จุลศักราช

(เปลี่ยนทางจาก จ.ศ.)

จุลศักราช (จ.ศ.; บาลี: Culāsakaraj; พม่า: ကောဇာသက္ကရာဇ်; เขมร: ចុល្លសករាជ) เป็นศักราชที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. 1181 (ค.ศ. 638) นับรอบปีตั้งแต่ 16 เมษายน ถึง 15 เมษายน เดิมเข้าใจกันว่าเป็นศักราชของพม่า ปรากฏอยู่ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ทว่าปีที่ตั้งจุลศักราชนั้นเป็นเวลาก่อนปีที่พระเจ้าอโนรธามังช่อจะประสูติ สันนิษฐานว่าน่าจะตั้งขึ้นในปีที่กษัตริย์ปยูขึ้นครองราชย์ และใช้สืบต่อมาจนถึงอาณาจักรพุกาม[1] เมื่อสมัยอาณาจักรอยุธยารับศักราชนี้ไปใช้ เลยเกิดความเชื่อกันว่าเป็นศักราชของชาวพม่า จุลศักราชใช้แพร่หลายทั้งในอาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัยสมัยหลัง และอาณาจักรอยุธยา ในสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ทรงตัดปีจุลศักราช และใช้ปีศักราชจุฬามณีแทน เป็นผลทำให้ปีนักษัตรคลาดเคลื่อนไปสามปี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนกลับไปใช้ปีจุลศักราชตามเดิม และตกทอดมาถึงปัจจุบัน การคำนวณปี พ.ศ. จาก จ.ศ. ปฏิทินไทยให้ใช้ปี จ.ศ. บวก 1181 ก็จะได้ปี พ.ศ. (เว้นแต่ในช่วงต้นปีตามปฏิทินสุริยคติที่ยังไม่เถลิงศกจุลศักราชใหม่)

ในเอกสารโบราณของไทยจำนวนไม่น้อย นิยมอ้างเวลา โดยใช้จุลศักราช โดยใช้ควบคู่กับปีนักษัตร หรือ ระบุเฉพาะเลขตัวท้ายของจุลศักราช และปีนักษัตร ทำให้สามารถระบุปี ได้ในช่วงกว้างถึงรอบละ 60 ปี (มาจาก ครน. ของรอบ 10 ปีจากเลขท้ายของจุลศักราช และรอบ 12 ปีของปีนักกษัตร)

รากศัพท์

แก้

คำว่าจุลศักราชเป็นคำในภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ประกอบด้วยคำว่า "จุล" ในภาษาบาลี แปลว่า เล็ก, น้อย และคำว่า "ศก" และ "ราช" ในภาษาสันสกฤต อันมีความหมายโดยพยัญชนะว่า "ราชาแห่งอาณาจักรศกะ" (ในที่นี้หมายถึงอาณาจักรที่เรียกชื่อว่า Scythians ในภาษาอังกฤษ) คำว่าศักราชได้เปลี่ยนมาใช้ในความหมายว่า "ปี" หรือ "ยุค" ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ยอมรับวัฒนธรรมอินเดียในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย[2]

ในประเทศไทยนั้น มีการใช้จุลศักราชเป็นคู่ตรงข้ามกับ "ศาลิวาหนศักราช" (แปลว่า ศักราชของพระเจ้าศาลิวาหนะแห่งอาณาจักรศกะ) ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในชื่อ มหาศักราช (พม่า: မဟာသက္ကရာဇ်, [məhà θɛʔkəɹɪʔ]) อันมีความหมายว่า "ศักราชใหญ่"

