คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
คดียุบพรรคการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย (พ.ศ. 2545) ในคดีกลุ่มที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในคดีกลุ่มที่ 2 ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
พรรคการเมืองหลักที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการไต่สวนพยานครบถ้วนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ต่อมาตุลาการรัฐธรรมนูญแต่ละคน ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตนออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่ายจนถึงเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เริ่มจากคดีกลุ่มที่ 2 ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุตลอดการอ่านคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ สรุปว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีก 4 พรรคมีความผิดจริง จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี
ระหว่างการอ่านคำวินิจฉัย รัฐบาล ทหาร และตำรวจ ได้เตรียมพร้อมรองรับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่คาดว่าอาจออกมาเคลื่อนไหว โดยเตรียมพร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีเกิดสถานการณ์รุนแรง แต่ในที่สุดไม่มีเหตุการณ์เคลื่อนไหวรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น
ประวัติ
แก้คดียุบพรรคมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ต่อมานาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า พรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค พรรคไทยรักไทยร้องเรียนกลับว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคตน
กกต. มีความเห็นว่าทั้ง 5 พรรค กระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนต่อนาย พชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (ประเทศไทย) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 พรรค
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วยกัน และได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่มีจำนวน 9 คน [1] ขณะเดียวกันได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป และกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนาย พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นและร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
โดยระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549 พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ นายทหารคนสนิทของพล.อ.ธรรมรักษ์ ได้มอบเงินรวม 3,675,000 บาท แก่นางฐัติมา ภาวะลี ผู้ประสานงานพรรคแผ่นดินไทย เป็นค่าใช้จ่าย ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ได้ร่วมกับนายทวี สุวรรณพัฒน์ นายยุทธพงศ์หรือนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์และนายธีรชัยหรือต้อย จุลพัฒน์ มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้ นาย ชก. โตสวัสดิ์ ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อนำไปให้นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ไปใช้จ่ายในการนำสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง และใน วันที่ 6 และวันที่ 8 มีนาคม 2549 นายทวีได้นำเงินไปให้นาย ชก. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพัฒนาชาติไทยรวม 1,190,000 บาท การกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย ขอให้ มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ข้อ 3
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่ท้องสนามหลวง กล่าวหาการบริหารงานของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น "ระบอบทักษิณ" ใส่ร้าย พ.ต.ท. ทักษิณ ด้วยข้อความเท็จว่า ระบอบทักษิณ ทำลายประชาธิปไตยแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมโหฬาร เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท. ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
- นายทักษะนัย กี่สุ้น ผู้ช่วย นาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นำ น.ส. นิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ราษฎร จ.ตรัง เพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แล้วไปลงสมัคร ส.ส. ที่ จ.ตรัง โดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จว่า เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ไม่น้อยกว่า 90 วัน แล้วใส่ร้ายว่า กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้ว่าจ้างให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
- นายไทกร พลสุวรรณ ในฐานะตัวแทนนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจ้างให้นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่า แถลงข่าวใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างสมาชิกพรรคชีวิตที่ดีกว่าลงสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จ
- สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อยู่เบื้องหลังร่วมกันขัดขวางการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรับสมัคร จ.สงขลา
อัยการสูงสุด เห็นว่าการกระทำตามข้อ 1-4 เป็นการกระทำของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค เพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 66 (2) และ (3)
คำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
แก้โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยนางสาวอิสราหรือ พรณารินทร์ ยงค์ประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคและเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2) และ (3)
คำร้องให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย
แก้โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่า เนื่องจากพรรคพัฒนาชาติไทย โดยนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยและเป็นผู้แทนของพรรคกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการ ปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2)
คำร้องให้ยุบพรรคแผ่นดินไทย
