จัตุรัสเทียนอันเหมิน

จัตุรัสสาธารณะในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
(เปลี่ยนทางจาก จตุรัสเทียนอันเหมิน)

จัตุรัสเทียนอันเหมิน (/ˈtjɛnənmən/;[1] จีน: 天安门广场; พินอิน: Tiān'ānmén Guǎngchǎng; เวด-ไจลส์: Tʻien1-an1-mên2 Kuang3-chʻang3) เป็นจัตุรัสกลางเมืองในใจกลางกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งชื่อตามประตูเทียนอัน ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นเขตพระราชวังต้องห้าม จัตุรัสแห่งนี้ประกอบด้วยอนุสาวรีย์วีรชน มหาศาลาประชาชน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน และอนุสรณ์สถานประธานเหมา[2] มีขนาด 880 x 550 เมตร (440,000 ตารางเมตร)[3] จัตุรัสเทียนอันเหมินมีความสำคัญทางวัฒนธรรมอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีน

จัตุรัสเทียนอันเหมิน
天安门广场
จัตุรัสเทียนอันเหมิน แผนที่
ตั้งชื่อตามประตูเทียนอันเหมิน
ชนิดจัตุรัสกลางเมือง
ความยาว880 เมตร
ความกว้าง500 เมตร
พื้นที่440,000 ตารางเมตร
ที่ตั้งกรุงปักกิ่ง, ประเทศจีน
จัตุรัสเทียนอันเหมิน
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ天安门广场
อักษรจีนตัวเต็ม天安門廣場
ฮั่นยฺหวี่พินอินTiān'ānmén Guǎngchǎng
ชื่อภาษาแมนจู
อักษรแมนจู ᡝᠯᡥᡝ ᠣᠪᡠᡵᡝ ᡩᡠᡴᠠ
อักษรโรมันelhe obure duka
ภาพถ่ายทางอากาศของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ประมาณ ค.ศ. 1958-1959 ภายหลังเสร็จสิ้นการขยายจัตุรัส
ภาพถ่ายทางดาวเทียมของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1967

นอกประเทศจีน จัตุรัสแห่งนี้เป็นที่รู้จักดีที่สุดจากการประท้วงและการสังหารหมู่ในปี ค.ศ. 1989 ซึ่งจบลงด้วยการปราบปรามของทหารอันเนื่องมาจากการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศ อินเทอร์เน็ตและการเชื่อมต่อทั่วโลก ผลกระทบทางการเมือง และปัจจัยอื่น ๆ[4][5][6] ส่วนภายในประเทศจีน สิ่งที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ยังคงไม่ทราบโดยชาวจีนส่วนใหญ่เนื่องจากมีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการปราบปรามโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน[7]

ตามมาตรการจัดการโฆษณากลางแจ้งของเทศบาลปักกิ่ง มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการโฆษณากลางแจ้งในจัตุรัสเทียนอันเหมินและในระยะ 100 เมตรจากด้านตะวันออกและตะวันตกของจัตุรัส นอกจากนี้ รถโดยสารประจำทางที่ผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมินก็ห้ามแสดงโฆษณาเช่นกัน ยกเว้นคำขวัญทางการเมืองที่ทำขึ้นในช่วงเทศกาล

พื้นที่ แก้

 
จัตุรัสเทียนอันเหมินเห็นจากประตู

จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นจัตุรัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ 880 เมตร ทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก 500 เมตร พื้นที่ทั้งสิ้น 440,000 ตารางเมตร สามารถจุประชากรได้ถึง 1,000,000 คน

ประวัติศาสตร์ แก้

 
จัตุรัสเทียนอันเหมินในต้นศตวรรษที่ 20 มองจากประตูเจิงหยางเหมิน (ประตูเฉียนเหมิน) กับประตูจงหวาเหมิน ซึ่งต่อมาถูกรื้อออกในปี พ.ศ. 2497