ความแตกต่าง

แก้

การกำหนดชื่อเรียกเฉพาะ

แก้

การลำดับเลขเดือน

แก้

ปฏิทินจุลศักราช/ปฏิทินพม่าที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ บนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่หลายแบบ ในขณะที่ระบบปฏิทินพม่าจะอ้างอิงเดือนต่าง ๆ ตามชื่อเดือน ระบบปฏิทินจุลศักราชของสิบสองปันนา เชียงตุง ล้านนา ล้านช้าง และสุโขทัย จะอ้างถึงเดือนต่าง ๆ ด้วยเลขลำดับเดือนแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้การศึกษาเอกสารและจารึกโบราณในประเทศไทยต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษ กล่าวคือ นอกจากจะต้องแน่ใจว่าวันที่ปรากฏในเอกสารจารึกเป็นวันที่ใช้ตามระบบปฏิทินท้องถิ่นต้นกำเนิดเอกสารแล้ว ยังต้องระวังถึงแบบแผนการใช้ปฏิทินที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของท้องถิ่นนั้น ๆ เองอีกด้วย[3] อย่างไรก็ตาม การนับเดือนตามระบบปฏิทินจุลศักราชที่ใช้ในประเทศกัมพูชา (เขมร) ซึ่งถือเอาเดือนมิคสิระเป็นเดือนอ้ายหรือเดือนแรกของปี จะเรียงลำดับเลขเดือนและชื่อเดือนตรงกัน[4]

ชื่อเดือนภาษาสันสกฤต ชื่อเดือนภาษาบาลี เขมร, ล้านช้าง, สุโขทัย, อยุธยา, สยาม เชียงตุง, สิบสองปันนา เชียงใหม่
ไจตฺร จิตฺต 5 6 7
ไวศาข วิสาข 6 7 8
เชฺยษฺฐ เชฏฺฐ 7 8 9
อาษาฒ อาสาฬฺห 8 9 10
ศฺราวณ สาวน 9 10 11
ภาทฺรปท,
โปฺรษฐปท
ภทฺทปท,
โปฏฺฐป
10 11 12
อาศฺวิน,
อศฺวยุช
อสฺสยุช 11 12 1
การฺตฺติก กตฺติก 12 1 2
มารฺคศีรฺษ มิคสิร 1 2 3
เปาษ ปุสฺส 2 3 4
มาฆ,
ปูส
มาฆ,
ผุสฺส
3 4 5
ผาลฺคุน ผคฺคุณ 4 5 6

หมายเหตุ: ระบบลำดับเลขเดือนของสุโขทัยและล้านช้าง รวมถึงระบบลำดับเลขเดือนของพม่าที่เลิกใช้ไปแล้ว มีการลำดับเลขเดือนตรงกัน[5]

ชื่อปีนักษัตร

แก้

ระบบของไทยและกัมพูชาจะมีการกำหนดชื่อปีในทุกรอบ 12 ปี ด้วยชื่อสัตว์ต่าง ๆ ทำนองเดียวกับปีนักษัตรของจีน[6] ในประเทศพม่าก็มีการกำหนดชื่อปีลักษณะดังกล่าวเช่นกัน[7] แต่ได้สาบสูญไปตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1638 (ตามปฏิทินไทยคือ พ.ศ. 2080 ย่างเข้า พ.ศ. 2181) พระเจ้าตาลูนแห่งกรุงอังวะ ได้ทรงปฏิเสธที่จะใช้ปฏิทินจุลศักราชที่พระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงกำหนดขึ้นใช้ใหม่ ซึ่งมีการกำหนดชื่อปีนักษัตรในแต่ละปี เนื่องจากการกำหนดชื่อปีนักษัตรด้วยชื่อสัตว์ดังกล่าวไม่ได้มีการใช้ในระบบปฏิทินพม่าแล้ว[8]

ในอาณาจักรล้านนาและล้านช้างก็ปรากฏว่ามีการกำหนดชื่อปีนักษัตรทั้ง 12 ปี เช่นกัน เรียกว่า ลูกมื้อ[9] แต่มีการเรียกชื่อแตกต่างจากภาษาไทย (ซึ่งมีชื่อปีตรงกับภาษาเขมรมากกว่า) และกำหนดชนิดสัตว์ประจำปีต่างกันเล็กน้อย[10]

