คดีปราสาทพระวิหาร
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
คดีปราสาทพระวิหาร เป็นกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยภาคีทั้งสองได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2502
ปราสาทพระวิหาร (คดีระหว่างกัมพูชาและไทย) | |
---|---|
Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) | |
สาระแห่งคดี | |
ข้อกล่าวหา | ไทยยึดดินแดนโดยรอบซากปราสาทพระวิหาร |
คำร้อง | ขอให้ศาลฯ ประกาศให้อำนาจอธิปไตยดินแดนเหนือปราสาทเป็นของกัมพูชา และไทยมีพันธกรณีต้องถอนทหารที่ประจำอยู่ที่ปราสาท |
คู่ความ | |
ผู้ร้อง | กัมพูชา |
ผู้คัดค้าน | ไทย |
ศาล | |
ศาล | ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ |
ตุลาการ | ประธาน: โบดาน วินิอาร์สกิ
|
วินิจฉัย | |
" ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตกัมพูชา ไทยมีพันธกรณีต้องถอนทหารหรือตำรวจที่ประจำอยู่ที่นั่น และให้คืนวัตถุที่นำออกจากปราสาทตั้งแต่ปี 2497 แก่กัมพูชา " | |
ลงวันที่ | 15 มิถุนายน 2505 |
กฎหมาย | หลักการยอมรับโดยปริยาย (tacit acceptance)[1] |
เว็บไซต์ | |
Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) |
คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 โดยใช้หลักกฎหมายการยอมรับโดยปริยาย (tacit acceptance) เนื่องจากรัฐบาลสยามไม่โต้แย้งแผนที่ซึ่งนักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นตามคำขอของรัฐบาลสยามเอง
ต่อมาในปี 2554 หลังกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ได้เกิดกรณีพิพาทด้วยอาวุธขึ้นโดยรอบปราสาท ทำให้กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 อีกครั้งในกรณีเกี่ยวกับ "บริเวณโดยรอบปราสาท"
เบื้องหลัง
แก้หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ประเทศไทยได้เป็นประเทศแรกที่ได้ให้การรับรอง จนมีการตั้งสำนักผู้แทนทางการทูตขึ้นที่กรุงพนมเปญและสัมพันธภาพก็เจริญมาด้วยดีโดยตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2501 เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำสหราชอาณาจักร ซัมซารี เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารลงในนิตยสาร กัมพูชาวันนี้ (le Combodge d'aujourd'hui) มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า "ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์"[2] จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาพาดพิงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแสทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย[2] แต่ยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชายแดนไทย-กัมพูชาเสมอ ๆ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว
วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลไทยจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดตราด, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีใจความแถลงว่าได้มีโจรผู้ร้ายข้ามแดนเข้ามาทำร้ายร่างกาย ประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น[3]
วันที่ 11 สิงหาคม 2501 มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ วันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เดินขบวนประท้วงประเทศกัมพูชา และอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีการโจมตีระหว่างสื่อไทยและกัมพูชากันอยู่เนื่อง ๆ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก[ต้องการอ้างอิง]
เจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
รายละเอียดคดี
แก้ระหว่างปี 2447 ถึง 2451 ประเทศฝรั่งเศสในฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชาทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น[4] ต่อมาในปี 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหารไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex I map)) ทางการสยามเองไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง[4]