จัตุรัสเทียนอันเหมินได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2194 และขยายให้ใหญ่ขึ้นเป็น 4 เท่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในปี พ.ศ. 2497 ประตูจงหฺวาเหมินถูกรื้อออก ทำให้สามารถทำการขยายจัตุรัสได้ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2501 การขยายจัตุรัสครั้งใหญ่ของจัตุรัสเทียนอันเหมินได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเพียง 11 เดือนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2502 สิ่งนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของเหมา เจ๋อตง ที่ต้องการที่จะสร้างจัตุรัสเทียนอันเหมินให้ใหญ่และงดงามที่สุดในโลก และตั้งใจจะจุประชากรได้มากกว่า 500,000 คน

ในกระบวนการดังกล่าว อาคารที่อยู่อาศัยที่อยู่รอบจัตุรัสจำนวนมากได้ถูกทำลาย ที่ด้านใต้ของจัตุรัสมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์วีรชน

มหาศาลาประชาชน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "สิบสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่" ที่สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2501–2502 เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 10 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกสร้างขึ้นทางด้านตะวันตกและตะวันออกของจัตุรัส

ในช่วงทศวรรษแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน วันชาติแต่ละปี (วันที่ 1 ตุลาคม) จะมีการจัดการสวนสนามทางทหารขนาดใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยได้แบบอย่างมาจากการเฉลิมฉลองประจำปีของการปฏิวัติบอลเชวิคของสหภาพโซเวียต

หลังจากนโยบาย "ก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า" ไม่ประสบผลสำเร็จ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายและจัดงานฉลองวันชาติประจำปีให้เล็กลง ยกเว้นงานเฉลิมฉลองขนาดใหญ่ที่จะมีการสวนสนามทางทหารทุก ๆ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยความโกลาหลของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเกือบจะทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในวันชาติปี พ.ศ. 2512 (การเฉลิมฉลองยังจัดขึ้นที่นั่นในปี พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2513)

10 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2522 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตัดสินใจที่จะไม่จัดงานเฉลิมฉลองวันชาติขนาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เติ้ง เสี่ยวผิงกำลังรวบรวมอำนาจ และจีนกำลังประสบกับปัญหาสงครามจีน-เวียดนามอยู่

ในปี พ.ศ. 2527 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จีนจึงได้จัดการสวนสนามทางทหารเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 แต่ผลที่ตามมาจากการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทำให้ไม่มีการสวนสนามทางทหารในปี พ.ศ. 2532 แต่ถูกจัดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 และ 2552 ตามลำดับ ในวันครบรอบปีที่ 50 และ 60 ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558 มีการจัดการสวนสนามเพื่อฉลองครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 มีการจัดการสวนสนามทางทหารครบรอบ 50 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนหน้านั้น กระเบื้องปูพื้นทั้งหมดในจัตุรัสถูกเปลี่ยนใหม่ และกระเบื้องปูพื้นเก่ากำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของนักสะสม และชิ้นหนึ่งขายในราคาหลายพันหยวน

ภูมิทัศน์ แก้

สถานที่สำคัญโดยรอบจัตุรัสเทียนอันเหมิน อาทิเช่น

ประตูเทียนอันเหมิน แก้

 
ประตูเทียนอันเหมิน

เป็นประตูหน้าของพระราชวังต้องห้าม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1990 ในสมัยราชวงศ์หมิง เดิมมีชื่อว่า"เฉิงเทียนเหมิน" (จีน: 承天门城楼)

ในปี พ.ศ. 2194 เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังกบฏของหลี่ จื้อเฉิง กับกองกำลังของราชวงศ์ชิงทำให้ประตูเฉิงเทียนเหมินได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชุ่นจื้อ แห่งราชวงศ์ชิง ทรงมีรับสั่งให้มีการบูรณะประตูขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2194 และยังทรงรับสั่งให้เปลี่ยนชื่อประตูเป็น "เทียนอันเหมิน" คำว่า ‘เทียน’ แปลว่า ฟ้า ‘อัน’ แปลว่า ผาสุก สันติ ราบคาบ ‘เหมิน’ แปลว่า ประตู

