ฉากแท่นบูชาเมรอด

ฉากแท่นบูชาการประกาศของเทพ

ฉากแท่นบูชาเมรอด (อังกฤษ: Mérode Altarpiece) หรือ ฉากแท่นบูชาการประกาศของเทพ (Annunciation Altarpiece) เป็นจิตรกรรมแผงที่เขียนโดยโรเบิร์ต กัมปิน จิตรกรสมัยศิลปะเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ฉากแท่นบูชาเมรอด
ศิลปินโรเบิร์ต กัมปิน
ปีค.ศ. 1425 - ค.ศ. 1428
ประเภทจิตรกรรมแผง
สถานที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน, นครนิวยอร์ก

โรเบิร์ต กัมปินเขียนภาพ "ฉากแท่นบูชาเมรอด" ระหว่างปี ค.ศ. 1425 ถึงปี ค.ศ. 1428 แต่บ้างก็เชื่อว่าเขียนโดยผู้ติดตามหรือเป็นงานก๊อบปี้จากงานดั้งเดิมของกัมปิน[1] ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตันให้คำบรรยายภาพนี้ว่าเขียนโดย "โรเบิร์ต กัมปิน และผู้ช่วย"[2] "ฉากแท่นบูชาเมรอด" ถือกันว่าเป็นภาพเขียนที่งดงามที่สุดของสมัยเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกในนิวยอร์กและในทวีปอเมริกาเหนือ จนกระทั่งการมาถึงของภาพ "การประกาศของเทพ" โดยยัน ฟัน ไอก์ "ฉากแท่นบูชาเมรอด" กลายเป็นงานเขียนที่มีชื่อที่สุดของฟัน ไอก์ ที่อาจจะเป็นเพราะฟัน ไอก์ใช้สร้างเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นภายในที่อยู่อาศัยโดยมีภูมิทัศน์เมืองลิบ ๆ ที่เห็นจากหน้าต่าง

เนื้อหาของภาพ แก้

   
แผงกลาง - นิวยอร์ก
แผงกลาง - บรัสเซลส์

"ฉากแท่นบูชาเมรอด" เป็นบานพับภาพที่ประกอบด้วยแผงสามแผงที่อาจจะได้รับจ้างสร้างสำหรับเป็นใช้ส่วนตัวเพราะมีขนาดค่อนข้างเล็ก ภาพเหมือนผู้อุทิศอยู่บนแผงซ้าย ถัดไปเป็นภาพผู้อุทิศสตรีที่มีสาวใช้อยู่ข้างหลังที่สันนิษฐานว่าเป็นส่วนที่มาเขียนเพิ่มภายหลังโดยจิตรกรคนอื่น ซึ่งอาจจะเขียนหลังจากผู้อุทิศแต่งงาน ผู้อุทิศดูเป็นผู้เป็นชนชั้นกลางจากเมเคอเลิน (Mechelen) ที่มีหลักฐานบันทึกในตูร์แน (Tournai) ในปี ค.ศ. 1427 จากตราประจำตระกูลบนหน้าต่างประดับกระจกสีบนแผงกลางของภาพ[3] แผงกลางเป็นภาพการประกาศของเทพ โดยมีร่างเล็ก ๆ ของพระเยซูถือกางเขนลอยลงยังเวอร์จินแมรีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตั้งครรภ์โดยการกระทำของพระเจ้า ทางแผงขวาเป็นภาพของนักบุญโยเซฟ ที่กำลังทำงานไม้ง่วนอยู่ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ไคร่เห็นบ่อยนัก และสิ่งที่แปลกอีกอย่างหนึ่งคือตามพระคัมภีร์แล้ว นักบุญโยเซฟและเวอร์จินแมรีไม่ได้แต่งงานกันจนกระทั่งหลังจากการประกาศของเทพ แต่ในภาพนี้ดูราวกับว่าสองคนอยู่ด้วยกันแล้ว

งานเขียนนี้ตั้งแสดงอยู่ในเดอะคลอยสเตอส์ (The Cloisters) ที่เป็นสาขาหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตันสำหรับแสดงศิลปะจากยุคกลาง แต่แผงกลางมีอีกฉบับหนึ่งที่อยู่ที่บรัสเซลส์ซึ่งงานจะเป็นงานฉบับดั้งเดิมของกัมปิน เดิมงานเขียนเป็นของตระกูลอาเรินแบร์คและตระกูลเมรอด (เจ้านายชาวเบลเยียม) ก่อนที่จะมาขายในตลาดศิลปะ