ปี 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี 2490 รัฐบาลสยามไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว[4] นอกจากนี้ในปี 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา[4] แม้ในระหว่าง 2477–2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป[4] เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศการยอมรับโดยปริยาย (Qui tacet consentire videtur si loqui debuisset ac potuisset)
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ศาลโลกจะยอมรับมุมมองของไทยว่าพื้นที่ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยหากวาดเส้นเขตแดนอย่างเคร่งครัดตามถ้อยคำของข้อ 1 แห่งสนธิสัญญาเขตแดนปี 2447 และยึดเส้นสันปันน้ำภูมิศาสตร์[1]
วันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว[4]
คณะผู้พิพากษาและตัวแทนทั้งสองฝ่าย
แก้ผู้พิพากษา
แก้ผู้พิพากษามีทั้งหมด 14 ท่าน คะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และ คะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ตัดสินว่า ไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณและปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา[5]
- โบดาน วินิอาร์สกิ (Bohdan Winiarski) : ชาวโปแลนด์ เป็นประธาน[6] — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- ริคาร์โด อาลฟาโร (Ricardo Alfaro) : ชาวปานามา เป็นรองประธาน — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- ลูซิโอ มอเรโน กินตานา (Lucio Moreno Quintana) : ชาวอาร์เจนตินา — พิพากษาให้เป็นของไทย
- เวลลิงตัน คู (Wellington Koo) : ชาวจีนไต้หวัน — พิพากษาให้เป็นของไทย
- เซอร์ เพอร์ซี สเปนเดอร์ (Percy Spender) : ชาวออสเตรเลีย — พิพากษาให้เป็นของไทย
- จูลส์ บาเดอวังต์ (Jules Basdevant) : ชาวฝรั่งเศส — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- อับดุล บาดาวี (Abdul Badawi) : ชาวอียิปต์ — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- เซอร์ เจรัลด์ ฟิตซ์มอริส (Sir Gerald Fitzmaurice) : ชาวอังกฤษ — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- วลาดิเมียร์ คอเรดสกี (Vladimir Koretsky) : ชาวรัสเซีย — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- โคะทะโระ ทะนะกะ (Kotaro Tanaka) : ชาวญี่ปุ่น — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- โจเซ่ บุสตามันเต อี ริเบโร (José Bustamante y Rivero) : ชาวเปรู — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- เกตาโน มอเรลลี (Gaetano Morelli) : ชาวอิตาลี — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
- สปีโรปูลอส (Jean Spiropoulos) : ชาวกรีก — งดออกเสียง (ป่วย)
- โรแบร์โต คอร์โดวา (Roberto Cordova) : ชาวเม็กซิโก — งดออกเสียง (ป่วย)
- ฟิลิป เจสซัป (Philip Jessup) : ชาวอเมริกา (ทนายฝ่ายไทย)
- กานเย กวนเยต์ (Garnier-Coignet) : นายทะเบียนศาล
- หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร: เอกอัครราชทูตประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวแทน
- ทนาย
- หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช: เนติบัณฑิต
- อังรี โรแลง (Henry Rolin) : ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์
- เซอร์ แฟรงก์ ซอสคีส (Sir Frank Soskice) : อดีตแอททอร์นี เยเนราล ในคณะรัฐบาลอังกฤษ
- เจมส์ เนวินส์ ไฮด์ (James Nevins Hyde) : เนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก และทนายความประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา
- มาร์เซล สลูสนี (Marcel Slusny) : อาจารย์มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์
- เจ.จี. เลอ เคนส์ (J. G. Le Quesne) : เนติบัณฑิต
- ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
- พลโท บุศรินทร์ ภักดีกุล: เจ้ากรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม
- สุข เปรุนาวิน: รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- จินดา ณ สงขลา: รองเลขาธิการ ก.พ.