เสาธงชาติ แก้

 
เสาธงชาติที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

เสาธงชาติในพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสูง 22.5 เมตร ทำด้วยท่อจำนวน 4 ท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางต่างกันจากการประปาปักกิ่ง เดิมทีเสาธงถูกกำหนดให้มีความสูงเท่ากับประตูเทียนอันเหมิน ซึ่งคำนวณไว้ที่ 35 เมตร แต่เนื่องจากเงื่อนไขจำกัดในขณะนั้น จึงไม่สามารถหาวัสดุที่เหมาะสมได้

ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2533 หลังจาก "กฎหมายธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน" ได้รับการประกาศและบังคับใช้ เสาธงของจัตุรัสเทียนอันเหมินได้ถูกเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2534 มีความสูง 30 เมตร ปัจจุบันเสาธงอันเดิมถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน

อนุสาวรีย์วีรชน แก้

 
อนุสาวรีย์วีรชน

เป็นเสาโอเบลิสก์สูง 10 ชั้น ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติของจีน เพื่ออุทิศให้กับผู้พลีชีพในการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจัตุรัส หน้าอนุสรณ์สถานประธานเหมา สร้างขึ้นตามมติของการประชุมเต็มคณะครั้งแรกของการประชุมปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน ซึ่งรับรองเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 โดยก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2495 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2501

อนุสาวรีย์มีความสูง 37.94 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ทำจากหินอ่อนและหินแกรนิตประมาณ 17,000 ชิ้นจากชิงเต่า มณฑลซานตง รวมทั้งจากเขตฝางซานที่อยู่ใกล้เคียง

มหาศาลาประชาชน แก้

 
อาคารมหาศาลาประชาชน

เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของจัตุรัส ถูกใช้เป็นอาคารทางนิติบัญญัติและใช้ในงานพิธีการต่าง ๆของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังเป็นที่สถานจัดประชุมใหญ่ประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันนิติบัญญัติของประเทศ และยังเป็นสถานที่จัดการประชุมปรึกษาการเมืองประชาชนจีน

เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2502 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครอบรอบ 10 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถจุคนได้ถึง 10,000 คน

มีพื้นที่ในอาคาร 171,801 ตารางเมตร ยาว 336 เมตร กว้าง 206.5 เมตร จุดที่สูงที่สุดมีความสูง 46.5 เมตร มีปริมาตรภายในกว่า 90,000 ลูกบาศ์กเมตร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน แก้

 
อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน

เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจัตุรัส เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2502 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครอบรอบ 10 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ได้รับการปรับปรุงในปี พ.ศ. 2541 และเปิดใช้งานอีกครั้งในปี พ.ศ. 2546 ในชื่อ "พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน" โดยการรวม 2 พิพิธภัณฑ์ที่แยกจากกันแต่อยู่ในอาคารเดียวกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ได้แก่

  • พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การปฏิวัติจีน
  • พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติจีน

อนุสรณ์สถานประธานเหมา แก้

 
อนุสรณ์สถานประธานเหมา

หรือที่รู้จักในชื่อ"สุสานของเหมา เจ๋อตง" เป็นสถานที่พำนักสุดท้ายของประธานเหมา เจ๋อตง บิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกสร้างขึ้นไม่นานหลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2519 และเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2520

ร่างของประธานเหมาถูกเก็บรักษาไว้ในในโลงแก้วใจกลางอาคาร และถูกอารักขาโดยทหารกองเกียรติยศ เปิดให้สาธารณชนเข้าชมทุกวันยกเว้นวันจันทร์

ประตูเจิ้งหยางเหมิน แก้

 
ประตูเจิงหยางเหมิน ด้านเหนือ
 
ประตูเจิงหยางเหมิน ด้านใต้

เดิมชื่อว่า ประตูลี่เจิ้งเหมิน (จีน: 丽正门城楼) มีความหมายว่า "ประตูใหญ่ที่สวยงาม" เป็นประตูกำแพงเมืองโบราณของปักกิ่ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจัตุรัส และครั้งหนึ่งเคยป้องกันทางเข้าด้านใต้ก่อนเข้าสู่เมืองชั้นใน แม้ว่ากำแพงเมืองปักกิ่งส่วนใหญ่ถูกทำลายไปแล้ว แต่ประตูเจิ้งหยางเหมินยังคงเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญของเมือง

เหตุการณ์ แก้

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นที่นี่ เช่น การประท้วงระหว่างขบวนการ 4 พฤษภาคมในปี พ.ศ. 2462 การประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเหมา เจ๋อตง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2519 ภายหลังจากการเสียชีวิตของนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล และการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2532 หลังการเสียชีวิตของหู เย่าปัง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น ผลที่ตามมาคือการปราบปรามของทหารและการเสียชีวิตของผู้ประท้วงที่เป็นพลเรือนหลายร้อยหรือหลายพันคน หนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุดจากเหตุการณ์นี้คือภาพชายคนหนึ่งยืนอยู่หน้าแนวรถถังที่กำลังเคลื่อนที่และไม่ยอมขยับ ซึ่งถูกจับได้บนถนนฉางอานใกล้กับจัตุรัส

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การสวนสนามทางทหารประจำปีในแต่ละปีครบรอบการสถาปนาสาธารณัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2492 จนถึง พ.ศ. 2502 การสวนสนามทางทหารในปี พ.ศ. 2527 เพื่อฉลองครบรอบ 35 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน การสวนสนามทางทหารในวันครบรอบ 50 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2542 เหตุการณ์เผาตัวเองที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2544 การสวนสนามทางทหารในวันครบรอบ 60 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2552

การเข้าถึง แก้

จัตุรัสเทียนอันเหมินตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง สามารถเข้าถึงได้โดยระบบขนส่งสาธารณะ

รถไฟใต้ดิน
รถโดยสารประจำทาง
  • สาย 1, 5, 10, 22, 52, 59, 82, 90, 99, 120, 126, 203, 205, 210 และ 728 จอดด้านทิศเหนือของจัตุรัส
  • สาย 2, 5, 7, 8, 9, 17, 20, 22, 44, 48, 53, 54, 59, 66, 67, 72, 82, 110, 120, 126, 301, 337, 608, 673, 726, 729, 901, 90, พิเศษ 2, พิเศษ 4 และ พิเศษ 7 จอดด้านทิศใต้ของจัตุรัส

โดยปกติแล้วจัตุรัสจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชม ภายใต้รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ก่อนเข้า ผู้เข้าชมและทรัพย์สินของพวกเขาจะถูกตรวจค้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปของสถานที่ท่องเที่ยวในจีนหลายแห่ง แม้ว่าจัตุรัสจะค่อนข้างผิดปกติตรงที่นักท่องเที่ยวในประเทศมักถูกตรวจสอบเอกสารระบุตัวตนและวัตถุประสงค์ของการเข้าชม เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจะเดินตรวจพื้นที่ มีถังดับเพลิงจำนวนมากวางอยู่ในพื้นที่เพื่อดับไฟหากผู้ประท้วงพยายามเผาตัวเอง

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Tiananmen Square". Lexico UK English Dictionary. Oxford University Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 18, 2021.
  2. The Columbia Encyclopedia, 6th ed
  3. "Tiananmen Square incident". Britannica. สืบค้นเมื่อ 11 February 2021.
  4. Miles, James (2 June 2009). "Tiananmen killings: Were the media right?". BBC News. สืบค้นเมื่อ 3 November 2010.
  5. "Tiananmen Square protest death toll 'was 10,000'". BBC News. 23 December 2017. สืบค้นเมื่อ 3 June 2019.
  6. "The Truth Behind The Tiananmen Square Massacre - CBS News". www.cbsnews.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2009-06-04. สืบค้นเมื่อ 2023-06-30.
  7. Pu, Bao (2015-06-03). "Tiananmen and the Chinese Way of Censorship". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2023-07-31.

39°54′26″N 116°23′29″E / 39.90722°N 116.39139°E / 39.90722; 116.39139