ปีที่ สัตว์ประจำปี ชื่อภาษาไทย ชื่อภาษาเขมร ลูกมื้อ (ล้านนา/ล้านช้าง)
1 หนู ชวด ជូត (ชวด) ᨧᩱ᩶ (ไจ้)
2 วัว ฉลู ឆ្លូវ (ฉลูว) ᨸᩖᩮᩢ᩶ᩣ (เปล้า)
3 เสือ ขาล ខាល (ขาล) ᨿᩦ (ยี)
4 กระต่าย เถาะ ថោះ (เถาะ) ᩉ᩠ᨾᩮᩢ᩶ᩣ (เหม้า)
5 นาค/มังกร มะโรง រោង (โรง) ᩈᩦ (สี)
6 งูเล็ก มะเส็ง ម្សាញ់ (มสัญ) ᩈᩱ᩶ (ไส้)
7 ม้า มะเมีย មមី (มมี) ᩈ᩠ᨦ᩶᩻ᩣ (สง้า)
8 แพะ มะแม មមែ (มแม) ᨾᩮᩢ᩠ᨯ (เม็ด)
9 ลิง วอก វក (วอก) ᩈᩢ᩠ᨶ (สัน)
10 ไก่ ระกา រកា (รกา) ᩁᩮᩢ᩶ᩣ (เร้า)
11 สุนัข จอ ច (จอ) ᩈᩮᩢ᩠ᨯ (เส็ด)
12 หมู (ไทย/เขมร)
ช้าง (ล้านนา/ล้านช้าง)
กุน កុរ (กุร) ᨣᩲ᩶ (ใค้)

การเรียกศกตามเลขท้ายปี

แก้

ในระบบปฏิทินแบบจุลศักราชของไทยและกัมพูชา จะมีการเรียกชื่อศกตามเลขท้ายปีจุลศักราชโดยใช้ชื่อเรียกอย่างเดียวกันตามลำดับเลขในภาษาบาลี-สันสกฤต ส่วนในล้านนาและล้านช้างก็มีระบบที่คล้ายคลึงกัน คือระบบ "แม่มื้อ" ใช้กำหนดเรียกชื่อศกในทุกรอบ 10 ปี ดังนี้

เลขศักราชที่ลงท้าย ภาษาไทย ภาษาเขมร แม่มื้อ (ล้านนา/ล้านช้าง)
1 เอกศก ឯកស័ក ᨸᩦᨠᩢ᩠ᨯ (ปีกัด)
2 โทศก ទោស័ក ᨸᩦᨠᩫ᩠ᨯ (ปีกด)
3 ตรีศก ត្រីស័ក ᨸᩦᩁ᩠ᩅ᩶ᨦ (ปีร้วง)
4 จัตวาศก ចត្វាស័ក ᨸᩦᨲᩮᩢ᩵ᩣ (ปีเต่า)
5 เบญจศก បញ្ចស័ក ᨸᩦᨠ᩵ᩣ (ปีก่า)
6 ฉศก (/ฉอ-สก/) ឆស័ក ᨸᩦᨠᩣ᩠ᨷ (ปีกาบ)
7 สัปตศก សប្តស័ក ᨸᩦᨯᩢ᩠ᨷ (ปีดับ)
8 อัฐศก អដ្ឋស័ក ᨸᩦᩁ᩠ᩅᩣ᩠ᨿ (ปีรวาย)
9 นพศก នព្វស័ក ᨸᩦᨾᩮᩬᩥᨦ (ปีเมือง)
0 สัมฤทธิศก សំរឹទ្ធិស័ក ᨸᩦᨸᩮᩥ᩠ᨠ (ปีเปิก)