สัญลักษณ์ แก้

รูปสัญลักษณ์ภายในภาพเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาต่าง ๆ แต่ความหมายของแต่ละอย่างก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันไมเออร์ ชาพีโร (Meyer Schapiro) เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาสัญลักษณ์ของกับดักหนู[4] และต่อมานักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมันเออร์วิน พานอฟสกี มาเพิ่มเติมการวิจัยต่อที่รวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ เช่นเครื่องเรือน ข้อถกเถียงที่คล้ายคลึงกันนี้เป็นข้อถกเถียงทั่วไปสำหรับจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก และรายละเอียดของสัญลักษณ์บางอย่างที่พบในภาพนี้ที่ปรากฏเป็นครั้งแรก ต่อมาก็พบในภาพการประกาศของเทพโดยจิตรกรคนอื่น ๆ

ม้วนหนังสือและหนังสือบนโต๊ะหน้าเวอร์จินแมรีเป็นสัญลักษณ์ของพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ และบทบาทของแมรีและพระเยซูเป็นการทำให้คำพยากรณ์ในอดีตกลายมาเป็นความจริง ดอกลิลีในแจกันบนโต๊ะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพรหมจารีของแมรี สิงโตที่ตกแต่งบนแขนเก้าอี้อาจจะเป็นเป็นเครื่องหมายที่ระบุความสำคัญของที่นั่ง ที่อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของบัลลังก์แห่งปัญญา (Throne of Wisdom) หรือบัลลังก์ของโซโลมอน ซึ่งพบในภาพเขียนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนทางศาสนาหรือไม่เช่นใน "ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" (Arnolfini Portrait) ของฟัน ไอก์ การจัดที่สำหรับซักล้างทางด้านหลังของภาพเป็นการจัดที่แปลกกว่าการตกแต่งภายในโดยทั่วไปที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีอ่างพิสซีนา (piscina) สำหรับนักบวชล้างมือระหว่างพิธีมิสซา โต๊ะสิบหกเหลี่ยมอาจจะหมายถึงประกาศกฮีบรูสิบหกคน และโดยทั่วไปแล้วโต๊ะจะหมายถึงแท่นบูชา โดยมีผู้ทำพิธีเป็นเทวดาเกเบรียลที่แต่งตัวอย่างนักบวช ภาพเขียนนี้ก็เช่นเดียวกับภาพ "การประกาศของเทพ" ของยัน ฟัน ไอก์ ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ซับซ้อนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการประกาศของเทวดาเกเบรียลกับพิธีมิสซาของศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) ของศีลมหาสนิท (Eucharist) [5] แมรีนั่งบนพื้นเพื่อเป็นการแสดงความถ่อมตัว รอยพับบนเสื้อตรงเข่าเล่นกับแสงที่ดูเหมือนดวงดาวที่อาจจะเป็นนัยเปรียบเทียบว่าพระองค์เป็นดาราแห่งดารา

บนแผงขวาเป็นภาพนักบุญโยเซฟผู้เป็นช่างไม้กำลังสร้างกับดักหนูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการดักและการทำลายปีศาจของพระเยซู ที่เป็นอุปมาที่นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโปใช้สามครั้ง: "กางเขนของพระองค์คือกับดักของปีศาจ; เหยื่อที่ถูกจับได้คือความตายของพระองค์"[6] ถ้าดูอีกมุมมองหนึ่งนักบุญโยเซฟก็อาจจะกำลังทำเครื่องมือทำเหล้าองุ่นที่ใช้กันในสมัยนั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเหล้าองุ่นสำหรับศีลมหาสนิทและสัญลักษณ์ของพระทรมานของพระเยซู สัญลักษณ์ของกับดักหนูอาจจะอยู่นอกหน้าต่างของนักบุญโยเซฟด้วยก็ได้ ที่บางคนเห็นกับดักจากหน้าต่างซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์เดียวกันที่เป็นการใช้พระเยซูเป็นเหยื่อในการจับซาตาน ตัวอย่างนี้หายากในภาพเขียนอื่นแต่ก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง

เบื้องหลังการจ้างงาน แก้

บานพับภาพมีความเกี่ยวข้องกับเมเคอเลินในเบลเยียมอยู่เป็นเวลานาน ชายบนแผงกลางอาจจะมาจากตระกูลอิมแบร็คต์ (Ymbrechts, Imbrechts) หรืออิงเคิลแบร็คตส์ (Inghelbrechts) ของเมเคอเลิน ใน ค.ศ. 1966 เฮลมุต นิกเกิลพบเหตุผลที่สนับสนุนความสัมพันธ์นี้ ชายมีหนวด [1] ที่ยืนอยู่ในฉากหลัง (เขียนเพิ่มภายหลัง) ในบานภาพซ้าย ดูเหมือนจะแต่งตัวแบบนักส่งข่าวของเมือง โดยมีตราบนหน้าอกเสื้อที่เป็นตราประจำเมืองเมเคอเลิน

