จุมพล มั่นหมาย
จุมพล มั่นหมาย เป็นอดีตรองเลขาธิการพระราชวัง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลงานด้านนครบาล อดีตผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร[1]อดีต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นิตยสาร Cop's Magazine
จุมพล มั่นหมาย | |
---|---|
เกิด | 23 กันยายน พ.ศ. 2493 จังหวัดลำปาง ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 (72 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ชื่ออื่น | จุ๋ม |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนตำรวจนครบาล โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ต้องหาคดีพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานและประพฤติชั่วร้ายแรง ) |
สถานะทางคดี | พ้นโทษ |
คู่สมรส | ฐนกร มั่นหมาย |
บิดามารดา |
|
ประวัติ
แก้จุมพล มั่นหมาย เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2493 ที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นบุตรชายของ พลตำรวจโท จุฑา และขวัญใจ มั่นหมาย จบการคึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่นที่ 82, โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34 , โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย ศึกษาเพิ่มเติม สาขาพัฒนาบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), หลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 15, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4212
สุขภาพและการเสียชีวิต
แก้จุมพลเสียชีวิตอย่างสงบจากอาการปอดติดเชื้อ ด้วยในวัย 72 ปี ได้หลังเข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลศิริราช มาร่วม 2 เดือน กระทั่งอาการทรุดลง และเสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เมื่อเวลาประมาณ 00.38 น. เพื่อเตรียมทำพิธีทางศาสนา ได้จัดพิธีรดน้ำศพในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 16.00 น. ณ ศาลาบุพการีอนุสรณ์ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน โดยมี พันตำรวจเอก ศิววงศ์ ดำรงสัจจ์ศิริ[2]ผู้กำกับการกองกำกับการ 3 กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ เข้าร่วมในพิธีรดน้ำศพ ในการนี้ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ทักษิณ ชินวัตร และ พลตำรวจโท อัคราเดช พิมลศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 6 ส่งพวงหรีดเข้าร่วมในพิธี
ส่วนกำหนดการสวดพระอภิธรรมในวันที่ 2 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 17.30 น. และ 18.30 น. และมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 17.00 น.
รับราชการ
แก้จุมพล มั่นหมาย เริ่มต้นชีวิตราชการจากการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่อำเภออรัญประเทศ ก่อนที่จะย้ายเข้าสู่พื้นที่นครบาล ในตำแหน่ง สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ (สวป.สน.บางซื่อ) จากนั้นย้ายไปอยู่กองปราบปราม จนเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.)
หลังจากได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจตรี (พล.ต.ต.) แล้วจุมพล มั่นหมายเลื่อนจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผช.ผบช.ภ.1) และได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจโท (พล.ต.ท.) แล้วเลื่อนเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) ก่อนที่จะย้ายมาดูแลงานด้านการข่าวและปราบปราม ด้วยการเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และได้ใกล้ชิดกับการเมืองมากขึ้น ด้วยการเป็นรักษาการ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ , ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คนที่ 12 (มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) , ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหาร 11) , ที่ปรึกษา (สบ 10) (ทำหน้าที่หัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคง) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ผลงานที่สำคัญ ๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวที่เคยผ่านมาแล้ว เช่น คดีเพชรซาอุ, คดีฆ่า 2 แม่ลูกครอบครัวศรีธนะขันธ์, คดีสังหารนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2552 จุมพล มั่นหมาย ถูกจับตาว่าอาจจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยมีชื่อถูกเสนอเคียงคู่มากับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และได้รับการสนับสนุนจากทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคง, นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกลุ่มของทางนายเนวิน ชิดชอบด้วย แต่สุดท้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกที่จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ นายอภิสิทธ์จึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยาวนานกระทั่งเกษียณอายุราชการ พร้อมกับจุมพล มั่นหมายในปี พ.ศ. 2553
ชีวิตส่วนตัว
แก้ชีวิตส่วนตัวจุมพล มั่นหมาย มีฉายาที่สื่อมวลชนนิยมเรียกว่า "บิ๊กจุ๋ม" สมรสกับนางฐนกร มั่นหมาย ด้านสังคม เคยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี พ.ศ. 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุจุมพล มั่นหมาย กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง[3]
วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จุมพล มั่นหมายดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ[4]
คดีความ
แก้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งดำเนินคดีรุกป่า ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[5]และสำนักพระราชวังลงโทษไล่ออกจากราชการในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง[6] และได้ถูกจับกุมพร้อมพวกในช่วงเวลาต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนางฐนกรซึ่งเป็นภรรยารวมอยู่ โดยทุกคนยกเว้นจำเลยได้รับการประกันตัว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้จุมพล มั่นหมาย เคยได้รับและถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดตระกูลต่างๆ ดังนี้[7]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
- พ.ศ. 2518 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[10]
- พ.ศ. 2549 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[11]
อ้างอิง
แก้- ↑ ข้อมูลกรมส่งเสริมสหกรณ์
- ↑ รวมภาพบรรยากาศงานศพจุมพล มั่นหมาย
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ (จำนวน ๙ ราย) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๒๑๓ ง พิเศษ หน้า ๑ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๙
- ↑ แจงกรณีดำเนินคดี ‘พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย’ คดีรุกป่าอุทยาน
- ↑ "สำนักพระราชวังไล่ "พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย" ออกจากราชการ"
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถอดยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๑๐ ข หน้า ๑, ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๑๐, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๑๕๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๖, ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๐ ข หน้า ๑๗๐, ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