คลองอุดมชลจร เป็นคลองขุดที่แยกจากคลองนครเนื่องเขตไปออกคลองประเวศบุรีรมย์ อยู่ในท้องที่ตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และตำบลคลองอุดมชลจร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

แต่เดิมคลองนี้เรียกว่า คลองเดโช เนื่องจากพระยาสีหราชเดโช (โต บุนนาค) ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองอุดมชลจรในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2431–2433[1] โดยอ้างความจำเป็นว่าราษฎรในกรุงเทพและแขวงนครเขื่อนขันธ์จนถึงฉะเชิงเทราต้องการที่นา พระยาสีหราชเดโช (โต บุนนาค) เห็นว่าหลวงแพ่งพาณิชย์มาจับจองที่นาได้หลังขุดคลองหลวงแพ่ง ตนเองจึงเข้ามาขุดคลองบ้าง[2] โดยได้ขุดแยกจากคลองนครเนื่องเขตรฝั่งใต้ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ไปออกคลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือในอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา มีความยาว 380 เส้น (15.2 กิโลเมตร)[3] กว้าง 4 วา ลึก 4 ศอก ยืนสูงขึ้นไปฝั่งละ 33 เส้น เป็นที่นา 20,625 ไร่ แต่เมื่อขุดเสร็จเนื้อที่ไม่พอกับราษฎรที่ได้แจ้งลงทะเบียนไว้ จึงขอขุดคลองเพิ่มสองคลองโดยแยกจากคลองหลักทะลุถึงคลองหลวงแพ่ง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2433

หลังจากการขุดคลองแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยกเงินค่านาให้แก่ราษฎรที่ทำการหักร้างถางพงและจับจองที่ดินทั้งสองฝั่งคลองเป็นเวลา 3 ปี คลองทั้งสามคลองที่ขุดใช้แรงงานชาวจีนจำนวน 215 คน[4]

อ้างอิง

แก้
  1. "แหล่งท่องเที่ยวในตำบลคลองอุดมชลจร". กศน.ตำบลคลองอุดมชลจร. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2023.
  2. "ตำบลคลองอุดมชลจร". กศน. ตำบลคลองอุดมชลจร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 สิงหาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2022.
  3. "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-19. สืบค้นเมื่อ 2022-08-21.
  4. พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 88.