แก้โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่าพรรคแผ่นดินไทย โดยนายบุญอิทธิพลหรือบุญบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญและกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2) และ (3)
พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคการเมือง
แก้วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ในขณะนั้น พร้อมคณะตุลาการศาลปกครอง และข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง จำนวน 20 คน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเสื้อครุยตุลาการศาลปกครอง เนื่องในโอกาสการจัดงาน พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในโอกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสกับคณะผู้เข้าเฝ้าฯ มีใจความสำคัญว่าการพิพากษาคดีนี้เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็จะเกิดความเดือดร้อนทั้งนั้น แต่ผู้พิพากษาก็มีหน้าที่ที่จะวิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าว และมี "ความรับผิดชอบที่จะทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม" [5][6][7]
ท่าทีของบุคคลสำคัญหลังพระราชดำรัส
แก้จากพระราชดำรัสครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายออกมาน้อมรับ และเชื่อว่าน่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายดีขึ้น
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรุปได้ 5 ประเด็น [7] คือ
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทรงเดือดร้อนพระทัย เหมือนกับนำเคราะห์มาให้ท่านอีก
- เรื่องที่จะตัดสินกันในอีกไม่กี่วันนี้ เป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบต่อบ้านเมืองเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ
- ทางที่ดีที่สุดคือศาลต้องกล้าหาญและสุจริตในการตัดสิน
- เมื่อตัดสินแล้วต้องใช้สติปัญญาของทุกคนอธิบายผลที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนทุกระดับได้เข้าใจในผลการตัดสิน
- ท่านทรงอวยพรให้ปลอดภัยโชคดี
ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ยอมรับว่าห่วง แต่เท่าที่เตรียมการไว้แล้วไม่น่าจะการมีการชุมนุมใหญ่ เพราะเราได้เตรียมทำความเข้าใจกับประชาชนมาพอสมควร ว่าควรยึดถือคำวินิจฉัยของศาล หากเราไม่ยึดถือศาล ต่อไปจะไม่มีอะไรเป็นหลักยึดในด้านความยุติธรรม อย่างที่เขาพูดกันว่าควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรม" พร้อมกับลดระยะเวลาการเยือนจีนให้สั้นลง เพื่อกลับประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภาคม [7]
นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และรองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การตัดสินคดีจะเป็นไปตามหลักนิติศาสตร์ ส่วนจะมีการยุบพรรคหรือไม่ ต้องดูว่าอัยการฟ้องอย่างไร ขอให้ศาลทำอะไร และข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ สิ่งที่จะสนองพระราชดำรัส คือการกระทำด้วยเหตุด้วยผลตามหลักกฎหมายที่จะต้องสามารถอธิบายหลักกฎหมายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ คำนึงถึงภาวะรอบด้านทุกอย่างให้ครบถ้วน [7]
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า พรรคต้องน้อมรับพระราชดำรัส ใช้เป็นหลักปฏิบัติคือการช่วยกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นไร พร้อมจะรับและดำเนินงานทางการเมืองต่อไป โดยยึดหลักสันติวิธีและยึดมั่นตามระบอบรัฐสภา [7]
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยกล่าวว่า สิ่งที่ควรคิดกันคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเดือดร้อน หรือเกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในรูปแบบใดทั้งสิ้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวอะไรก็ตามของฝ่ายที่คิดหรือหวังผลที่จะให้เกิดความรุนแรง จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ [7]
การไต่สวนและคำวินิจฉัย
แก้ผู้พิพากษาคดียุบพรรคการเมือง
แก้ผู้พิพากษาคดียุบพรรคการเมืองมีทั้งหมด 9 คน ซึ่งทั้งหมดมีดังนี้ [1]
- อาจารย์ ปัญญา ถนอมรอด (ประธานศาลฎีกา เป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อักขราทร จุฬารัตน (ประธานศาลปกครอง เป็นรองประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ สมชาย พงษธา (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายนุรักษ์ มาประณีต (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ ธานิศ เกศวพิทักษ์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายจรัญ หัตถกรรม (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายวิชัย ชื่นชมพูนุท (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
ตุลาการรัฐธรรมนูญได้แบ่งการพิจารณาคดีออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย โดยการไต่สวนพยานนัดแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 และไต่สวนพยานอย่างต่อเนื่องทุกวันอังคาร รวมทั้งสิ้น 14 นัด โดยการไต่สวนพยานพยานนัดสุดท้าย คือ วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มีการสืบพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องไปทั้งสิ้น 31 ปาก พยานพรรคไทยรักไทย ผู้ถูกร้องที่ 1 จำนวน 19 ปาก พยานพรรคพัฒนาชาติไทยผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 2 ปาก และพยานพรรคแผ่นดินไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 จำนวน 1 ปาก
- กลุ่มที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยการไต่สวนพยานนัดแรกเริ่มขึ้นเมื่อ 18 มกราคม 2550 และไต่สวนพยานอย่างต่อเนื่องทุกวันพฤหัสบดี รวมทั้งสิ้น 12 นัด โดยการไต่สวนพยานนัดสุดท้าย คือ วันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา
ตามกำหนดการของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญมีกำหนดอ่านคำวินิจฉัยของกลุ่มที่ 2 ก่อน (พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า) ในเวลา 13.30 น. หลังจากนั้นจะอ่านคำวินิจฉัยกลุ่มที่ 1 (พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย) ในเวลา 14.30 น. [8] อย่างไรก็ตาม การอ่านคำวินิจฉัยใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนเกินกำหนดการ ทั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องและสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย
สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 2
แก้เวลา 13.30-17.45 น. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย กรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีมติยกคำร้องที่ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และมีคำสั่งให้ยุบ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อ กรรมการบริหารพรรค เป็นจำนวน 9 คน มีกำหนด 5 ปี [9][10] สามารถสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ [11]
กรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) และ (3) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ยังมีผลบังคับใช้อยู่โดยไม่ได้ถูกยกเลิกตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 เหมือนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
- นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถส่งเรื่องร้องเรียนคดีนี้ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของ กกต. เพราะเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
- การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเรื่องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างเหตุรวม 8 ประเด็น และอัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคโดยอ้างเหตุเพียง 4 ประเด็นถือว่าอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่จำต้องตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะไม่ใช่กรณีอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
- การที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงวันมีคำวินิจฉัยเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น มีผลต่อการดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ไม่มีผลเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนการกระทำของพรรคการเมืองที่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค จึงไม่ทำให้ข้อกล่าวหาที่มีต่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าตามคำร้องของอัยการสูงสุดต้องตกไป
- การที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จัดให้มีการปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ส่อแสดงให้เข้าใจได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และบุคคลร่วมรัฐบาลบางคนมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี การนำเรื่องดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นวิสัยของประชาชนทั่วไปย่อมกระทำได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ส่วนการกล่าวปราศรัยหรือชักชวนให้ลงคะแนนในช่อง "ไม่ประสงค์จะลงคะแนน" เป็นสิทธิ์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 326 (4) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 56 จึงไม่เป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคไทยรักไทยผู้สมัครรับเลือกตั้ง และชักจูงให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใดที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ รู้เห็นเป็นใจให้นายทักษนัย กี่สุ้น นำนางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังแล้วจัดแถลงข่าวว่าพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ว่าจ้างบุคคลทั้งสามนั้น ฟังได้ว่านายทักษนัย พาผู้สมัครทั้งสามไปสมัครสมาชิกพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรู้ว่าผู้สมัครทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ครบ 90 วันจริง แต่นายสาทิตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกระทำของนายทักษนัย และฟังไม่ได้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดแถลงข่าวใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้ว่าจ้างผู้สมัครทั้งสาม
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายไทกร พลสุวรรณ ว่าจ้างนายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่าใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น กรณีฟังไม่ได้ว่านายไทกร ว่าจ้างให้นายวรรธวริทธิ์ใส่ร้ายนายสุวัจน์ แต่เป็นเรื่องที่นายไทกร แสวงหาพยานหลักฐานจากนายวรรธวริทธิ์ เนื่องจากนายไทกรเชื่อว่าพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของนางสาวปัทมา ชายเกตุ กับพวกที่ จ.สงขลา ฟังได้ว่ามีการขัดขวางจริง แต่กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการขัดขวางดังกล่าว
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จให้แก่นางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่ครบ 90 วัน นำไปเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ฟังได้ว่า นางสาวอิสรา หรือพรณารินทร์ ยวงประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองอันเป็นเท็จโดยรู้อยู่ว่าบุคคลทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 90 วันจริง
สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดห้าปี ตั้งแต่วันมีคำสั่งยุบพรรคตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 นั้น เห็นว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มิให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้ ประกาศ คปค. จึงมีผลบังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจึงให้ยกคำร้องในส่วนที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) (3) โดยเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อประชาชน ไม่คำนึงถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ จึงให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 9 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2549 มีกำหนด 5 ปี ตั้งแต่วันมีคำสั่งยุบพรรคตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3
สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 1
แก้เวลา 18.15-23.40 น. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย โดยมีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้งสามพรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค เป็นจำนวน 111 คน, 19 คน, และ 3 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี [12][13] สามารถสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ [14]
กรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง และพยานหลักฐานทั้งหมด ของคู่กรณีโดยละเอียด ได้มี คำวินิจฉัย ในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายโดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้
- คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35
- การยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง หากปรากฏต่อนายทะเบียน ไม่ว่าจากผู้ใด นายทะเบียนมีอำนาจแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้
- การสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่จำต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม และเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมือง มิใช่การดำเนินการตามคำสั่งของ กกต. จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งระเบียบ กกต. ข้อ 40
- พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีศักดิ์และสถานะทางกฎหมายเท่ากับพระราชบัญญัติทั่วไป การยกเลิกหรือการทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลบังคับจึงต้องมีกฎหมายยกเลิกหรือมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับแทน เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการกระทำอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังมีความผิดต่อไปด้วย คำชี้แจงของสำนักงานเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครอง เป็นเพียงความเห็นจึงไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับสิ้นผลใช้บังคับ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 328 ให้อำนาจองค์กรนิติบัญญัติตรากฎหมายที่มีผลเป็นการยกเลิกหรือยุบพรรคการเมืองได้ มิได้มีความหมายเลยไปถึงว่าองค์กรนิติบัญญัติจะตรากฎหมายลงโทษพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) (3) และ (4) ไม่ได้ จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 262 ให้สิทธิเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะโต้แย้งได้ หาได้ให้สิทธิพรรคไทยรักไทยที่จะโต้แย้งเรื่องดังกล่าวได้
- เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว ย่อมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 63 วรรคสาม ได้ทันที ไม่ต้องมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการตามวรรคสองก่อน
- การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งถูกยกเลิกไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวนั้น หามีผลเป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปแล้วไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน
- ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยรับจ้างพรรคไทยรักไทยจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. แก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อให้ครบ 90 วัน โดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน และพรรคพัฒนาชาติไทยกับพรรคแผ่นดินไทย ออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคของตนอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง
- พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคดำเนินการเพื่อให้พรรคไทยรักไทยสามารถกลับคืนสู่อำนาจได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกล่าวหา ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้งทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย ถือได้ว่าการกระทำของพลเอก ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคไทยรักไทย นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและการรับเงินจากพล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นผู้แทนของพรรคพัฒนาชาติไทย ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญทวีศักดิ์เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคพัฒนาชาติไทย นายบุญาบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย รู้เห็นยินยอมให้นางฐัติมา ภาวะลี รับเงินจากพล.อ.ธรรมรักษ์ ทั้งยังออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญาบารมีภณเป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคแผ่นดินไทย
- การกระทำของพรรคไทยรักไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทำของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- การกระทำของพรรคไทยรักไทยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคไทยรักไทย ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ก่อตั้งหรือคณะกรรมการบริหารพรรค มิได้มีสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคทั้งสองด้วย
- ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ใช้บังคับกับเหตุยุบพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (1) (2) และ (3) เพราะความในมาตรา 66 (1) (2) และ (3) มีความหมายชัดเจนว่าเป็นบทบัญญัติที่ห้ามกระทำการอยู่ในตัว เมื่อพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวก็อาจถูกยุบพรรคการเมืองได้ จึงมีผลเท่ากับเป็นข้อต้องห้ามมิให้พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวนั่นเอง
- ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะแก่สภาพสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้ ประกาศ คปค. จึงมีผลบังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้
- การที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะเกิดเหตุลาออกจากตำแหน่งก่อนวันมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ลบล้างผลของการกระทำที่พรรคการเมืองได้กระทำในขณะที่กรรมการบริหารพรรคผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็น และการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ย่อมตกเป็นอันไร้ผล คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวได้
คณะตุลาการจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน พรรคพัฒนาชาติไทย 19 คน และพรรคแผ่นดินไทย 3 คน มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
