ความร่วมมือแห่งยุโรป

ความร่วมมือแห่งยุโรป (อังกฤษ: Concert of Europe) เป็นความเห็นพ้องทั่วไปในหมู่มหาอำนาจยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่จะธำรงดุลอำนาจและบูรณภาพแห่งดินแดนยุโรป[1] ถึงแม้จะไม่เป็นความเห็นพ้องสมบูรณ์ แต่ความร่วมมือนี้ก่อเกิดช่วงเวลาสันติภาพและเสถียรภาพที่ยาวนานหลังยุโรปประสบกับสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส และสงครามนโปเลียนมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1790 ความร่วมมือแห่งยุโรปแบ่งออกเป็นสองช่วง โดยช่วงที่หนึ่งระหว่างปี ค.ศ. 1815 ถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1860 และช่วงที่สองระหว่างต้นคริสต์ทศวรรษ 1880 ถึงปี ค.ศ. 1914[2]

ความร่วมมือแห่งยุโรป
ค.ศ. 1815 ถึง 1848 – ค.ศ. 1871 ถึง 1914
เขตแดนของชาติยุโรปที่กำหนดในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. 1815
รวมถึง
← ก่อนหน้า
สมัยนโปเลียน
ถัดไป →
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ความร่วมมือแห่งยุโรปช่วงที่หนึ่ง

แก้

ความร่วมมือแห่งยุโรปช่วงที่หนึ่งรู้จักในชื่อ ระบบการประชุมใหญ่ (Congress System) หรือ ระบบเวียนนา (Vienna System) ตามการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (ค.ศ. 1814–1815) อันเป็นการประชุมเพื่อตกลงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส และสงครามนโปเลียน นำโดยห้าชาติมหาอำนาจได้แก่ ออสเตรีย ฝรั่งเศส ปรัสเซีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักร[3] แม้ช่วงแรกความร่วมมือจะถูกวางกรอบเป็นการประชุมทั่วไปเพื่อหารือข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในหมู่มหาอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติความร่วมมือแห่งยุโรปช่วงที่หนึ่งถูกจัดตั้งอย่างมีจุดประสงค์เฉพาะ และประสบความสำเร็จในการป้องกันและจำกัดวงความขัดแย้ง นอกจากนี้ชาติที่เข้าร่วมอย่างกลุ่มพันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ใช้ความร่วมมือนี้ในการต้านขบวนการนักปฏิวัติและเสรีนิยม รวมถึงบั่นทอนกำลังกลุ่มชาตินิยม[4]

ต่อมาความร่วมมือแห่งยุโรปช่วงที่หนึ่งเผชิญกับการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 ที่มีการเรียกร้องเอกราช เอกภาพของชาติ การปฏิรูปเสรีนิยมและประชาธิปไตย แม้การปฏิวัติจะถูกปราบโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตมากนัก แต่สงครามไครเมีย และการเจริญของแนวคิดชาตินิยมที่ตามมาจนเกิดเป็นสงครามรวมชาติอิตาลีและเยอรมัน ทำให้ความร่วมมือช่วงที่หนึ่งสิ้นสุดลงช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860[5]

ความร่วมมือแห่งยุโรปช่วงที่สอง

แก้

หลังการรวมชาติเยอรมันในปี ค.ศ. 1871 อ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค นายกรัฐมนตรีเยอรมันมีความคิดในการฟื้นฟูความร่วมมือแห่งยุโรปเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ และประกันความได้เปรียบด้านอำนาจต่อรองระหว่างประเทศของเยอรมัน[6] ในปี ค.ศ. 1878 บิสมาร์คจัดการประชุมใหญ่เบอร์ลิน นำโดยหกชาติมหาอำนาจได้แก่เยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย และสหราชอาณาจักร เพื่อตัดสินดินแดนของรัฐในคาบสมุทรบอลข่านหลังสงครามรัสเซีย-ตุรกี ซึ่งถึงแม้การประชุมนี้จะได้รับการยกย่องอย่างสูงในการสร้างสันติภาพและการรักษาเสถียรภาพ แต่กลับสร้างปัจจัยที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งในภายหลัง[7] การประชุมครั้งต่อ ๆ มาคือการประชุมเบอร์ลิน (ค.ศ. 1884–1885) เพื่อกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการเข้าครอบครองดินแดนในทวีปแอฟริกาโดยไม่ให้เกิดความขัดแย้งในหมู่เจ้าอาณานิคม ก่อให้เกิดลัทธิอาณานิคมในทวีปแอฟริกาที่ยืนยาวไปจนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[8]

ท้ายที่สุดความร่วมมือแห่งยุโรปช่วงที่สองสิ้นสุดลงเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นในปี ค.ศ. 1914 อันเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือช่วงที่สองล้มเหลวในการรับมือกับการล่มสลายของอิทธิพลจักรวรรดิออตโตมันในคาบสมุทรบอลข่าน การแบ่งขั้วอำนาจเป็นสองฝ่าย (ไตรพันธมิตรกับไตรภาคี) และความรู้สึกของผู้นำทหารและประชาชนที่ว่าสงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อ้างอิง

แก้
  1. "The Congress of Vienna (1814–1815)". Oxford Public International Law (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.
  2. "Concert of Europe (The) | EHNE". ehne.fr. สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.
  3. "Congress of Vienna". Britannica. สืบค้นเมื่อ December 27, 2020.
  4. "The Congress of Vienna". Lumen Learning. สืบค้นเมื่อ December 27, 2020.
  5. "The German-Danish war (1864) - ICRC". www.icrc.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 1998-04-06. สืบค้นเมื่อ 2019-10-23.
  6. Pflanze, Otto (July 14, 2014). Bismarck and the Development of Germany, Volume III: The Period of Fortification, 1880-1898. Princeton, New Jersey, United States: Princeton University Press. p. 85. ISBN 9781400861095.
  7. "Congress of Berlin". New World Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ December 27, 2020.
  8. Brantlinger, Patrick (1985). "Victorians and Africans: The Genealogy of the Myth of the Dark Continent". Critical Inquiry. 12 (1): 166–203. doi:10.1086/448326. JSTOR 1343467.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้