งูเห่าหม้อ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Elapidae
สกุล: Naja
สปีชีส์: N.  kaouthia
ชื่อทวินาม
Naja kaouthia
Lesson, 1831
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Naja kaouthia Lesson, 1831
  • Naja tripudians var. fasciata Gray, 1830
  • Naia tripudians var. fasciata Boulenger, 1896
  • Naja naja sputatrix Bourret, 1937
  • Naja naja kaouthia Smith, 1940
  • Naja kaouthia kaouthia – Deraniyagala, 1960
  • Naja naja kaouthia – Harding & Welch, 1980
  • Naja naja kaouthia – Golay, 1985
  • Naja kaouthia suphanensis Nutaphand, 1986
  • Naja kaouthia – Manthey & Grossman, 1997
  • Naja kaouthia – Cox et al., 1998
  • Naja naja kaouthia – Sharma, 2004

งูเห่าไทย งูเห่าดง งูเห่าหม้อ งูเห่าปลวก หรือ งูเห่าพ่นพิษอินเดีย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Naja kaouthia) เป็นงูพิษร้ายแรงชนิดหนึ่ง จำพวกงูเห่า อยู่ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae)

หัวมีลักษณะกลมเรียว หางเรียวยาว มีสีสันลำตัวต่าง ๆ ทั้ง สีดำ, เขียว หรือน้ำตาลเหลืองหรือน้ำตาลเข้ม รวมทั้งเป็นสีขาวนวลปลอดตลอดทั้งตัวด้วย​ งูเห่า​ไทย​มีดอกจันเป็นรูปตัว​ O โดยที่มิใช่เป็นงูเผือกเรียกว่า "งูเห่านวล" (N. k. var. suphanensis Nutaphand, 1986) มีทั้งที่มีลายตามตัว และไม่มีลาย ไม่มีดอกจัน พบที่แถบจังหวัดสุพรรณบุรี[1] มีนิสัยดุร้าย มีพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ถูกกัดเสียชีวิต พิษของงูเห่านับว่ามีความร้ายแรงมาก

ตัวผู้หัวจะทู่ใหญ่ พังพานจะแผ่กว้างเป็นวงกลม ส่วนตัวเมียหัวจะหลิมปลายจมูกเรียว พังพานแคบกว่าตัวผู้ โดยงูเห่าชนิดนี้สามารถแผ่พังพานได้กว้างกว่างูเห่าชนิดอื่น ๆ และใกล้เคียงกับงูเห่าอินเดีย (N. naja) ที่พบได้ในประเทศอินเดีย และเมื่อยกตัวชูคอแผ่พังพานได้สูงที่สุดประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว เกล็ดบนหัวมีขนาดใหญ่

งูเห่าไทย จัดเป็นงูเห่าที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง โดยความยาวเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 100–180 เซนติเมตร โดยขนาดยาวที่สุดที่วัดได้ของสถานเสาวภา โดยสภากาชาดไทย คือ 225 เซนติเมตร

งูเห่าไทย พบกระจายพันธุ์อย่างชุกชุมในประเทศไทย โดยพบได้ทุกภาค พบชุกชุมโดยเฉพาะภาคกลาง ส่วนใหญ่ในภาคกลาง พบมากที่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม อยุธยา นครนายก อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี นอกจากนี้แล้วยังพบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่อินเดีย, เนปาล, พม่า, จีน, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว ไปจนถึงแหลมมลายู ในประเทศไทยถือเป็นงูเห่าชนิดที่พบได้ชุกชุมมากที่สุด โดยมักในบริเวณที่ลุ่มค่อนข้างชื้น มักอาศัยอยู่ในจอมปลวก, ทุ่งนา หรือพบบนภูเขาที่ระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลและชุมชนป่าในเมือง ออกหากินในเวลาพลบค่ำโดยหากินตามพื้นดิน งูเห่าหม้อบางตัวมีความสามารถในการพ่นพิษ ทำให้พวกมันได้รับฉายาว่า "งูเห่าพ่นพิษอินเดีย"[2][3] ผสมพันธุ์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงมกราคม วางไข่ครั้งละ 15–37 ฟอง ในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ระยะฟักไข่นาน 51–69 วัน (เฉลี่ย 60 วัน) เมื่อแรกเกิดมีน้ำหนัก 13.2–18.8 กรัม และความยาว 31.5–35.5 เซนติเมตร

กินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเช่น หนู และ นก, กบ, เขียด และบางครั้งก็กินงูชนิดอื่นเป็นอาหาร

อ้างอิง แก้

  1. วิโรจน์ นุตพันธุ์ น.อ.(พิเศษ), ลายงูไทย (พ.ศ. 2544) ISBN 9747751917
  2. Wuster, Wolfgang; Thorpe, Roger S. (1992). "Dentitional phenomena in cobra revisited: spitting and fang structure in the Asiatic species of Naja (Serpentes: Elapidae)" (PDF). Herpetologica. 48 (4): 424–434.
  3. Santra, Vishal; Wüster, Wolfgang (2017). "Naja kaouthia behavior/spitting" (PDF). Herpetological Review. 48 (2): 455.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Naja kaouthia ที่วิกิสปีชีส์