ในอดีต การเรียกชื่อศกตามท้ายเลขปีจุลศักราชของไทยและกัมพูชานั้นจะต้องใช้คู่กับชื่อปีนักษัตรเสมอ ส่วนล้านนาและล้านช้างก็เรียกชื่อปีด้วยแม่มื้อและลูกมื้อในทำนองเดียวกัน ต่างกันที่ระบบของไทยและกัมพูชาจะเอาชื่อปีนักษัตรขึ้นก่อนเลขศก ส่วนระบบของล้านนาล้านช้างจะเอาแม่มื้อ (เลขศก) ขึ้นก่อนลูกมื้อ (ปีนักษัตร) เช่น ปี ค.ศ. 2019 ตามปฏิทินไทยและกัมพูชาตรงกับ "ปีกุนเอกศก จุลศักราช 1381" เทียบกับระบบแม่มื้อลูกมื้อของล้านนาและล้านช้าง ตรงกับ "ปีกัดไค้ จุลศักราช 1381" เป็นต้น ระบบดังกล่าวนี้ยังคงมีการใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในประเทศกัมพูชา ที่แม้จะยังคงการบอกเลขท้ายจุลศักราชไว้ แต่เมื่อบอกเลขปีศักราช กลับเลือกใช้พุทธศักราชแทน เช่น "ปีกุนเอกศก จุลศักราช 1381" ในปฏิทินกัมพูชาจะใช้ว่า "ปีกุนเอกศก พุทธศักราช 2563" เป็นต้น (ระบบการนับพุทธศักราชของกัมพูชาเร็วกว่าที่ไทยใช้อยู่ 1 ปี)

หลักการคำนวณ

แก้

ระบบปฏิทินจุลศักราชมีความคล้ายคลึงกับระบบปฏิทินของพม่า ซึ่งอ้างอิงพื้นฐานการคำนวณระบบปฏิทินฮินดูตามคัมภีร์สูรยะสิทธันตะฉบับดั้งเดิม แต่แตกต่างจากระบบปฏิทินฮินดูตรงที่มีการนำเอาวัฏจักรเมตอน (Metonic cycle) มาร่วมใช้ในการคำนวณปฏิทินด้วย ทั้งนี้ วัฏจักรเมตอน คือ ช่วงระยะเวลาซึ่งใกล้เคียงกับตัวคูณร่วมน้อยที่สุดของปีสุริยคติ และปีจันทรคติ ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเวลา 19 ปี ระบบปฏิทินจุลศักราชนั้นมีการเพิ่มวันและเดือนในบางระยะ เพื่อชดเชยความคลาดเคลื่อนของวันและเดือนให้มีจำนวนใกล้เคียงกับระบบปฏิทินสุริยคติมากขึ้น[11]

การทดวันและเดือนเพิ่มเติม

แก้

ระบบปฏิทินจุลศักราชของไทยใช้รูปแบบของปี 3 แบบ คล้ายคลึงกับระบบปฏิทินพม่า แต่ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียวนัก[3] ในปฏิทินแต่ละแบบ กำหนดให้ปีปกติมีจำนวนวัน 354 วัน ปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือนเพิ่มเติม 1 เดือน) มีจำนวนวัน 384 ว้น อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ปฏิทินพม่าจะเพิ่มวันชดเชยเพียงหนึ่งครั้งในปีอธิกมาสที่วัฏจักรเมตอนเวียนมาถึง ปฏิทินจุลศักราชของไทยกลับใช้วิธีเพิ่มวันชดเชยลงในปีปฏิทินปกติแทน อย่างไรก็ตาม วันชดเชยที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งระบบปฏิทินพม่าและปฏิทินจุลศักราชของไทย จะถูกนำไปเพิ่มในช่วงเดือนเดียวกัน คือ ช่วงหลังเดือนเชฎฐะ ซึ่งตรงกับเดือน 7 ของไทย และเดือนนะโยนของพม่า[12] จึงทำให้บางปีมีเดือนอาสาฬหะสองหน แบ่งเป็นเดือนอาสาฬหะบูรพาษาฒ (เดือนแปดแรก) และเดือนอาสาฬหะอุตราษาฒ (เดือนแปดหลัง)

ปฏิทิน ปีปกติ ปีอธิกมาสน้อย ปีอธิกมาสใหญ่
ปฏิทินพม่า 354 384 385
ปฏิทินจุลศักราชของไทย 354 355 384

