คลองทวีวัฒนา เป็นคลองที่ขุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อจากคลองเปรมประชากร เริ่มขุดในปี พ.ศ. 2421 และมีพิธีเปิดคลองเมื่อวันศุกร์ เดือน 6 แรม 1 คำ ปีขาล พ.ศ. 2421 พระราชทานนามว่า คลองทวีวัฒนา[1] ด้วยทรงเห็นว่าคลองที่ใช้เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ทั้งคลองภาษีเจริญและคลองมหาสวัสดิ์เริ่มตื้นเขิน จึงให้ขุดคลองนี้ขึ้นในแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อชักน้ำจากแม่น้ำท่าจีนให้ไหลลงทิศใต้ แก้ปัญหาลำคลองตื้นเขิน ดังพระราชดำรัสว่า

คลองทวีวัฒนาช่วงหน้าตลาดธนบุรี (สนามหลวง 2)
ป้ายชื่อคลองทวีวัฒนา

อนึ่ง คลองมหาสวัสดิ์ แลคลองภาษีเจริญ แขวงเมืองนครชัยศรี ซึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดขึ้นไว้นั้น ดูตื้นเสียไปทั้งสองคลอง ..... ถ้าขุดคลองในระหว่าง ให้ตลอดถึงกัน คงจะชักกับแก้ให้หายตื้นไปได้..... บัดนี้คลองนั้นก็สำเร็จแล้ว เป็นระยะคลองยาว 340 เส้น ให้ชื่อว่า "คลองทวีวัฒนา"..... แลบัดนี้ก็ยังได้ขุดต่อไป ..... ไปออกบ้านสี่พระยา แม่น้ำเมืองนครชัยศรี ระยะทาง 540 เส้น ด้วยเห็นว่าเป็นทุ่งว่างไม่มีไร่นา แลเป็นทางตรง สายน้ำจะเป่าลงมาในคลองทวีวัฒนาแรง ได้ลงมือขุดในเดือน 8 นี้แล้ว แลแขวงเมืองสุพรรณกับกรุงเก่าต่อกัน ที่นั้นทำนาเกือบจะต่อถึงกันแล้ว..... ถ้าการนี้สำเร็จทุ่งนาเมืองสุพรรณ กับแขวงกรุงเก่าก็เป็นอันติดต่อกัน [2]

คลองทวีวัฒนาเริ่มต้นจากคลองภาษีเจริญในรอยต่อเขตบางแคและเขตหนองแขม ขุดเป็นเส้นตรงไปในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเขตทวีวัฒนา ออกจากกรุงเทพมหานคร เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างอำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ และอำเภอไทรน้อยของจังหวัดนนทบุรี กับอำเภอพุทธมณฑลและอำเภอบางเลนของจังหวัดนครปฐม ไปสิ้นสุดที่แม่น้ำท่าจีนในเขตอำเภอบางเลน มีความยาว 35.2 กิโลเมตร คลองทวีวัฒนามีทิศทางขวางคลองอื่นๆ จำนวนมาก เนื่องมาจากลำคลองในละแวกนั้นล้วนแต่ขุดอยู่ในแนวตะวันออกสู่ตะวันตก ชาวบ้านจึงเรียกว่า "คลองขวาง" ส่วนช่วงจังหวัดนนทบุรีและนครปฐม นิยมเรียกว่า "คลองนราภิรมย์" ตามชื่อวัดนราภิรมย์ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองในจังหวัดนครปฐม

ปัจจุบันคลองทวีวัฒนาได้ชื่อว่าเป็นคลองที่ยังมีสภาพแวดล้อมดีที่สุดคลองหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร พื้นที่ทำนา และยังเป็นที่ตั้งของวังทวีวัฒนาอีกด้วย

สถานที่สำคัญริมคลอง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "คลองทวีวัฒนา"[ลิงก์เสีย] แหล่งเรียนรู้รอบโรงเรียนประชาบำรุง โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ช่วงชั้นที่ 2 ระดับชั้น ป.4-6
  2. "พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" พระราชดำรัสตอบพระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศแลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2421

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°48′14″N 100°19′40″E / 13.803889°N 100.327778°E / 13.803889; 100.327778