จุดวสันตวิษุวัต

จุดวสันตวิษุวัต หรือ จุดแรกของกลุ่มดาวแกะ (อังกฤษ: first point of Aries) ในทางดาราศาสตร์ คือหนึ่งในสองจุดที่เป็นจุดตัดระหว่างสุริยวิถีกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า (อีกจุดคือจุดศารทวิษุวัต)

จุดวสันตวิษุวัตในกลุ่มดาวปลา

ที่จุดนี้ ค่ามุมไรต์แอสเซนชันและลองจิจูดสุริยวิถีจะมีค่าเป็น 0 องศา และช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านจุดนี้ (เมื่อมองจากโลก) จะเรียกว่า วสันตวิษุวัต[1]

จุดวสันตวิษุวัตเป็นจุดกำเนิดของทั้งระบบพิกัดสุริยวิถีและระบบพิกัดศูนย์สูตร จนกระทั่งมีการให้คำนิยามใหม่โดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 2009[2]

ตำแหน่งของจุดวสันตวิษุวัตบนทรงกลมท้องฟ้า เลื่อนไปทางทิศตะวันตกเนื่องจากการหมุนควงของแกนโลก (การเคลื่อนถอยของวิษุวัต) โดยวัฏจักรของการหมุนควงคือ 25800 ปี จุดวสันตวิษุวัต ยังใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในวิธีกำหนดภาวะทั้ง 24 ของปฏิทินสุริยจันทรคติ

จุดวสันตวิษุวัตและกลุ่มดาว

แก้

จุดวสันตวิษุวัต นั้นมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า the first point of Aries โดยคำว่า Aries อาจหมายถึงราศีเมษในจักรราศี หรือกลุ่มดาวแกะก็ได้ เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลซึ่งเป็นช่วงที่จักราศีได้ถูกกำหนดขึ้นนั้นจุดวสันตวิษุวัตอยู่ในกลุ่มดาวแกะ จึงได้เป็นที่มาของชื่อ

ในทางศาสนาคริสต์ กลุ่มดาวปลา (ราศีมีน) ถือเป็นกลุ่มดาวศักดิ์สิทธิ์ นั่นเป็นเพราะเมื่อนำอักษรขึ้นต้นของคำว่า "Ιησους Χριστος, Θεου 'Υιος Σωτηρ" (พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า พระผู้ช่วยให้รอด) มาเขียนต่อกันจะเป็น Ι-Χ-Θ-Υ-Σ- ซึ่งแปลว่า "ปลา" ในภาษากรีก "ιχθυς" และเพราะว่าจุดวสันตวิษุวัตอยู่ในกลุ่มดาวปลาในสมัยที่พระเยซูประสูติ

ในปัจจุบันนี้จุดวสันตวิษุวัตก็ยังคงอยู่ในกลุ่มดาวปลา

แนวคิดว่าด้วยเรื่องยุคของราศีกุมภ์

แก้

ในหมู่นิวเอจ ได้ถือเอากลุ่มดาวที่มีจุดวสันตวิษุวัตตั้งอยู่เป็นสัญลักษณ์ของยุค โดยในกลุ่มดาวหนึ่งจะนานประมาณ 2,000 ปี จุดวสันตวิษุวัตอยู่ในกลุ่มดาวปลามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 มาจนถึงปัจจุบัน แต่ได้มีการกล่าวอ้างกันว่าได้เข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (หรือบางคนกล่าวว่าขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน) ในบรรดาผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ยุคปัจจุบันเรียกว่า ยุคของราศีกุมภ์ (age of Aquarius) โดยมองว่ากลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (ราศีกุมภ์) เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง โดยอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงระดับโลกบางอย่างเกิดขึ้น

คำนี้บางครั้งยังถูกอ้างถึงโดยนักโหราศาสตร์บางคน แต่ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ตะวันตกแบบดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วกว่าจุดวสันตวิษุวัตจะเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำจริง ๆ ก็คืออีกกว่า 500 ปีข้างหน้าโน่น[3] นอกจากนี้แล้ว การแบ่งพื้นที่ของกลุ่มดาวนั้นมีความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งแตกต่างจากจักรราศีที่แบ่งเท่า ๆ กันหมด ดังนั้นระยะเวลาของยุคจักรราศีจึงอาจไม่ได้จำกัดเพียง 2,000 ปี นอกจากนี้ บางคนโต้แย้งว่าการแบ่งเวลาในโหราศาสตร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของจุดวสันตวิษุวัต[4]

อ้างอิง

แก้
  1. 質問3-1)何年後かの春分の日・秋分の日はわかるの? 国立天文台、よくある質問
  2. "片山他『暦象年表の改訂について』国立天文台報第11巻, 57-67 (2008)" (PDF). 国立天文台. สืบค้นเมื่อ 2020-09-22.
  3. 鈴木敬信 (1986) 『天文学辞典』、地人書館、225頁。
  4. ウド・ベッカー(編)『図説・占星術事典』、同学社。
  • 阿部秀典「訳者あとがき」ジャン・カレルズ (1996) 『占星術大全』、青土社、338~342頁。