จังหวัดพระประแดง
จังหวัดพระประแดง เป็นจังหวัดของประเทศไทยในอดีต พัฒนาจากเมืองที่สร้างใหม่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพระประแดงเมื่อ พ.ศ. 2458 แต่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำจึงยุบจังหวัดพระประแดง อำเภอต่าง ๆ ถูกรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดธนบุรีใน พ.ศ. 2474[1]
จังหวัดพระประแดง | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
จังหวัด | |||||||||||||
พ.ศ. 2358 – 2475 | |||||||||||||
ยุคทางประวัติศาสตร์ | รัตนโกสินทร์ | ||||||||||||
• ก่อตั้ง | พ.ศ. 2358 | ||||||||||||
• เปลี่ยนชื่อ | พ.ศ. 2458 | ||||||||||||
• ยกเป็นจังหวัด | พ.ศ. 2459 | ||||||||||||
• ยุบเลิก | 1 เมษายน พ.ศ. 2475 | ||||||||||||
| |||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ไทย |
ประวัติ
แก้เดิมจังหวัดพระประแดงเป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์บริเวณลัดต้นโพธิ์ จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อพัฒนาเป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล โดยแบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครกับเมืองสมุทรปราการบางส่วนมาตั้งเมืองใหม่[2] มีการสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองโดยใช้แรงงานจีน[3] ซึ่งลูกหลานชาวจีนยังอาศัยอยู่ย่านตำบลตลาดมาจนถึงปัจจุบัน[3]
การสร้างเมืองแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามเมืองว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์[4] และโปรดเกล้าฯให้ บุตรชายคนหนึ่งของ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี นามว่า ทอมา มาเป็นเจ้าเมืองคนแรก โดยพระราชทานราชทินนามว่า พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม และย้ายครอบครัวมอญที่มีชายฉกรรจ์ราว 300 คน จากปทุมธานี มาตั้งถิ่นฐานเพื่อรักษาเมืองพร้อมตั้งกรมการเมืองทุกตำแหน่ง หลังจากนั้นก็มีคลื่นผู้อพยพเชื้อสายมอญจากพม่าหลายระลอกเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก[2] ลูกหลาน เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์สืบต่อมาหลายรุ่น ทำให้เมืองแห่งนี้มีอัตลักษณ์ความเป็นมอญที่โดดเด่น[3]
จากการสำรวจของนายแพทย์ สุเอ็ด คชเสนี พบว่า พ.ศ. 2512-2515 มีชาวมอญปากลัดอาศัยอยู่ในพระประแดงจำนวนทั้งสิ้น 94,229 คน[2] อิทธิพลมอญแพร่ไปยังกลุ่มมลายูมุสลิมที่ปากลัด ในพิธีสุหนัต เด็กชายที่เข้าพิธีจะถูกแต่งกายด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับ และแต่งแต้มใบหน้าอย่างประเพณีบวชลูกแก้วของไทใหญ่และพ่อนาคของมอญ แต่โพกผ้าสะระบั่นอย่างแขก ถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน[5]
พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์ แม้จะไม่ได้สร้างบนพื้นที่เดิมของเมืองพระประแดง แต่ก็อยู่ในเขตใกล้เคียงกัน และยังมีความสำคัญดั่งเช่นเมืองพระประแดงเดิม" จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองพระประแดง และเปลี่ยนเป็นจังหวัดพระประแดง ตามลำดับ[3] ส่วนที่ตั้งเมืองพระประแดงเดิมช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 นั้นอยู่บริเวณระหว่างคลองเตยกับคลองพระโขนงตรงข้ามคุ้งบางกะเจ้า ในต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทำการรื้อกำแพงเมืองพระประแดงที่โรยราไปสร้างกรุงธนบุรี[6] หลงเหลือเพียงวัดเก่าประมาณสี่วัดคือ วัดหน้าพระธาตุ วัดทอง วัดเงิน และวัดไก่เตี้ย อันเป็นหลักฐานการมีตัวตนของเมืองพระประแดงเก่า แต่ปัจจุบันวัดทั้งหมดถูกรื้อเพื่อสร้างท่าเรือคลองเตยเมื่อ พ.ศ. 2480[7] และเมืองพระประแดงเก่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดงที่ตั้งขึ้นใหม่แต่ประการใด[4]
