จักรพรรดิซ่งเซี่ยวจง

ซ่งเซี่ยวจง (จีน: 宋孝宗; พินอิน: Sòng Xiàozōng; 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1127 – 28 มิถุนายน ค.ศ. 1194) ชื่อตัวว่า จ้าว เชิ่น (จีนตัวย่อ: 赵眘; จีนตัวเต็ม: 趙眘; พินอิน: Zhào Shèn) ชื่อรองว่า ยฺเหวียนหย่ง (จีน: 元永; พินอิน: Yuányǒng) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 11 ของราชวงศ์ซ่ง (宋朝) แห่งจักรวรรดิจีน และเมื่อแบ่งราชวงศ์ซ่งออกเป็นสมัยเหนือกับสมัยใต้ นับเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋朝) เสวยราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1162 จนสละราชสมบัติใน ค.ศ. 1189

ซ่งเซี่ยวจง
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง
ครองราชย์24 กรกฎาคม ค.ศ. 1162 – 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1189
ราชาภิเษก24 กรกฎาคม ค.ศ. 1162
ก่อนหน้าจักรพรรดิซ่งเกาจง (宋高宗)
ถัดไปจักรพรรดิซ่งกวังจง (宋光宗)
พระเจ้าหลวง (太上皇)
ครองราชย์18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1189 – 28 มิถุนายน ค.ศ. 1194
ประสูติ27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1127(1127-11-27)
จ้าว ปั๋วฉง (趙伯琮; ค.ศ. 1127–1133)
จ้าว เยฺวี่ยน (趙瑗; ค.ศ. 1133–1160)
จ้าว เหว่ย์ (趙瑋; ค.ศ. 1160–1162); จ้าว เชิ่น (趙眘; ค.ศ. 1162–1194)
สวรรคต28 มิถุนายน ค.ศ. 1194(1194-06-28) (66 ปี)
รัชศก
  • หลงซิง (隆興; ค.ศ. 1163–1164)
  • เฉียนเต้า (乾道; ค.ศ. 1165–1173)
  • ฉุนซี (淳熙; ค.ศ. 1174–1189)
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิเช่าถ่ง ถงเต้า กฺวันเต๋อ เจากง เจ๋อเหวิน เฉินอู่ หมิงเชิ่ง เฉิงเซี่ยว (紹統同道冠德昭功哲文神武明聖成孝皇帝) (ได้รับเมื่อ ค.ศ. 1197)
พระอารามนาม
เซี่ยวจง (孝宗)
ราชวงศ์สกุลจ้าว
พระราชบิดาจ้าว จื่อเชิง (趙子偁)
พระราชมารดานางจาง (張氏)

ชื่อ แก้

จ้าว เชิ่น เดิมมีชื่อตัวว่า "จ้าว ปั๋วฉง" (趙伯琮) ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1133 เข้าวังแล้วเปลี่ยนชื่อตัวเป็น "จ้าว เยฺวี่ยน" (趙瑗) ครั้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1160 ได้เป็นโอรสบุญธรรมของจักรพรรดิซ่งเกาจง (宋高宗) แล้วเปลี่ยนชื่อตัวเป็น "จ้าว เหว่ย์" (趙瑋) พอเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1162 ได้เป็นรัชทายาทแล้วจึงเปลี่ยนชื่อตัวเป็น "จ้าว เชิ่น" ตามลำดับ

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1160 จ้าว เชิ่น ได้รับชื่อรองว่า "ยฺเหวียนกุย" (元瑰) ครั้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1162 เมื่อเป็นรัชทายาทแล้วจึงเปลี่ยนชื่อรองเป็น "ยฺเหวียนหย่ง"

ประวัติ แก้

จ้าว เชิ่น เป็นทายาทรุ่นที่ 7 ของจ้าว ควงอิ้น (趙匡胤) ผู้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งไท่จู่ (宋太祖) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซ่ง

จ้าว เชิ่น เป็นบุตรคนที่ 2 ของจ้าว จื่อเชิง (趙子偁; เสียชีวิต ค.ศ. 1143) ลูกพี่ลูกน้องคนที่ 6 ของจ้าว โก้ว (趙構) ผู้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งเกาจง กษัตริย์องค์ที่ 10 ของราชวงศ์ซ่ง

