คิตช์-อิตี-คิปี
คิตช์-อิตี-คิปี (อังกฤษ: Kitch-iti-kipi) เป็นแหล่งน้ำซับน้ำจืดธรรมชาติใหญ่ที่สุดในรัฐมิชิแกน[1][2][3] ความหมายของชื่อสถานที่แห่งนี้ในภาษาโอจิบเวคือ "น้ำซับเย็นใหญ่" [1] บางครั้งเรียกที่แห่งนี้ว่า "น้ำซับใหญ่" (Big Spring)[2][4] ชาวโอจิบเวเป็นผู้ริเริ่มเรียกพื้นที่นี้ว่าคิตช์-อิตี-คิปีหรือ "กระจกแห่งสรวงสวรรค์" ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันในปัจจุบัน[4][5]
คิตช์-อิตี-คิปี | |
---|---|
Big Spring | |
ทิวทัศน์ของแหล่งน้ำซับคิตช์-อิตี-คิปี | |
ที่ตั้ง | เทศมณฑลสคูลคราฟต์, รัฐมิชิแกน |
พิกัด | 46°00′15″N 86°22′55″W / 46.00412°N 86.38201°W |
ประเภท | น้ำซับ |
น้ำซับคิตช์-อิตี-คิปีเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพื้นที่อัพเพอร์เพนีซูลา รัฐมิชิแกน[4] ตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งรัฐพามส์บุค ในทาวน์ชิพธอมป์สัน เทศมณฑลสคูลคราฟต์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองแมนิสตีค (Manistique)[6][7] ปี ค.ศ. 1926 รัฐมิชิแกนได้รับพื้นที่น้ำซับและส่วนที่ติดต่อกัน โดยมีเงื่อนไขให้พื้นที่กลายเป็นอุทยาน ตั้งแต่นั้นรัฐมิชิแกนได้ซื้อที่ดินโดยรอบและได้ขยายขอบเขตของอุทยานเป็นอย่างมาก[4]
รูปร่างและลักษณะ
แก้คิตช์-อิตี-คิปีเป็นสระรูปวงรีสีเขียวมรกตขนาด 300 × 175 ฟุต (91 × 53 ม.) และลึกประมาณ 40 ฟุต (12 ม.)[4] น้ำซับอุณหภูมิคงที่ 45 °F (7 °C) จะไหลจากรอยแยกใต้หินปูน 10,000 ยูเอสแกลลอนต่อนาที (630 ลิตร/วินาที) ตลอดทั้งปี[4][2] แรงดันไฮดรอลิกดันน้ำบาดาลขึ้นมาสู่พื้นผิว ซึ่งยังไม่ทราบว่าน้ำปริมาณมหาศาลมาจากที่ใด ลักษณะของสระคล้ายคลึงกับหลุมยุบอื่น แต่แตกต่างที่มีการเชื่อมต่อสู่ทะเลสาบอินเดียที่อยู่ใกล้เคียงด้วยชั้นหินอุ้มน้ำ (ทางน้ำใต้ดิน) สระน้ำซับขนาดเล็กนี้เกิดจากการละลายของชั้นบนสุดของหินปูน แล้วถล่มลงมาสู่ถ้ำ อันเกิดจากการกระทำของน้ำใต้ดิน [1]
ด้วยน้ำซับมีน้ำใส จึงสามารถเห็นปลาและลำต้นของต้นไม้โบราณมีแร่ห่อหุ้มกิ่งก้านอย่างชัดเจน[4] สปีชีส์ของปลาที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ ปลาเทราต์ทะเลสาบ ปลาเทราต์น้ำตาลและปลาเทราต์ลำธาร ในบางครั้งอาจพบปลาเพริชเหลือง และปลาสปีชีส์อื่นที่เคลื่อนที่ไปมาระหว่างน้ำซับแห่งนี้และทะเลสาบอินเดีย[1]
คำว่า Kitch-iti-kipi มีหลายความหมายในภาษาของชาวโอจิบเว ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองท้องถิ่น ความหมายบางส่วนได้แก่ "แหล่งน้ำยิ่งใหญ่" (The Great Water), "ท้องนภาสีฟ้าที่ฉันเห็น" (The Blue Sky I See) และ"น้ำซับฟองผุด" (Bubbling Spring) แม้ไม่มีเสียงใดมาจากน้ำซับแห่งนี้ แต่ชนพื้นเมืองอเมริกันกลุ่มอื่นเรียกที่แห่งนี้ว่า "เสียงคำราม" (The Roaring), "น้ำเสียงกลอง" (Drum Water) และ "เสียงอัสนี" (Sound of Thunder) [6] ผลของภาพลานตาทำให้เห็นรูปร่างและรูปทรงของน้ำซับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของมวลทรายด้วยการไหลของน้ำ[4]
ประวัติ
