คดีระบายข้าวจีทูจี
คดีระหว่างอัยการสูงสุด กับภูมิ สาระผล และพวก หรือคดีระบายข้าวจีทูจี เป็นคดีแพ่งและอาญาที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลย และพวกรวม 28 คน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการทำสัญญาขายข้าวกับบริษัทของประเทศจีนจำนวน 4 สัญญาโดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ แต่ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนแก่พ่อค้าข้าวในประเทศ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558
คดีระหว่างอัยการสูงสุด กับภูมิ สาระผล และพวก | |
---|---|
(คดีระบายข้าวจีทูจี) | |
สาระแห่งคดี | |
ข้อกล่าวหา | ทำสัญญาขายข้าวให้แก่รัฐวิสาหกิจจีนรวม 4 สัญญา โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทำให้รัฐเสียหาย ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนให้แก่พ่อค้าข้าวในประเทศ มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐฯ |
คู่ความ | |
โจทก์ | อัยการสูงสุด |
ผู้ร้อง | • กรมการค้าต่างประเทศ, ที่ 1 กับพวก รวม 5 คน |
จำเลย | • ภูมิ สาระผล, ที่ 1 • บุญทรง เตริยาภิรมย์, ที่ 2 • บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด, ที่ 10 • อภิชาติ จันทร์สกุลพร, ที่ 14 กับพวก รวม 28 คน |
ศาล | |
ศาล | ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง |
พิพากษา | |
" ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึง 21 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี ลดหลั่นลงตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด และให้จำเลยที่ 10, 14 และ 15 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งนับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 22 ถึง 28 " | |
คดีหมายเลขดำที่ | • อม. 25/2558 • อม. 1/2559 |
ลงวันที่ | 25 สิงหาคม 2560 |
มติ | มติองค์คณะผู้พิพากษา |
กฎหมาย |
|
ศาลฯ อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ว่า จำเลยที่ 1 ถึง 21 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกลดหลั่นลงตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด ให้จำเลยบางส่วนชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง และให้ยกฟ้องจำเลยบางส่วน
เบื้องหลัง
แก้วันที่ 20 มกราคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7–0 ชี้มูลความผิดของบุญทรงกับพวก แบ่งเป็นนักการเมือง 3 คน เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คนและเอกชน 15 คน รวมทั้งอภิชาติ จันทร์สกุลพร ตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวสรุปว่า โครงการดังกล่าวมียอดขาดทุนสะสม 6 แสนล้านบาท[1]
วันที่ 15 มีนาคม 2558 หลังได้รับสำนวนของ ป.ป.ช. ตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด สั่งยื่นฟ้องบุคคล ได้แก่ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว, ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว และอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คน, ข้าราชการการเมือง 3 คน นิติบุคคลและกรรมการบริษัทรวม 21 คน ตามความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต ศาลให้ประกันจำเลย วงเงินระหว่าง 5–20 ล้านบาท[2]
คำฟ้องมีว่าว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ และพ่อค้าข้าว ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำสัญญาขายข้าวให้แก่บริษัท Guangdong Stationery & Sporting Goods Import & Export Corporation ("บริษัทกวางตุ้ง") และบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง จำกัด ("บริษัทห่ายหนาน") ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวม 4 สัญญา โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทำให้รัฐเสียหาย ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนให้แก่พ่อค้าข้าวในประเทศเป็นการเสนอราคาซื้อขายโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ งบประมาณแผ่นดิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติ และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 91, 151, 157 และว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123, 123/1 และปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญา 2 สัญญา จำนวน 23,498 ล้านบาท และปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญาทั้ง 4 สัญญา จำนวน 35,274 ล้านบาท[3]