- พันโท พูนพล อาสนจินดา: อาจารย์โรงเรียนแผนที่ กรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม
- ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
- จาพิกรณ์ เศรษฐบุตร: หัวหน้ากองกฎหมาย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ
- เดวิด เอส ดาวนส์ (David S. Downs) : ทนายความประจำศาลสูง ประเทศอังกฤษ
คณะผู้แทนของประเทศกัมพูชา[5]
แก้- ฯพณฯ ตรวง กัง (Truong Cang) : สมาชิกสภาองคมนตรี เป็นตัวแทน
- ทนาย
- ฯพณฯ อุค ชุม (Ouk Chhoim) : อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศฝรั่งเศส
- ดีน แอจิสัน (Dean Acheson) : เนติบัณฑิตประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สมัยประธาธิบดี ทรูแมน
- โรเช่ ปินโต (Roger Pinto) : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส
- โปล เรอแตร์ (Paul Reuter) : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส
- ที่ปรึกษาทางกฎหมาย
- เบรซ์ เอม คลาเกตต์ (Brice M. Clagett) : เนติบัณฑิต ประจำศาลอุทธรณ์แห่งสหรัฐอเมริกา เขตโคลอมเบีย
- ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
- พันเอก งิน กาเรต (Ngin Karet) : อธิบดีกรมแผนที่ แห่งกองทัพกัมพูชา
- เลขาธิการคณะผู้แทน
- ชาญ ยูรัน (Chan Youran)
- รองเลขาธิการคณะผู้แทน
- เขม สงวน (Chem Snguon)
ปฏิกิริยา
แก้ฝ่ายไทย
แก้Sarit Dhanarajata's statement on July 4, 1962 | |
"แถลงการณ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อประชาชนชาวไทย เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2505" |
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย
"ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร
ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใด ๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา"[7]
หลังจากนั้น เวลา 12:00 นาฬิกา วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พลโทประภาส จารุเสถียร ได้คุมทหารและตำรวจตระเวนชายแดนเชิญธงชาติไทยจากหน้าผาเป้ยตาดีลงมาทั้งเสาโดยไม่ชักธงลง และนำไปติดตั้งไว้บริเวณฐานปฏิบัติการ ตชด. ที่ผามออีแดง และทางกัมพูชาก็ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาประจำการบนปราสาท
ฝ่ายกัมพูชา
แก้หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ได้มีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งพระราชอาณาจักรกัมพูชา มีการประกาศวันหยุดราชการ และในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จเจ้าสีหนุได้เสด็จขึ้นปราสาทพระวิหารเพื่อทำพิธีบวงสรวง ทางสะพานโบราณ (ช่องบันไดหัก) หลังจากที่ทรงทราบว่ากัมพูชาชนะคดีปราสาทพระวิหาร[ต้องการอ้างอิง]
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
พระนโรดม สีหนุเสด็จปราสาทเขาพระวิหาร (ภาษาเขมร) ที่ยูทูบ |
การตีความคำพิพากษา
แก้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลกเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 (เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณโดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร) และในวันเดียวกันประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลกเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน [8] เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาอีกครั้ง ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนพิจารณาของศาลโลก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 MISSLING, Sven. A Legal View of the Case of the Temple Preah Vihear In: World Heritage Angkor and Beyond: Circumstances and Implications of UNESCO Listings in Cambodia [online]. Göttingen: Göttingen University Press, 2011 (generated 23 mai 2020). Available on the Internet: Link. ISBN 9782821875432.
- ↑ 2.0 2.1 นิตยสาร สารคดี ปีที่ 24 ฉบับที่ 282 สิงหาคม 2551
- ↑ รัฐบาลไทยจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ภาคตะวันออก
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 คำพิพากษาจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีเขาพระวิหาร พ.ศ. 2505 เก็บถาวร 2008-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ความเมืองเรื่องเขาพระวิหาร, ประหยัด ศ.นาคะนาท และ จำรัสดวงธิสาร
- ↑ "Case concerning the temple of preah vihear" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-01-01. สืบค้นเมื่อ 2008-06-24.
- ↑ บุญร่วม เทียมจันทร์, ไทยแพ้คดีเสียดินแดนให้เขมร, สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป จำกัด, 2550 ISBN 978-974-09-1683-3
- ↑ "กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลกเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-07.
- เอกสารประกอบการเสวนา "เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม" เก็บถาวร 2009-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel)
- ภาสกร ชุณหอุไร, คู่มือนักศึกษา กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง (ภาคสันติ) , 2519[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
- นพนิธิ สุริยะ, กฎหมายระหว่างประเทศเล่มสอง[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) หน้าภาพรวมคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (อังกฤษ)