เหตุการณ์หลังการวินิจฉัยคดี
แก้หลังทราบคำพิพากษาแล้วในส่วนของพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรค ที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะน้อมรับมติศาล ได้เดินทางกลับไปที่พรรคและประกาศพร้อมกับสมาชิกพรรคและกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนพรรคว่า ไม่ขอรับคำตัดสิน เพราะเป็นคำตัดสินจากปากกระบอกปืน [15]
นายปัญญา ถนอมรอด ประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า คณะตุลาการมีมติไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยมติ 9 ต่อ 0 มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 9 ต่อ 0 และมีมติให้ตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 6 ต่อ 3 โดย 3 เสียงข้างน้อยมาจากตุลาการจากศาลฎีกา ซึ่งมีความเห็นว่า แม้จะมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาย้อนหลังใช้บังคับเพื่อกำหนดโทษ ในขณะที่ 6 เสียงข้างมาก เห็นว่าเมื่อมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค ก็ควรกำหนดโทษกับผู้บริหารพรรคที่ทำผิด ในฐานะเป็นตัวแทนพรรค [16][17]
ก่อนหน้าการวินิจฉัยคดีในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันประเด็นหนึ่ง คือ พรรคที่ถูกยุบจะไปจดทะเบียนใหม่ในชื่อเดิมหรือคล้ายชื่อเดิมได้หรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์และไทยรักไทยมีความเห็นว่าทำได้ แต่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ออกมายืนยันทั้งก่อนหน้าและภายหลังการวินิจฉัยคดีว่าทำไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาในการชำระบัญชีต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ตามมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และยังมีประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 และ 27 เกี่ยวกับการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ [18]
ข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ
แก้หลังจากที่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีแล้ว ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินและคำวินิจฉัยคดีอย่างกว้างขวาง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 คนได้ศึกษาคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และเสนอบทวิเคราะห์เพื่อแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อคำวินิจฉัย [19] ประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์กันมาก เช่น:
- การตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี อาจจะผิดหลักการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคล นอกจากนี้ คำประกาศของคปค. ฉบับที่ 27 (ที่กำหนดโทษตัดสิทธิ์) ยังละเมิด มาตรา 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอีกด้วย [20]
- ความชอบธรรมขององค์กร ทั้งในเรื่องของการจัดตั้ง (มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร) และความเป็นอิสระและเป็นกลางของคณะตุลาการ [20]
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า "คำตัดสินยุบพรรคคือการรัฐประหารซ้ำ เพื่อตอกย้ำให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน ทวีความมั่นคงขึ้น" [21]
กรณีสินบนคดียุบพรรค
แก้เดือนมิถุนายน 2550 เกิดกรณีการร้องเรียนว่ามีข้าราชการพยายามติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดียุบพรรค [22] โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่ามีข้าราชการศาลยุติธรรมกับอดีตตำรวจยศพันตำรวจเอก นิติศาสตร์ รุ่น 09 พยายามเสนอสินบนให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ
วันที่ 18 มิถุนายน 2550 นายจรัญได้ส่งเอกสารหลักฐานเป็นกระดาษ 2 แผ่นให้สำนักประธานศาลฎีกา เอกสารแผ่นหนึ่งระบุลายมือชื่อ หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำบันทึกถึงประธานศาลฎีกาในฐานะประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 1 พ.ย. 2549 แจ้งว่ามีนิติศาสตร์ รุ่น 09 (เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า คือ พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีต ผกก.สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม) อ้างภรรยาเป็นหนี้บุญคุณกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาของทักษิณ อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาพูดทำนองวิ่งเต้นเกี่ยวกับคดี แต่ตนได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้เรียกนายจรัญเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 จากนั้นวันที่ 6 สิงหาคม 2550 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่าข้อร้องเรียนกรณีดังกล่าวมีมูล และเสนอประธานศาลฎีกาให้มีคำสั่งเพิ่มเติม โดยวันที่ 7 สิงหาคม ประธานศาลฎีกามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้น [23] มีนายวีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นประธาน นายชวลิต ตุลยสิงห์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายกีรติ กาญจนรินทร์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ ร่วมเป็นกรรมการ กำหนดเวลาสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หากเสร็จไม่ทันสามารถยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอขยายเวลาสอบสวนได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วันตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) โดยวันที่ 10 สิงหาคม พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสินบนยุบพรรคการเมือง ได้นำสำนวนคดีไปมอบให้ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. หรือไม่
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 พลิกประวัติ-ผลงาน ‘9 ตุลาการรัฐธรรมนูญ’ ผู้ตัดสินคดีประวัติศาสตร์ เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 29 พฤษภาคม 2550
- ↑ คำแถลงการณ์ปิดคดีของพรรคไทยรักไทย เก็บถาวร 2007-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฉบับปรับปรุงถ้อยคำเพื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต)
- ↑ "ย้อนรอยคดียุบ 5 พรรคการเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-05-30.