การค้นคว้าต่อมาในหอเอกสารของการบันทึกนามของเทศมนตรีของเมืองพบว่าครอบครัวอิมแบร็คต์ได้ทำการค้าขายในเมเคอเลินจากอย่างน้อยตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 และสมาชิกบางคนในครอบครัวทำการค้าขายกับตูร์แน ครอบครัวอิมแบร็คต์มีความเกี่ยวข้องกับอัศวินทิวทอนิกที่ก่อตั้งในเมเคอเลินในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่ขึ้นอยู่กับโคเบล็นซ์ และยังมีหลักฐานว่ามีผู้เป็นสมาชิกอย่างน้อยสี่คนพำนักอยู่ในเมเคอเลินระหว่าง ค.ศ. 1330 ถึง ค.ศ. 1480 ที่ไม่ก็เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับครอบครัวเอ็งเงิลเบร็ชท์ (Engelbrecht) ในโคโลญซึ่งไม่ไกลจากโคเบล็นซ์

อาจจะเป็นได้ว่าความเกี่ยวข้องกับตระกูลอิมแบร็คต์-เอ็งเงิลเบร็ชท์ทำให้ ร็อมเบาท์ เอ็งเงิลเบร็ชท์ตัดสินใจมาตั้งหลักแหล่งในเมเคอเลิน ชาวโคโลญผู้นี้ปรากฏหลักฐานในฐานะพ่อค้าของเมเคอเลินในบัญชีของตูร์แนในปี ค.ศ. 1927 และซื้อสิทธิในการเป็นชาวเมืองหลายปีหลังจากที่ตั้งหลักแหล่งที่นั่น หลังจากนั้นเพเทอร์น้องชายของร็อมเบาท์ก็ตามมาตั้งหลักแหล่งที่นั่นด้วยและเป็นชาวเมืองเมเคอเลินหลังปี ค.ศ. 1450 พ่อของทั้งสองคนนี้เป็นเทศมนตรีที่โคโลญ เพเทอร์และไฮน์ริชน้องชายต่อมาต่างก็เป็นเทศมนตรีเช่นกัน และลูกชายของเพเทอร์ต่อมา เพเทอร์หรือเพทรุส เอ็งเงิลเบร็ชท์เกิดราว ค.ศ. 1400 และอาจจะเป็นพ่อค้าผ้าหรือขนแกะที่มีฐานะดีและมีที่ดินอยู่ที่แอนต์เวิร์ป, เมเคอเลิน และลักเซมเบิร์ก และทางภรรยาคนแรกในบริเวณคือลิก (Gulik) และในโคโลญด้วย เพเทอร์สร้างโบสถ์น้อยเพิ่มในวัดที่เก่าที่สุดในเมเคอเลินรวมทั้งจ้างนักบวชส่วนตัวและภายในโบสถ์น้อยก็ก่อตั้งนักบวชที่ได้รับการดูแลอย่างดี เพเทอร์ย้ายมาเมเคอเลินหลังจากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมในปี ค.ศ. 1450 เมื่อเพเทอร์และร็อมเบาท์ถูกกล่าวหาว่าฆ่าพระ ด้วยเหตุนี้ทั้งเพเทอร์และร็อมเบาท์ (ที่ขณะนั้นเป็นชาวเมืองเมเคอเลินแล้ว) รวมทั้งน้องสาวที่แต่งงานกับชาวเมเคอเลินก็ถูกตัดสินให้ถูกจำขัง

เรื่องของเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจและเป็นเรื่องระหว่างเพเทอร์และร็อมเบาท์กับแม่หม้ายของผู้ร่วมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพระที่ถูกฆ่า จนเมื่อผู้ร่วมธุรกิจถูกประหารชีวิตและดุ๊กแห่งเบอร์กันดีและสมเด็จอัครบาทหลวงแห่งลีแยฌเข้ามาเกี่ยวข้อง เพเทอร์และร็อมเบาท์จึงได้ถูกปล่อยตัว เพื่อเป็นการรักษาความสงบหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว เพเทอร์ก็ใช้ตราประจำตัวที่เหมือนกับตราที่ใช้โดยตระกูลอิมแบร็คต์แห่งเมเคอเลินใช้ สมาชิกของตระกูลเอ็งเงิลเบร็ชท์ในโคโลญไม่ได้ใช้ตรานั้นก่อนปี ค.ศ. 1450 ร็อมเบาท์ พี่ชายของเพเทอร์ใช้ตราที่มีอักษร แต่ก็อาจจะเป็นได้ว่าการใช้ตราเป็นการบังคับให้ใช้เพื่อเป็นการลงโทษก็ได้โดยมีโซ่บนสามเหลี่ยมเชฟรอนอยู่บนตราที่เป็นเครื่องหมายของการติดคุก

