คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University) เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 7 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยสภามหาวิทยาลัย มีมติให้จัดตั้ง คณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพขึ้นเป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ก่อนที่จะทอนชื่อเหลือเพียง คณะเภสัชศาสตร์ ในปี 2548 หลังจากที่สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ แยกตัวไปจัดจั้งเป็นคณะสาธารณสุขศาสตร์ และโอนย้ายสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ไปสังกัดคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นับเป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งที่ 12 ของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University
ชื่อย่อภ. / PC
คติพจน์รอบรู้เรื่องยา นำประชาสร้างสุขภาพ
สถาปนา13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 (25 ปี)
คณบดีผศ.ดร.ภญ.ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง[1]
ที่อยู่
อาคารเภสัชศาสตร์สิรินธร เลขที่ 41 หมู่ 20 ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
วารสารวารสารเภสัชศาสตร์อีสาน
สี███ สีเขียวมะกอก
มาสคอต
ถ้วยยาไฮเกีย, โกร่งบดยา, เรซิพี (℞)และเฉลว
สถานปฏิบัติสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน
ร้านยามหาวิทยาลัย
เว็บไซต์http://pharmacy.msu.ac.th/

ประวัติ แก้

 
คณะเภสัชศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เริ่มมีแนวคิดการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยได้จัดทำโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ การดำเนินงานในระยะแรกเป็นการเตรียมความพร้อมด้านอาจารย์ด้วยการคัดเลือกบุคคลเข้ารับทุนศึกษาต่อในระดับ ปริญญาโทและเอก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยมหาสารคามและกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือจัดการศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ทำให้พันธกิจของโครงการมีขอบเขตความรับผิดชอบ 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ จึงมีการเปลี่ยนชื่อโครงการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพันธกิจที่เพิ่มขึ้น เป็น "โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ"

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีมติให้จัดตั้ง "คณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Faculty of Pharmacy and Health Sciences)" ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยลำดับที่ 7 ของมหาวิทยาลัย นับเป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งที่ 12 ของประเทศไทยและเป็นแห่งที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือถัดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีศาสตราจารย์อาร์เอ็มอี ริชาร์ด (Prof. RME Richards, OBE) ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีเป็นคนแรก ในช่วงปีการศึกษา 2541-2544 และได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี 3 หลักสูตร ดังนี้

  • หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ต่อเนื่อง 2 ปี รับนิสิตรุ่นแรกในปี 2541
  • หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (PharmD) ต่อเนื่อง 2 ปี รับนิสิตรุ่นแรกในปี 2542
  • หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (PharmD) รับนิสิตรุ่นแรกในปี 2543

ปีการศึกษา 2545 ได้เปิดหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 หลักสูตร ระดับปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ต่อเนื่อง 2 ปี ระดับปริญญาโทได้แก่ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต คณะจึงมีขอบเขตความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเป็น 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

ในปีการศึกษา 2546 มีการแยกสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ออกไปจัดตั้งเป็นคณะสาธารณสุขศาสตร์ และในเดือนมกราคม 2547 มีการย้ายสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ออกไปสังกัดคณะแพทยศาสตร์ ส่งผลให้ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ปรับปรุงระเบียบและเปลี่ยนชื่อคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็น "คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University"[2]

ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารออกเป็น 3 ภาควิชาและสำนักงานเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์ จัดการเรียนการสอน ระดับประกาศนียบัตรจำนวน 1 สาขา ปริญญาตรีจำนวน 1 สาขาวิชา ระดับปริญญาโทจำนวน 3 สาขาวิชา และระดับปริญญาเอกจำนวน 1 สาขาวิชา รวมทั้งสิ้น 6 สาขาวิชา มีบุคลากรทั้งหมด 75 คน และนิสิตทั้งหมด 642 คน [3]

สัญลักษณ์ แก้

  • สัญลักษณ์ประจำคณะ

สัญลักษณ์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ ถ้วยยาไฮเกีย, โกร่งบดยา, เรซิพี (℞) และเฉลว

  • สีประจำคณะ

  สีเขียวมะกอก

  • ต้นไม้/ดอกไม้ประจำคณะ

ต้นจำปีสิรินธร คือต้นไม้ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หน่วยงานภายในคณะ แก้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารหน่วยงานภายในดังนี้

 
การบริหารงานภายในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ด้านการบริหารงาน ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและพัฒนา
  • สำนักงานเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์
    • งานบริหารและธุรการ
    • งานการเงิน การบัญชีและภัสดุ
    • งานนโยบาย แผนและประกันคุณภาพ
    • งานบริการวิชาการ วิจัยและวิเทศสัมพันธ์
    • งานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนิสิต
  • โรงงานฟาร์มแคร์ฟาร์มาซูติคอล
  • ร้านยามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน
  • ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
  • ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

หลักสูตรการศึกษา แก้

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนใน 4 ระดับการศึกษา คือ ระดับประกาศนียบัตรก่อนปริญญาตรี ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกทั้งหมด 5 หลักสูตร 6 สาขาวิชา ได้แก่

 
หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[4]
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.)

  • สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม

หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (ภ.ม.)

  • สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก
  • สาขาวิชาเภสัชกรรมปฐมภูมิ

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์
ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต

หลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้น

  • การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยอายุรกรรม

กีฬาโฮมหมอเกมส์ แก้

กีฬาโฮมหมอเกมส์ หรือ กีฬาสานสัมพันธ์นิสิตกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ[5] เป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์อันดีและความสามัคคีต่อกันระหว่างนิสิตในสายวิชาชีพเดียวกัน จัดโดยโดยสโมสรนิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ และสโมสรคณะสัตวแพทยศาสตร์

กีฬาสานสัมพันธ์ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้นิสิตตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย เป็นการสร้างความคุ้นเคยและความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตในสายวิชาชีพเดียวกัน เนื่องจากอนาคตต้องมีการทำงานร่วมกัน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนิสิตในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัยมหาสารคามอีกด้วย โดยในงานได้มีการเดินขบวนพาเหรดของสโมสรนิสิตแต่ละคณะ และการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ประกอบด้วย ฟุตซอล, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล, ตะกร้อ, เปตอง และกีฬฮาเฮ อาทิ ชักเย่อ, วิ่งกระสอบ เป็นต้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 500 คน ประกอบด้วย นิสิต อาจารย์ ของคณะสาธารณสุขศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์

ทำเนียบคณบดี แก้

รายนามคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

 
ทำเนียบคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง อ้างอิง
1. Prof. RME Richards, O.B.E. 13 ก.พ. 2542 - 17 เม.ย. 2545
2. รศ.ดร.อรุณศรี ปรีเปรม 18 เม.ย. 2545 - 17 เม.ย. 2547 [6]
3. รศ.ดร.พุฒิพงศ์ สัตยวงศ์ทิพย์ 18 เม.ย. 2547 - 4 มิ.ย. 2551 [7]
4. ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์ 18 ต.ค. 2551 - 31 มี.ค. 2559 [8] (สองวาระ)
5. ผศ.ดร.ภญ.ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง 1 เม.ย. 2560 - ปัจจุบัน [9][10] (สองวาระ)

การรับบุคคลเข้าศึกษาและอันดับของคณะ แก้

อันดับคณะเภสัชศาสตร์
โดยผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
ปีการศึกษา อันดับ(ร้อยละที่ผ่าน)
2552 4 (80.4)
2553 7 (69.0)
2554 9 (82.05)
2555 6 (87.0)
2556 7 (90.4)
2560 2 (99.1)
2561 2 (98.95)
2562 1 (100.0)

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการเด็กดีมีที่เรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[11]
  2. โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.)[12]
  3. โครงการโควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[13]
  4. โครงการรับตรงร่วมกันผ่าน กสพท. (แอดมิสชัน 1)[14]
  5. โครงการรับกลางร่วมกัน (แอดมิสชัน 2)[15]

จากผลการรายงาน 50 อันดับของคณะทางสาขาชีวการแพทย์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยประเมินคุณภาพของการเรียนการสอนและงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้อันดับที่ 30 ในสาขาด้านชีวการแพทย์ทั้งหมด เป็นอันดับที่ 4 ในคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหมดและเป็นอันดับ 1 ของคณะเภสัชศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[16][17][18] ในส่วนผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยสภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีร้อยละของนิสิตผู้สอบผ่านมากเป็นอันดับต้นๆ ของคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ โดยสถิติตั้งแต่ปี 2552 โดยสภาเภสัชกรรม มีดังนี้

  • ปี พ.ศ. 2552 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 80.4 (อันดับที่ 4)[19]
  • ปี พ.ศ. 2553 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 69.0 (อันดับ 7)[20]
  • ปี พ.ศ. 2554 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 82.05 (อันดับ 9)
  • ปี พ.ศ. 2555 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 87.0 (อันดับ 6)[21]
  • ปี พ.ศ. 2556 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 90.4 (อันดับ 7)[22]
  • ปี พ.ศ. 2560 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 99.1 (อันดับ 2)[23]
  • ปี พ.ศ. 2561 มีนิสิตผ่านร้อยละ 98.95 (อันดับ 2)[24]
  • ปี พ.ศ. 2562 นิสิตคณะเภสัชศาสตร์สามารถทำสถิติสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพได้ถึง 100% (อันดับ 1) โดยมีผู้เข้าสอบ 92 คน[25]

สถานที่ตั้งและพื้นที่ แก้

 
อาคารเภสัชศาสตร์สิรินธร คณะเภสัชศาสตร์ ปี 2556

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่อาคารเภสัชศาสตร์สิรินธร ระหว่างอาคารวิทยบริการ C (วิทยาลัยดุริยางคศิลป์) และอาคารคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ด้านหลังติดกับคณะพยาบาลศาสตร์ และด้านหน้าอยู่ตรงข้ามกับสวนสุขภาพ ส่วนโรงงานฟาร์มแคร์ ตั้งอยู่บริเวณริมสระน้ำหน้าคณะพยาบาลศาสตร์ ถัดจากอาคารปฏิบัติการทางวิศวกรรมศาสตร์ 2