- ↑ "ประชาธิปัตย์...ผนึกกำลัง พร้อมนำ"ความจริง"สู้"อธรรม"" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-05-30.
- ↑ ไทยรัฐ, ในหลวงทรงแนะคดียุบพรรค ต้องป้องกันไม่ให้ชาติล่มจม, 24 พฤษภาคม 2550
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ, ในหลวงทรงกังวลวิกฤติชาติ รับสั่งศาล'ป้องกันบ้านเมืองล่มจม' เก็บถาวร 2007-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 พฤษภาคม 2550
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 ไทยโพสต์, อักขราทร:ล็อบบี้ผมตายไม่มีคำพิพากษาหลุดใช้นิติศาสตร์ตัดสิน/น้อมรับพระราชดำรัสทั่วหน้า เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 26 พฤษภาคม 2550
- ↑ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2007-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 24 พฤษภาคม 2550
- ↑ ปชป.รอด! หลุดทุกข้อหา-สั่งยุบ ปชต.ก้าวหน้าถอนสิทธิ 5 ปี เก็บถาวร 2007-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ ปชป.ฉลุย-รอดคดียุบพรรค ประชาธิปไตยก้าวหน้าโดนหนัก เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 2 เก็บถาวร 2007-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ทรท.ตายยกเข่ง! สั่งยุบพรรค-ตัดสิทธิ กก.บห.5 ปี 111 คน เก็บถาวร 2007-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ สั่งยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์ กก.บริหารพรรค 111 คน เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 1 เก็บถาวร 2007-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ “อ๋อย” โวย! ตัดสินไม่เป็นธรรม-ปลุกระดม ปชช.ต่อต้าน คมช.! เก็บถาวร 2007-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 31 พฤษภาคม 2550
- ↑ ไทยรักไทยถูกยุบ-ปชป.รอด อีก3พรรคเล็กโดนเชือดด้วย 31 พฤษภาคม 2550
- ↑ เผยมติตุลาการฯ ยุบไทยรักไทยเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เก็บถาวร 2007-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 31 พฤษภาคม 2550
- ↑ ไทยโพสต์, คมช.ฮึ่ม'ไม่มีเลือกตั้ง'ถ้ายุบพรรคแล้ววุ่นวาย เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 23 พฤษภาคม 2550
- ↑ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคณะ, บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกรณีการยุบพรรคการเมือง, ประชาไท, เรียกดูเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ 20.0 20.1 ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ความยอมรับของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ, ประชาไท, เรียกดูเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, การยุบพรรคคือการรัฐประหารเงียบที่ทำลาย ปชต.รัฐสภายิ่งกว่ารัฐประหาร 19 ก.ย., ประชาไท, 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ, ผลสอบ”สินบนยุบพรรค”มีมูลเสนอปธ.ศาลฎีกามีคำสั่งเพิ่มเติมพรุ่งนี้ เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 6 สิงหาคม 2550
- ↑ มติชน, ตร.ยื่นป.ป.ช.สอบ"บิ๊กศาล" ติดสินบน"ยุบพรรค"[ลิงก์เสีย], 11 สิงหาคม 2550
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ผู้จัดการออนไลน์, รวมข่าวคดียุบพรรคทั้งหมด เก็บถาวร 2007-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ปิยบุตร แสงกนกกุล, ชำแหละคำวินิจฉัยคดียุบพรรค, ประชาไท, 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550 - บทความวิชาการวิจารณ์คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 (คดียุบพรรค)
- ผู้จัดการรายวัน, ประธานศาลฎีกาชี้ ประกาศคปค.ย้อนหลัง ทำ 111 ทรท.เหลือสิทธิต่ำกว่าประชาชน, เรียกดูจาก เว็บไซต์ประชาไท เมื่อ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ชำนาญ จันทร์เรือง, ข้อค้างคาใจในคำวินิจฉัยคดียุบพรรค, เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ, เรียกดูจากเว็บไซต์ประชาไท เมื่อ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550