ชนอลามันน์

(เปลี่ยนทางจาก ชาวอลามานนิ)

ชนอลามันน์ (อังกฤษ: Alamanni) หรือ ชาวชวาเบิน (อังกฤษ: Swabians) เดิมเป็นกลุ่มสหพันธ์ของกลุ่มชนเจอร์แมนิกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำไมน์ในประเทศเยอรมนีปัจจุบัน หลักฐานแรกที่กล่าวถึงชนกลุ่มนี้มาจากบันทึกถึงชน "อลามันนิคุส" (ละติน: Alamannicus) ที่สรุปกันว่าเขียนโดยจักรพรรดิคาราคัลลาผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันระหว่างปี ค.ศ. 211 ถึงปี ค.ศ. 217 ที่อ้างว่าเป็นฝ่ายที่ได้รับการพ่ายแพ้ในยุทธการ[1] ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างอลามันน์และจักรวรรดิโรมันเดิมไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่เป็นความสัมพันธ์ในทางรุกราน เมื่ออลามันน์เข้าโจมตีจังหวัดโรมันเจอร์มาเนียเหนือ (Germania Superior) ทุกครั้งที่ได้โอกาส โดยทั่วไปแล้วอลามันน์ก็เอาตัวอย่างของชนแฟรงค์ในการโจมตีจังหวัดโรมัน ซึ่งมีผลทำให้หยุดยั้งการคืบเข้ามาบริเวณทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำไรน์ตอนใต และในที่สุดก็เข้าโจมตีจังหวัดโรมันเจอร์มาเนียใต้ (Germania Inferior)

บริเวณที่ตั้งถิ่นฐานของอลามันน์และสมรภูมิของสงครามโรมัน-อลามันน์ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 แม่น้ำไรน์กลายเป็นเขตแดนระหว่างโรมันกอลและดินแดนเจอร์มาเนีย ชนเจอร์แมนิก, เคลต์ และชนเผ่าผสมเค้ลต์-เจอร์แมนิกตั้งถิ่นฐานอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำไรน์ โรมันแบ่งดินแดนนี้ออกเป็นสองเขต “เจอร์มาเนียเหนือ” ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำ และ “เจอร์มาเนียใต้” ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำไรน์

เจอร์มาเนียเหนือรวมบริเวณระหว่างตอนบนของแม่น้ำไรน์และตอนบนของแม่น้ำดานูบ โรมันเรียกบริเวณนี้ว่า “Agri Decumates” ที่ไม่ทราบที่มาของชื่อ นักวิชาการบางท่านก็แปลว่า “ดินแดนสิบตำบล” (the ten cantons)[2]แต่จะเป็นตำบลของผู้ใดก็ไม่เป็นที่ทราบ

บริเวณนอกจักรวรรดิโรมันของเจอร์มาเนียเหนือเรียกว่า “พรมแดนเจอร์แมนิกัส” (Limes Germanicus) ฝ่ายอลามันน์มักจะข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีเจอร์มาเนียเหนือและคืบต่อไปยังบริเวณ “ดินแดนสิบตำบล” ในบริเวณป่าดำ สหพันธ์กลุ่มอลามันน์เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอัลซาซในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และขยายตัวต่อไปยังที่ราบสูงสวิส (Swiss Plateau) และบางส่วนของบริเวณบาวาเรียและออสเตรียปัจจุบัน และไปถึงหุบเขาในบริเวณเทือกเขาแอลป์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8

จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ออกัสตา” (Historia Augusta) สหพันธ์อลามันน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ยังเรียกตนเองว่า “เจอร์มานิ” (Germani) โพรคิวลัสผู้พยายามโค่นราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 280 ได้รับชื่อเสียงในกอลจากการได้รับชัยชนะโดยใช้วิธีต่อสู้แบบสงครามกองโจรต่ออลามันน์[3] หลังจากนั้นอลามันน์ก็ก่อตัวเป็นชาติอลามานเนีย (Alamannia) ที่บางครั้งก็เป็นอิสระจากแฟรงค์ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ภายใต้การปกครองของแฟรงค์ คำที่เรียกชาวเยอรมันและภาษาเยอรมันในภาษาฝรั่งเศสคือคำว่า “Allemagned” และ “Allemand”, ภาษาโปรตุเกส “Allemagned” และ “Alemão” และ ภาษาสเปน “Alemania” และ “Alemán” ที่ต่างก็มีรากมาจากชื่อที่ใช้เรียกชนเยอรมันสมัยแรก ภาษาเปอร์เชียและอาหรับก็เรียกชนเยอรมันว่า “Almaani” และประเทศเยอรมนีว่า “Almaania” ในภาษาตุรกี “Alman” สำหรับภาษา และ “Almanya” สำหรับประเทศ

อาณาบริเวณของอลามันน์มักจะแผ่ขยายอย่างกว้างไกลที่ทำให้มีชนเผ่าที่มาจากที่มาต่างๆ กัน ในสมัยยุคกลางตอนต้นอลามันน์แบ่งระหว่างอาณาจักรสังฆราชแห่งสตราสบวร์กที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 614, ดินแดนของอาณาจักรสังฆราชแห่งออกสเบิร์กที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 736, อาณาจักรสังฆราชแห่งไมนทซ์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 745 และ อาณาจักรสังฆราชแห่งบาเซิลที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 805 กฎหมายของอลามันน์ได้รับการบัญญัติในรัชสมัยของชาร์เลอมาญในฐานะอาณาจักรดยุคแห่งอลามานเนียในชวาเบีย ในปัจจุบันผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากอลามันน์ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน: ฝรั่งเศส (อัลซาซ), เยอรมนี (ชวาเบียและบางส่วนของบาวาเรีย), สวิตเซอร์แลนด์ และ ออสเตรีย ภาษาเยอรมันที่ใช้พูดกันในบริเวณนี้ก็มีลักษณะที่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

อ้างอิง แก้

  1. Johann Jacob Hofmann, Lexicon Universale, Leiden 1698, "Alamannicus".
  2. Roman decem, "ten".
  3. "He was, nevertheless, of some benefit to the Gauls, for he crushed the Alamanni — who then were still called Germans — and not without illustrious glory, though he never fought save in brigand-fashion".

ดูเพิ่ม แก้