตมป์อย่างหนึ่ง มีขนาดเล็ก ออกมาสำหรับการสะสมโดยเฉพาะ รอบ ๆ แสตมป์มักมีการพิมพ์ภาพหรือรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อความสวยงาม

ชีทที่ระลึกแบบปรุรู
ชีทที่ระลึกแบบไม่ปรุรู

การจัดเรียงแสตมป์บนชีทที่ระลึกมีมากมายหลายรูปแบบ เช่น

  • มีแสตมป์เพียงหนึ่งดวง
  • มีแสตมป์แบบเดียวสองหรือสี่ดวง
  • มีแสตมป์หลายแบบ แบบละดวงในแผ่นเดียวกัน ดังรูปตัวอย่างทางขวามือ

แสตมป์ในชีทที่ระลึกอาจมีการปรุรู (perforated) หรือไม่ปรุรู (imperforated) ก็ได้ และหลายครั้งมีการออกชีทที่ระลึกทั้งแบบปรุรูและไม่ปรุรูพร้อมกัน

ชีทที่ระลึกสามารถนำมาใช้ได้จริงทางไปรษณีย์ โดยการติดทั้งแผ่นลงบนซอง หรือ ฉีกเอาแสตมป์ออกมา กรณีที่เป็นแบบปรุรู (แต่สูญเสียคุณค่าการสะสมไป) แต่มูลค่าที่ส่ง จะเท่ากับราคาทั้งหมดบนหน้าดวงแสตมป์เท่านั้น ปกติไปรษณีย์จะจำหน่ายชีทที่ระลึกในราคาที่สูงกว่าราคาหน้าดวงทุกดวงในแผ่นรวมกัน

หลายครั้งที่แสตมป์หมดจากไปรษณีย์ แต่ชีทที่ระลึกของชุดเดียวกันยังมีจำหน่าย พ่อค้าขายแสตมป์อาจซื้อชีทที่ระลึกมาฉีกแยกและขายเหมือนแสตมป์ธรรมดา แต่ก็มีหลายชุดที่รายละเอียดบนแสตมป์จริงกับแสตมป์ที่ฉีกจากชีทต่างกันจนเป็นที่สังเกตได้ เช่น ขนาดของฟันแสตมป์ หรือ แนวของลายน้ำ ทำให้แสตมป์ที่ฉีกมาดังกล่าวมีคุณค่าต่อการสะสมต่ำ

ชีทที่ระลึก ถือเป็นของสะสมเกี่ยวข้องกับแสตมป์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในประเทศไทย ในแต่ละชุดมักมีจำนวนพิมพ์ชีทที่ระลึกอยู่ที่หลักแสน ในขณะที่จำนวนพิมพ์แสตมป์อยู่ที่หลักล้านดวง ส่วนของสะสมอื่น ๆ เช่น ซองวันแรกจำหน่ายผลิตจำนวนเพียงหลักหมื่นเท่านั้น

แผ่นตราไปรษณียากรพิเศษ

แก้

แผ่นตราไปรษณียากรพิเศษ หรือที่นิยมเรียกว่า ชีทพิมพ์ทับ เป็นชีทที่ระลึกแบบหนึ่ง ซึ่งนำไปจำหน่ายตามงานต่าง ๆ ซึ่งมีไปรษณีย์หรือตัวแทนไปเปิดร้าน แทนที่จะออกแบบแสตมป์และชีทชุดใหม่ ก็พิมพ์โดยเอาแบบของชีทที่ระลึกของแสตมป์ที่เคยออกมาแล้ว มาเพิ่มตราสัญลักษณ์ของงานเข้าไป

สำหรับของไทย งานต่าง ๆ ที่ทำชีทนี้ มักเป็นงานที่จัดในต่างประเทศ แต่นักสะสมแสตมป์สามารถรับชีทดังกล่าวโดยการสมัครสมาชิกบัญชีเงินฝากและมีคำสั่งรับแผ่นตราไปรษณียากรพิเศษ จะได้ชีทคนละใบ โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือซื้อจากร้านค้าในราคาที่สูงกว่า

อ้างอิง

แก้