ชะเอม แก้วคล้าย

นายชะเอม แก้วคล้าย (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485) เกิดที่บ้านหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกอักษรโบราณ ภาษาไทย ภาษาบาลีสันสกฤต และพุทธศาสนา มีผลงานการอ่านและแปลจารึกที่พบในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤต ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ยังมีผลงานด้านภาษาและจารึกอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและภาษาบาลีสันสกฤต

การศึกษา แก้

นายชะเอม แก้วคล้าย เข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหารเทา ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จนจบหลักสูตรเมื่อ พ.ศ.2499 จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และศึกษาจนจบหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก เมื่อ พ.ศ. 2501

หลังจากนั้นเมื่อ พ.ศ.2508 ได้ศึกษาภาษาบาลี จนจบระดับเปรียญธรรม 6 ประโยค ที่วัดคูหาสวรรค์ ในจังหวัดพัทลุง แล้วได้เดินทางเข้าศึกษาที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร จนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อ พ.ศ. 2512

ขณะครองสมณเพศ ท่านได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา จนได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาปรัชญาศาสนา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2516 แล้วเดินทางไปศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิต สาขาภาษาสันสกฤตและจารึก ที่มหาวิทยาลัยบาโรดา ประเทศอินเดีย จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2520

การทำงาน แก้

เมื่อจบการศึกษา ท่านได้ลาสิกขาบท และเข้าทำงานที่กรมศิลปากร ในตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ โดยได้ทำงานด้านการอ่านจารึกโบราณที่พบในประเทศไทย และแปลจารึกภาษาบาลีและสันสกฤต มาโดยตลอด

ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ นายชะเอม แก้วคล้ายได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีจนได้รับการยกย่อง และได้รับเกียรติบัตรข้าราชการดีเด่น ของกรมศิลปากร และของกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นระยะ ตั้งแต่ พ.ศ.2526 รวมทั้งสิ้นถึง 7 ครั้ง และได้รับเกียรติบัตรข้าราชการตัวอย่างของกระทรวงศึกษาธิการสองปีซ้อน (พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2532) ทั้งนี้ได้เกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2545 ขณะดำรงตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ 9 (ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

ผลงาน แก้

นายชะเอม แก้วคล้าย เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการอ่านและแปลจารึก และวิชาการทางพระพุทธศาสนาเป็นดี สามารถวิเคราะห์ข้อความจารึกอย่างมีเหตุผล รวมทั้งสามารถสื่อความหมายด้วยการเขียนบทความ หนังสือ และบรรยายให้เข้าใจได้ง่าย โดยมีผลงานทั้งบทความ และหนังสือ เป็นจำนวนมาก

บทความ แก้

นายชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านและแปลจารึกที่พบในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ได้เขียนบทความ หรือรายงานเกี่ยวกับการอ่านและแปลจารึกเหล่านี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารศิลปากร ของกรมศิลปากร นับตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา เช่น บทความเรื่อง "จารึกหุบเขาช่องคอย" ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2523 "จารึกวัดสุปัฏนาราม" เมื่อ พ.ศ.2524 โดยมีบทความทั้งสิ้นมากกว่าสามร้อยบทความ

ผลงานด้านจารึกยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่สำคัญด้านภาษาและจารึกในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้เขียนบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนา ตีพิมพ์ในวารสารพุทธธรรม เช่น บทความเรื่อง "พุทธศาสนาในประเทศไทย", "ปฐมเทศนาของพระพุทธสาวก", "พุทธศาสนามหายานในอินเดีย" เป็นต้น

นายชะเอม แก้วคล้าย ยังเขียนบทความด้านภาษาและวรรณคดี เช่น “สมาสและสนธิในภาษาไทย” “คุณค่าเอกสารโบราณ” “เกลื้อน ค่านิยมความงาม” และ “ลุงสอนให้กินหวาก” เป็นต้น โดยตีพิมพ์ในเอกสารแจก สนฐ., เอกสารข่าวราชบัณฑิตย์ เป็นต้น

หนังสือ แก้

มีหนังสือที่ตีพิมพ์แล้ว ว่าด้วยจารึกโบราณ และงานแปลคัมภีร์พุทธศาสนามหายาน ดังนี้

  • ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2528. 72 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. จารึกปราสาทแปรรูป. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2543. 106 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สัทธรรมปุณฑรีกสูตร. กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย, 2547.
  • ชะเอม แก้วคล้าย และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จำลอง สารพัดนึก. สุขาวดีวยูหสูตร. กรุงเทพฯ : โครงการตำราและวิชาการมหายาน คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ชมรมมหายาน และคณะศิษยานุศิษย์, 2553.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. ลักษณะการใช้ศัพท์บาลีสันสกฤตในภาษาไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิกจำกัด, 2555. 134 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สารัตถะจากศิลาจารึกในประเทศไทย (เล่ม 1). สมุทรปราการ : บริษัท เอส.อาร์.ซี. เอ็นเวลอพ จำกัด, 2556. 443 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สุวรรณประภาโสตมสูเตรนทรราชสูตร. กรุงเทพฯ : เสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก, 2558. 312 หน้า.
  • ชะเอม แก้วคล้าย. สารัตถะจากศิลาจารึกในประเทศไทย (เล่ม 2). สมุทรปราการ : บริษัท เอส.อาร์.ซี. เอ็นเวลอพ จำกัด, 2558. 446 หน้า.

นายชะเอม ยังได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 หนังสือสอนพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่ราชบัณฑิตยสถานจัดประกวดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2539 และได้รับรางวัลการใช้ภาษาถิ่นใต้ดีเด่น ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. 2558

ปัจจุบัน นายชะเอม แก้วคล้าย เป็นข้าราชการบำนาญ แต่ยังคงทำงานด้านการแปลคัมภีร์พุทธศาสนามหายาน (ภาษาสันสกฤต) และเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาบาลีสันสกฤต แก่นักศึกษาในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, อาจารย์พิเศษหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, รวมทั้งเป็นกรรมการตรวจแบบเรียนเอกชน วิชาภาษาไทยของ สพฐ., กรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือสารคดีดีเด่นแห่งชาติ, กรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของราชบัณฑิตยสถาน และกรรมการผลิตตำรามหายานของคณะสงฆ์จีนนิยาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้