แก้รัฐมิชิแกนได้รับมอบคิตช์-อิตี-คิปีในปี ค.ศ. 1926 บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 จอห์น ไอ. เบลแลร์ เจ้าของร้านห้าเซนต์ (Five and Dime store) ในเมืองแมนิสตีค ได้ค้นพบแหล่งน้ำซับมีลักษณะคล้ายหลุมดำในพื้นที่ป่าหนาแน่นของอัพเพอร์เพนีซูลา รัฐมิชิแกนและได้หลงรักสถานที่แห่งนี้ คิตช์-อิตี-คิปีซ่อนอยู่ท่ามกลางไม้ล้มและพบว่าคนตัดไม้ใช้พื้นที่ใกล้เคียงเป็นที่ทิ้งขยะ[6]
เบลแลร์เล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ในฐานะจุดพักผ่อนหย่อนใจสาธารณะ เขาสามารถซื้อพื้นที่บริเวณนี้เป็นของเขาเสียเองก็ได้ ทว่าเขาโน้มน้าวให้แฟรงค์ ปามส์ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทปามส์บุคแลนด์ให้ขายแหล่งน้ำซับและพื้นที่อีก 90 เอเคอร์ให้กับรัฐมิชิแกนในราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีข้อตกลงให้ใช้พื้นที่เป็นอุทยานสาธารณะตลอดไป พร้อมทั้งให้มีชื่อว่าอุทยานแห่งรัฐพามส์บุค[6] รัฐมิชิแกนได้ซื้อพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม จนในปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 300 เอเคอร์[4]
แพ
แก้คิตช์-อิตี-คิปีมีแพสังเกตการณ์บังคับเองพานักท่องเที่ยวไปยังจุดดีที่สุดเพื่อเยี่ยมชมลักษณะใต้ผืนน้ำ[4][2] โดยแพสังเกตการณ์มีสายเคเบิลยึดให้เจ้าหน้าที่อุทยานหรือนักท่องเที่ยวเป็นผู้ดึงสายเคเบิลให้แพสังเกตการณ์เคลื่อนที่ข้ามสระน้ำซับ แพสังเกตการณ์มีหน้าต่างให้นักท่องเที่ยวได้ชมการไหลที่รวดเร็วของน้ำซับ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถมองออกไปด้านข้างเพื่อชมทัศนียภาพได้เช่นกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของรัฐมิชิแกนและกลุ่มพลเรือนอนุรักษ์มิชิแกนดำเนินการสร้างแพ, ท่าเรือ, ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มและที่พักเจ้าหน้าที่เมื่อปี ค.ศ. 2013[8]
ตำนานชนพื้นเมืองอเมริกัน
แก้มีตำนานหลายเรื่องอ้างว่าเป็นของชนพื้นเมืองอเมริกันเกี่ยวกับคิตช์-อิตี-คิปี อย่างไรก็ตามแหล่งข้อมูลบางแหล่งเสนอแนะว่าเบลแลร์อาจเป็นผู้สร้างตำนานขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์อุทยาน[1][6]
มีตำนานหนึ่งกล่าววถึง คิตช์-อิตี-คิปี เป็นหัวหน้าเผ่าวัยหนุ่มในพื้นที่ เขาบอกคนรักของเขาว่าเขารักเธอมากกว่าหญิงผมดำรายอื่นที่เต้นรำอยู่ใกล้กระโจมเปลือกไม้ของเขา เธอต้องการให้เขาเข้าสู่บททดสอบแห่งความรักและเรียกร้องให้ "พิสูจน์" บททดสอบการอุทิศตนของเขาคือเขาต้องล่องเรือแคนูในน้ำซับลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าสนชุ่มน้ำ จากนั้นเธอจะกระโดดจากกิ่งไม้ที่ยื่นออกมาด้วยความเชื่อใจ แล้วเขาจะรับเธอจากเรือแคนูเพื่อพิสูจน์ความรัก[4] ดังนั้นเขาจึงนำเรือแคนูบอบบางของเขาไปยังน่านน้ำเย็นจัดของทะเลสาบเพื่อตามหาเธอ ท้ายที่สุดเรือแคนูของเขาก็พลิกคว่ำในความพยายามนี้ เขาจมน้ำตายในความพยายามที่จะสนองความไร้สาระของความรักที่มีต่อหญิงสาวชาวอเมริกันพื้นเมือง ซึ่งปรากฏว่าเธอกลับมาที่หมู่บ้านของเธอกับหญิงสาวชาวอเมริกันพื้นเมืองอื่น ๆ พวกเธอหัวเราะเกี่ยวกับภารกิจไม่มีความหมายของเขา ดังนั้นจึงตั้งชื่อน้ำซับตามชื่อของเขาเพื่อเป็นการระลึกถึง[9]
อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงหญิงสาวชาวพื้นเมืองอเมริกันในพื้นที่จะหยดน้ำผึ้งลงบนเปลือกไม้เบิร์ชแล้วจุ่มลงในน้ำซับ จากนั้นจะนำสิ่งนั้นมามอบให้แก่หัวหน้าเผ่าวัยหนุ่มที่พวกเธอชื่นชอบ เพื่อให้เขาเป็นรักแท้ตลอดไป[6]
อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงต้นทามาแรค (tamarack) ซึ่งขึ้นอยู่ตามแนวตลิ่งของแหล่งน้ำซับ เชื่อว่าเมื่อใช้สากกะเบือบดเปลือกไม้ขนาดเล็กแล้วใส่ไว้ในกระเป๋าเปล่า ๆ ยามเที่ยงคืนเศษนั้นจะเปลี่ยนเป็นทองคำอย่างน่าอัศจรรย์[6]
อีกตำนานหนึ่งกล่าวถึงพ่อแม่บางคนมายังน้ำซับเพื่อแสวงหาชื่อสำหรับลูกชายหรือลูกสาวเกิดใหม่ พวกเขาจะอนุมานว่าได้ชื่อใหม่จากเสียงของน้ำกระเพื่อม เช่น ซาตู (ที่รัก), คาคูชิกา (ตาโต), นาตูโกโร (ดอกไม้งาม) และเวชิ (ปลาน้อย) เป็นต้น[6] ตำนานอื่น ๆ ยังกล่าวอีกว่าชนพื้นเมืองอเมริกันมอบพลังฟื้นฟูพิเศษให้กับน้ำในน้ำซับ[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "A Spring with a story to tell". Detroit Free Press. Detroit, Michigan. August 30, 1999. p. 19 – โดยทาง Newspapers.com .
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Madison, George; Lockwood, Roger N. (October 2004). "Manistique River Assessment". Fisheries Special Report 31 (PDF). Ann Arbor: Michigan Department of Natural Resources. pp. 65–72. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ December 20, 2007. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.
- ↑ U.S. Geological Survey Geographic Names Information System: คิตช์-อิตี-คิปี
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 "Big Spring (Kitch-iti-kipi)". Exploring the North. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 10, 2008. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.
- ↑ "Michigan". St. Louis Post-Dispatch. St. Louis, Missouri. June 2, 2002. p. 128. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 13, 2020. สืบค้นเมื่อ July 14, 2020 – โดยทาง Newspapers.com .
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Michigan Department of Natural Resources. "Palms Book State Park Detail". Michigan Department of Natural Resources. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 2, 2008. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.
- ↑ DuFresne, Jim; Clifton-Thornton, Christine (1998). Michigan State Parks: A Complete Recreation Guide. Seattle: The Mountaineers Books. p. 9. ISBN 0-89886-544-1. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008 – โดยทาง Google Books.
- ↑ "'Big Spring' park gets $140,000 in renovations". Livingston County Daily Press and Argus. Howell, Michigan. June 15, 2003. p. 13 – โดยทาง Newspapers.com .
- ↑ "Kitchitikipi: Big Spring". Upper Michigan Waterfalls. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2008. สืบค้นเมื่อ May 12, 2008.