15 ตุลาคม พ.ศ. 2458 มีการโอนอำเภอบ้านทวายไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร[8] 31 ตุลาคมปีเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า จังหวัดพระประแดงมีเขตการปกครองอยู่สองอำเภอคือ อำเภอพระประแดงและอำเภอพระโขนง[9] ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2470 มีการโอนตำบลช่องนนทรีและบางโพงพางจากอำเภอพระประแดงมาขึ้นกับอำเภอพระโขนง และโอนอำเภอพระโขนงเข้าจังหวัดพระนคร และโอนอำเภอราษฎร์บุรณะ (ยกเว้นตำบลดาวคะนองและบางปะแก้ว) จากจังหวัดธนบุรีขึ้นกับจังหวัดพระประแดงเพื่อความสะดวกในการปกครอง[10] จังหวัดพระประแดงจึงมีเขตการปกครองสองอำเภอ คือ อำเภอพระประแดงและอำเภอราษฎร์บุรณะ ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วเฉพาะตำบลช่องนนทรีและบางโพงพางที่ถูกโอนออกไปเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่นมาก เมื่อเทียบกับอำเภอราษฎร์บุรณะที่ถูกโอนเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่น้อยลงของจังหวัดพระประแดง[4]
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ยุบจังหวัดพระประแดง โดยอำเภอพระประแดงถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนอำเภอราษฎร์บุรณะถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี[1] มีผลในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474[4]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้จังหวัดพระประแดง ประกอบไปด้วย 4 อำเภอ ได้แก่
- อำเภอพระประแดง (ปัจจุบันคือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ)
- อำเภอพระโขนง (ปัจจุบันคือ เขตพระโขนง, เขตคลองเตย, เขตวัฒนา, เขตประเวศ, เขตสวนหลวง, เขตบางนา และแขวงทับช้าง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร)
- อำเภอบ้านทะวาย (ปัจจุบันคือ เขตยานนาวา, เขตสาทร และเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร)
- อำเภอราษฎร์บุรณะ (ปัจจุบันคือ เขตราษฎร์บูรณะ และเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ ยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48: 576–578. 21 กุมภาพันธ์ 2474. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญปากลัด มอญพระประแดง จ.สมุทรปราการ". คลังเอกสารสาธารณะ. 17 กุมภาพันธ์ 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 "นครร้อยปี นครเขื่อนขันธ์" (PDF). หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-03-25. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 รุ่งโรจน์ อภิรมย์อนุกูล (2556). "เมืองพระประแดง: จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์จบที่อำเภอพระประแดง". ดำรงวิชาการ. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุดารา สุจฉายา (26 พฤษภาคม 2559). "พิธีสุหนัตของบรรดาลูกหลานแขกมอญ ทุ่งครุ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ (3 กันยายน 2562). ""เมืองพระประแดง" แรกสุด และตำนานจระเข้พระประแดง ต้นตระกูลชาละวัน พิจิตร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ประภัสสร์ ชูวิเชียร. วัดร้างในบางกอก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 217-226
- ↑ "ประกาศยกเลิกอำเภอชั้นใน ๗ อำเภอ และตั้งอำเภอชั้นในขึ้นใหม่ ๒๕ อำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32: 335–348. 31 ตุลาคม 2458. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
- ↑ "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่อง กำหนดเขตร์ท้องที่การปกครองกรุงเทพพระมหานคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32: 332–333. 31 ตุลาคม 2458.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง แก้ไขเขตต์จังหวัดพระนคร ธนบุรี พระประแดง สมุทรปราการ และมีนบุรีในมณฑลกรุงเทพฯ กับธัญญะบุรีในมณฑลอยุธยา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44: 153–158. 21 สิงหาคม 2470.