หลังจากนั้นเพเทอร์ก็ย้ายธุรกิจจากโคโลญมาแอนต์เวิร์ปและต่อมาเมเคอเลิน ในเมเคอเลิน เพเทอร์กลายเป็นคนสำคัญและเป็นที่รู้จักของผู้ค้าขนแกะและสมาคมพ่อค้าผ้าและมีตำแหน่งการบริหารทั้งในสมาคมและในเทศบาลเมือง แต่เพเทอร์ได้รับตำแหน่งเหล่านี้หลังปี ค.ศ. 1467 เมื่อชาวเมืองพยายามแข็งข้อต่อชาร์ลผู้อาจหาญ (Charles the Bold) เพเทอร์อาจจะได้รับรางวัลจากการที่ได้ช่วยเหลือพ่อของดุ๊กชาร์ลในปี ค.ศ. 1450 ก็เป็นได้

เพเทอร์แต่งงานอย่างน้อยสามครั้ง ครั้งแรกกับสตรีจากโคโลญ (ระหว่างปี ค.ศ. 1467 ถึง ค.ศ. 1428) ชื่อ สไกรน์มาเกอเรอ (Scrynmakere) หรือชรีเนอเมเคอร์ (Schrinemecher) ที่หมายความว่าคนทำตู้ ซึ่งอาจจะเป็นอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับนักบุญโยเซฟในบานขวาของภาพ ภรรยาคนแรกเป็นสตรีที่มีฐานะดีและเสียชีวิตราวเมื่อเพเทอร์ย้ายออกจากโคโลญ ภรรยาคนที่สองชื่อ ไฮล์วิค บิลเลอ (Heylwich Bille) จากเบรดาผู้อาจจะเป็นเจ้าของตราบนแผงกลาง มาร์กาเรตา เดอ แก็มเปอเนอเรอ ภรรยาคนที่สามเป็นผู้ที่เสียชีวิตหลังเพเทอร์ เพเทอร์เป็นที่รู้จักกันในแอนต์เวิร์ปว่าเป็นพ่อค้าที่มีความสามารถที่มีที่ทางบ้านเรือนหลายแห่งและเป็นผู้มีอิทธิพล

มีผู้เสนอว่าผู้ส่งข่าวในฉากหลังอาจจะเป็นผู้ถือสารสำคัญระหว่างเมเคอเลินกับโคโลญและกับดุ๊ก และการติดต่อเป็นการนำไปสู่การปลดปล่อยของตระกูลเอ็งเงิลเบร็ชท์ การตีความหมายของสัญลักษณ์ของชื่อสไกรน์มาเกอเรอหรือชรีเนอเมเคอร์ได้รับการเสนอโดยศาสตราจารย์เทือร์เลอมันน์ ผู้เสนออุปมานิทัศน์คล้ายคลึงกันกับชื่อเอ็งเงิลเบร็ชท์ - อิมแบร็คต์จากหัวเรื่องที่พบในแผงกลางของภาพ นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นภาพอดีตเหตุการณ์ (ex-voto) ของการแต่งงานครั้งแรกก็ได้[7]

อ้างอิง แก้

  1. for example by Campbell in: National Gallery Catalogues (new series) : The Fifteenth Century Netherlandish Paintings, p. 72, Lorne Campbell, 1998, ISBN 185709171 and his 1974 Burlington article TSTOR specifically dealing with the authorship of the work
  2. See link below. The "assistant" appears to relate to the figure of the female donor, rather than the main subjects.
  3. See Metropolitan link, and also the final section here
  4. JSTOR, Art Bulletin reprinted in: Meyer Schapiro, Selected Papers, volume 3, Late Antique, Early Christian and Mediaeval Art, 1980, Chatto & Windus, London, ISBN 0701125144
  5. Lane, Barbara G,The Altar and the Altarpiece, Sacramental Themes in Early Netherlandish Painting, pp. 40-77; 42-47 discuss this work; Harper & Row, 1984, ISBN 0064301338
  6. quoted Shapiro:1
  7. H. Installé. The Merode-triptych. A mnemonic evocation of a merchant family that fled from Cologne and settled down in Mechelen. Le triptique Merode: Evocation mnémonique d'une famille de marchands colonais, réfugiée à Malines. In: Handelingen van de Koninklijke Kring voor Oudheidkunde, Letteren en Kunst van Mechelen, 1992, , nr. 1 , pp. 55-154. (English summary included)

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฉากแท่นบูชาเมรอด