เมื่อเกิดเหตุการณ์จิ้งคัง (靖康事變) ใน ค.ศ. 1127 ญาติพี่น้องของจ้าว โก้ว โดยเฉพาะจ้าว จี๋ (趙佶) บิดา ซึ่งเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งฮุ่ยจง (宋徽宗) และจ้าว หฺวัน (趙桓) พี่ชาย ซึ่งเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งชินจง (宋欽宗) ถูกชาวนฺหวี่เจิน (女真) จับเป็นเชลยไปยังดินแดนราชวงศ์จิน (金朝) ส่วนจ้าว โก้ว หนีลงใต้ได้ แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิซ่งเกาจงสืบราชวงศ์ซ่งต่อ จ้าว โก้ว รับสั่งให้ติดตามหาญาติคนอื่น ๆ ที่อาจหลงเหลืออยู่ จนมาพบจ้าว เชิ่น จึงรับเป็นโอรสบุญธรรมในเดือนเมษายน ค.ศ. 1160 ครั้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1162 จ้าว โก้ว แต่งตั้งจ้าว เชิ่น เป็นรัชทายาท ฐานันดรศักดิ์ว่า "หฺวังไท่จื่อ" (皇太子)

วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1162 จ้าว โก้ว สละราชย์ให้จ้าว เชิ่น ขึ้นเป็นจักรพรรดิซ่งเซี่ยวจง ส่วนจ้าว โก้ว เองได้รับยศพระเจ้าหลวง (太上皇) และยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่ต่อไป

ใน ค.ศ. 1162 นั้นเอง มีการกำหนดว่า ผู้เข้าสอบเป็นขุนนางพลเรือนต้องขี่ม้ายิงธนูเป็น[1]

ครั้น ค.ศ. 1165 ราชวงศ์ซ่งทำสนธิสัญญาสันติภาพกับราชวงศ์จิน

ในรัชกาลจ้าว เชิ่น ราชวงศ์ซ่งยังส่งคณะวาณิชไปต่างประเทศมากกว่าก่อน โดยเฉพาะส่งไปทางมหาสมุทรอินเดีย

จ้าว เชิ่น ยังประกาศคืนฐานะให้แก่ขุนพลเยฺว่ เฟย์ (岳飛) และกวาดล้างกลุ่มของขุนนางฉิน ฮุ่ย (秦檜) ในราชสำนัก

ใน ค.ศ. 1187 พระเจ้าหลวงจ้าว โก้ว สิ้นพระชนม์ จ้าว เชิ่น โทมนัสหนัก จน ค.ศ. 1189 จ้าว เชิ่น จึงสละราชสมบัติให้จ้าว ตุน (趙惇) โอรสของตน ขึ้นเป็นจักรพรรดิซ่งกวังจง (宋光宗) แต่จ้าว เชิ่น รับยศพระเจ้าหลวง และมีอำนาจทางการเมืองต่อไปเหมือนจ้าว โก้ว

จ้าว เชิ่น ประชวรสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1194

ครอบครัว แก้

บิดามารดา
  • บิดา: จ้าว จื่อเชิง (趙子偁; ตาย ค.ศ. 1143), ฐานันดรศักดิ์ว่า "ซิ่วอานซีหวัง" (秀安僖王)
  • มารดา: นางจาง (張氏; ตาย ค.ศ. 1167)
ภริยาและบุตร
  • นางกัว (郭氏; ค.ศ. 1126–1156), เมื่อเสียชีวิตแล้วได้เป็นมเหสี ฐานันดรศักดิ์ว่า "เฉิงมู่หฺวังโฮ่ว" (成穆皇后)
    • จ้าว ฉี (趙愭; ค.ศ. 1144–1167), ได้เป็นรัชทายาท ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังเหวินหฺวังไท่จื่อ" (莊文皇太子)
    • จ้าว ข่าย (趙愷; ค.ศ. 1146–1180), ได้เป็นองค์ชาย ฐานันดรศักดิ์ว่า "เว่ย์ฮุ่ยเซี่ยนหวัง" (魏惠憲王)
    • จ้าว ตุน (趙惇; ค.ศ. 1147–1200), ได้เป็นรัชทายาท และสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิซ่งกวังจง (宋光宗)
    • จ้าว เค่อ (趙恪), ได้เป็นองค์ชาย ฐานันดรศักดิ์ว่า "เช่าเต้าซู่หวัง" (邵悼肅王)
  • นางเซี่ย (夏氏; ตาย ค.ศ. 1167), ได้เป็นมเหสี ฐานันดรศักดิ์ว่า "เฉิงกงหฺวังโฮ่ว" (成恭皇后)
  • เซี่ย ซูฟาง (謝蘇芳; ค.ศ. 1132–1203), ได้เป็นมเหสี ฐานันดรศักดิ์ว่า "เฉิงซู่หฺวังโฮ่ว" (成肅皇后)
  • สตรีไม่ทราบนาม
    • บุตรหญิง (ตาย ค.ศ. 1162), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "เจียกงจู่" (嘉公主)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม

อ้างอิง แก้

  1. Lo, Jung-pang (1 January 2012). China as a Sea Power, 1127-1368: A Preliminary Survey of the Maritime Expansion and Naval Exploits of the Chinese People During the Southern Song and Yuan Periods. NUS Press. pp. 103–. ISBN 978-9971-69-505-7.

บรรณานุกรม แก้