เชิงอรรถ

แก้
  1. Aung-Thwin 2005: 35
  2. บุษยกุล 2004: 473.
  3. 3.0 3.1 Eade 1989: 9–10
  4. "Khmer Chhankitek Calendar". Cambodian Coordinating Council. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-30. สืบค้นเมื่อ 2019-09-16.
  5. Eade 1995: 28–29
  6. Eade 1995: 22
  7. Luce 1970: 330
  8. Rong 1993: 70
  9. กรรณิการ์ วิมลเกษม (มกราคม–กรกฎาคม 2002). ประเสริฐ ณ นคร (บ.ก.). "ศักราช ศก ปี วัน เดือน ฤกษ์ และยามในจารึกล้านนา" (PDF). ดำรงวิชาการ. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 1 (1): 299–307. ISSN 1686-4395.
  10. "การประดับอัญมณ๊ตามปีเกิด". แม่ญิงล้านนา. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-09. สืบค้นเมื่อ 2019-09-16.
  11. Ohashi 2001: 398–399
  12. Eade 1989: 20

บรรณานุกรม

แก้
  • Aung-Thwin, Michael (2005). The mists of Rāmañña: The Legend that was Lower Burma (illustrated ed.). Honolulu: University of Hawai'i Press. ISBN 9780824828868.
  • วิสุทธ์ บุษยกุล (เมษายน–มิถุนายน 2004). "ปฏิทินและศักราชที่ใช้ในประเทศไทย*" (PDF). วารสารราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. 29 (2): 468–78. ISSN 0125-2968. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 16 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015.
  • Eade, J.C. (1989). Southeast Asian Ephemeris: Solar and Planetary Positions, A.D. 638–2000. Ithaca: Cornell University. ISBN 0-87727-704-4.
  • Eade, J.C. (1995). The Calendrical Systems of Mainland South-East Asia (illustrated ed.). Brill. ISBN 9789004104372.
  • Irwin, Sir Alfred Macdonald Bulteel (1909). The Burmese and Arakanese calendars. Rangoon: Hanthawaddy Printing Works. OCLC 679709553.
  • Luce, G.H. (1970). Old Burma: Early Pagan. Vol. 2. Locust Valley, NY: Artibus Asiae and New York University. OCLC 229899254.
  • Ohashi, Yukio (2001). Alan K. L. Chan; Gregory K. Clancey; Hui-Chieh Loy (บ.ก.). Historical Perspectives on East Asian Science, Technology, and Medicine (illustrated ed.). World Scientifi. ISBN 9789971692599.
  • Oriental Institute; East India Association (1900). The Imperial and Asiatic Quarterly Review and Oriental and Colonial Record. London and Working, England: Oriental Institute. OCLC 1779749.
  • Smith, Ronald Bishop (1967). Siam; Or, the History of the Thais: From 1569 A.D. to 1824 A.D. Bethesda, Maryland: Decatur Press. OCLC 229920478.
  • Rong, Syamananda (1993). A History of Thailand (8 ed.). Chulalongkorn University. ISBN 978-9740805915.
  • ยุทธพร นาคสุข. "ศักราชและความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องมหาศักราชและจุลศักราชในพื้นเมืองเชียงใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-21. สืบค้นเมื่อ 2019-12-05.
  • วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช (2 ed.). กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ศักดิ์โสภาการพิมพ์. 2009. pp. 63–64, 78–79. ISBN 9789743008009.
  • พระครูโสภณธรรมานุวัฒน์ (2011). สุริยยาตรา จาด้วยคณนาวันเดือนปีตามอันไพแห่งพระอาทิตย์ พระจันทร์แลดาวเคราะห์ แลจุฬามณีสาร จาด้วยนครภังคะเหตุอันเปนไพแห่งบ้านเมือง. เชียงใหม่: สันติภาพแพ็คพริ้นท์. p. 3.