วันที่ 29 มิถุนายน 2558 จำเลยมาแสดงตัวครั้งแรกต่อองค์คณะผู้พิพากษา ขาดพันตรี นายแพทย์ วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการ และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 และสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 ไม่มาศาลตามนัดมีพฤติการณ์หลบหนีคดี ศาลจึงให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีชั่วคราวของจำเลยทั้งสองไว้ตั้งแต่นั้น[2]
ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2559 ผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นส่วนราชการได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7 ถึงที่ 28 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 26,366 ล้านบาท คดีจึงกลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คดีนี้ศาลอนุญาตให้นำพยานโจทก์เข้าไต่สวน 27 ปาก พยานจำเลย 103 ปาก รวมพยาน 130 ปาก กำหนดนัดไต่สวน 20 นัด ไต่สวนพยานนัดแรกได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายแล้วเสร็จวันที่ 5 กรกฎาคม 2560
คำพิพากษา
แก้ศาลฯ นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 วันนั้นตำรวจได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยรอบศาล โดยเปิดให้รถเข้าทางเดียว รถของผู้สื่อข่าวจะต้องแจ้งทะเบียนรถล่วงหน้า ส่วนสื่อมวลชนอนุญาตให้เข้าฟังในห้องพิจารณา 70 คน[4]
ศาลอ่านคำพิพากษา เห็นว่า ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ใช้เกณฑ์ราคาขายแบบหนังคลังสินค้าซึ่งผิดไปจากแนวทางปฏิบัติในกรณีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ จากนั้นเห็นชอบให้ขายข้าวแก่บริษัทกว่างตง จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน 2 สัญญา ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย 11,011 ล้านบาท ต่อมา บุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแทน เห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัทกว่างตง 1 ฉบับ ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย 5,694 ล้านบาท ทั้งเห็นชอบให้ทำสัญญากับบริษัทห่ายหนาน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 162 ล้านบาท ภายหลังการซื้อขายทั้งสี่ฉบับปรากฏว่ามีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศและรับมอบข้าวไปขายต่อภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวออกไปยังประเทศอื่น กระบวนการดังกล่าวกระทำโดยภูมิ, บุญทรง, อภิชาติ จันทร์สกุลพรและวกร่วมกันนำบริษัทกว่างตงและบริษัทห่ายหนานมาขอซื้อข้าวโดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาดโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมอันเป็นการเอาเปรียบแก่กรมการค้าต่างประเทศ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เมื่อราคาข้าวในท้องตลาดลดลง รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อข้าวก็จะไม่ยอมมารับข้าวตามสัญญา แต่มาขอทำสัญญาฉบับใหม่ซื้อข้าวชนิดเดียวกันในคาคาต่ำลงกว่าสัญญาเดิม โดยบุญทรงไม่เปิดประมูลขายข้าวภายในประเทศ ทำให้ข้าวในท้องตลาดขาดแคลน ผู้ประกอบการค้าข้าวไม่สามารถหาซื้อข้าวในท้องตลาดได้ จำต้องไปหาซื้อข้าวจากกลุ่มบริษัทและพนักงานของอภิชาติ ศาลเห็นว่าเป็นการซื้อโดยไม่ทราบว่าเป็นข้าวที่มาจากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษาจำคุกบุญทรง เตริยาภิรมย์ 42 ปี ภูมิ สาระผล 36 ปี อภิชาติ จันทร์สกุลพร 48 ปี จำเลยที่เหลือจำคุกลดหลั่นลงตามพฤติการณ์แห่งความผิด และให้ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด, อภิชาติ จันทร์สกุลพรและนิมลร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 22 ถึง 28
หลังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวขึ้นรถเรือนจำออกจากศาล เพื่อนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทนายความจำเลยได้เขียนคำร้องเพื่อยื่นประกันจำเลยระหว่างที่รอใช้สิทธิอุทธรณ์คดี[5] แต่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฯ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง[6] ทั้งนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 195 ได้ โดยให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่มีคำพิพากษา
สำนักข่าวอิศราจำแนกบทลงโทษจำเลยแต่ละคนไว้ดังนี้[7]
ชื่อและตำแหน่ง | ความผิด | บทลงโทษ | หมายเหตุ | ||
---|---|---|---|---|---|
ป.อ. ม. 151 |
พ.ร.บ.ฮั้ว ม. 4 |
พ.ร.บ.ป.ป.ช. ม. 123/1 | |||
ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ |
✔ | ✔ | ✔ | จำคุก 36 ปี | |
บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณชย์ |
✔ | ✔ | ✔ | จำคุก 48 ปี | |
พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการ และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ |
— | — | — | — | หลบหนี |
มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ |
✔ | ✔ | ✔ | จำคุก 40 ปี | |
ฑิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว |
✔ | ✔ | ✔ | จำคุก 32 ปี | |
อัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ |
✔ | ✔ | ✔ | จำคุก 24 ปี | |
สมคิด เอื้อนสุภา อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากกวางตุ้ง และห่ายหนาน |
✔ | ✔ | จำคุก 16 ปี | ||
ลิตร พอใจ อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากกวางตุ้ง และห่ายหนาน |
✔ | จำคุก 8 ปี | |||
รัฐนิธ โสจิระกุล อ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทกวางตุ้ง |
✔ | จำคุก 8 ปี | |||
• รัตนา แซ่เฮ้ง • เรืองวัน เลิศศลารักษ์ เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด |
✔ | จำคุก 16 ปี | |||
อภิชาติ จันทร์สกุลพร เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด |
✔ | จำคุก 48 ปี | |||
นิมล รักดี เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด |
✔ | จำคุก 32 ปี | |||
• สุทธิดา ผลดี • สุนีย์ จันทร์สกุลพร • กฤษณะ สุระมนต์ กรรมการ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด |
✔ | จำคุก 4 ปี | |||
สุธี เชื่อมไธสง | — | — | — | — | หลบหนี |
สมยศ คุณจักร | ยกฟ้อง | ||||
ธันยพร จันทร์สกุลพร | — | — | — | — | หลบหนี |
จำเลยที่ 22-28 | ยกฟ้อง |
คดีที่เกี่ยวข้อง
แก้ในปีเดียวกัน ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยให้จำคุกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 5 ปีฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโรงการดังกล่าว[8]
ในเดือนเมษายน 2564 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมบังคับคดีอายัดไว้ 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดแล้วมูลค่า 49.5 ล้านบาท แต่ศาลพิเคราะห์ว่าหน่วยงานทั้งสองไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง จึงไม่ต้องรับผิด แต่ก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคม ศาลปกครองกลางเห็นว่าคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ให้จำเลยในคดีนี้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนชอบด้วยกฎหมายแล้ว[9]
อ้างอิง
แก้- ↑ มติปปช.เอกฉันท์ฟันบุญทรงร่วมกับพวกทุจริต
- ↑ 2.0 2.1 ลำดับเหตุการณ์คดี'บุญทรง-พวก'ทุจริตระบายข้าวจีทูจี
- ↑ ศาลฎีกาสั่งจำคุกบุญทรง 42 ปี คดีขายข้าวรัฐต่อรัฐ ไม่รอลงอาญา สั่งเอกชนชดใช้ 1.6 หมื่นล้าน
- ↑ 25ส.ค.ชี้ชะตา ‘ปู’ กับพวก-ศาลอ่านคดี ‘จีทูจี’ ก่อน ‘จำนำข้าว’
- ↑ ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก “บุญทรง”ขายข้าวจีทูจี 42 ปี
- ↑ "บุญทรง"วืดประกันนอนคุกยาวฮั้วจีทูจี
- ↑ INFO:จำแนกครบ17จำเลย-โทษเรียงคนคดีทุจริตข้าวจีทูจีเจ๊งหมื่นล.ยกฟ้อง 8-ออกหมายจับ3
- ↑ "สั่งจำคุก 5 ปี ยิ่งลักษณ์ ไม่รอลงอาญา คดีจำนำข้าว". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 April 2021.
- ↑ "เปิดสาระสำคัญคำสั่งศาลปกครอง ทำไมยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน คดีจำนำข้าว". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 3 April 2021.