 
ด้านหน้าคณะเภสัชศาสตร์
 
ลานไม้โมก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะเภสัชศาสตร์ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า แนวโน้มของวิชาชีพเภสัชกรรมได้เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการผลิตยา ทว่าด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีในการผลิตยา ทําให้การผลิตยาในเชิงอุตสาหกรรมใช้เภสัชกรในโรงงานลดน้อยลง ดังนั้นบทบาทของเภสัชกรจึงหันมาเน้นการจัดการการใช้ยาในผู้ป่วย ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวและเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น คณะเภสัชศาสตร์เริ่มต้นโดยอาศัยใช้บริเวณชั้น 1 อาคารสํานักวิทยบริการ (ตึกB) เป็นที่ทําการชั่วคราว จากนั้นจึงย้ายไปใช้ชั้น 3 ของสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 2541 - 2544 จึงได้ย้ายมาที่ชั้น 5 อาคารราชนครินทร์ และระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2548 ได้ย้ายมาใช้ชั้น 4 อาคารสํานักวิทยบริการ (ตึกB) จนเมื่อก่อสร้างอาคารเภสัชศาสตร์สิรินธรแล้วเสร็จจึงย้ายมาดําเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

อาคารเภสัชศาสตร์สิรินธร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2548 โครงการก่อสร้างอาคารเรียนคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยใช้งบประมาณเงินแผ่นดินปี พ.ศ. 2546 – 2547 วงเงินงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างจำนวนทั้งหมด 75,950,000 บาท บริษัทผู้รับจ้าง บริษัท บิลเลียนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยการใช้ประโยชน์เป็นอาคารเรียนคณะเภสัชศาสตร์ มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูงทั้งหมด 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 12,000 ตารางเมตร

ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนคณะเภสัชศาสตร์ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารว่า “อาคารเภสัชศาสตร์สิรินธร” พร้อมทั้งพระราชทานพระฉายาลักษณ์และพระราชานุญาตอัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ” มาประดิษฐาน ณ อาคารเรียนคณะเภสัชศาสตร์ และในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินทรงเปิดอาคาร “เภสัชศาสตร์สิรินธร”

ปัจจุบัน อาคารเรียนคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ

  • ชั้น 1 สำนักงานคณะเภสัชศาสตร์, ลานเขียวมะกอก, ลานไม้โมก, ห้องสโมสรนิสิต, ห้อง Fham Care Nutrac Eutical, ห้องศูนย์เภสัชสนเทศ
  • ชั้น 2 ห้องปฎิบัติการวิจัย, ห้องปฎิบัติการเภสัช, ห้องเรียน
  • ชั้น 3 ห้องปฎิบัติคอมพิวเตอร์, ห้องปฎิบัติการเภสัช, ห้องเรียน
  • ชั้น 4 ห้องปฎิบัติการเภสัช, ห้องเรียน

นอกจากนี้บริเวณชั้น 1 อาคารเรียนคณะเภสัชศาสตร์ยังเคยใช้เป็นสำนักงานบัณฑิตวิทยาลัย และสำนักงานสำนักบริการวิชาการก่อนย้ายออกไป

โรงงานฟาร์มแคร์ แก้

 
โรงงานฟาร์มแคร์ คณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ได้จัดตั้งโรงงานฟาร์มแคร์ขึ้น โดยใช้อาคารสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (เดิมเคยใช้เป็นสถานที่ทำปฏิบัติการทางเภสัชศาสตร์ ในช่วงที่ยังไม่มีอาคารเภสัชศาสตร์สิรินธร) เป็นสถานที่ผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตยาแผนโบราณเมื่อปลายปี พ.ศ. 2551[26] หลังจากนั้นจึงเริ่มขึ้นทะเบียนตำรับยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกจำหน่าย โดยในช่วงแรกซึ่งเป็นช่วงที่ยาและผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้รับทะเบียน จึงผลิตเฉพาะยาที่ใช้ภายนอกเพื่อจำหน่ายเฉพาะในจังหวัดมหาสารคามเพื่อทดลองตลาด และการสร้างความคุ้นเคยต่อชื่อของโรงงานฟาร์มแคร์ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการของบุคลากร โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับทะเบียนอนุญาตการผลิตและกำลังทยอยขึ้นทะเบียนยาอีกหลายตำรับ รวมทั้งกำลังขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และปรับปรุงโรงงานให้ได้ตามเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพร (Good manufacturing practice for herbal medicinal products, GMP) ในขณะเดียวกัน ได้จัดตั้งโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ฟาร์มแคร์นูทราซูติคอล (PharmCare Nutraceutical) ที่อาคารเภสัชศาสตร์สิรินธร ชั้น 1 ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นสถานที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มแล้วและผลิตเครื่องดื่มตรีผลาเป็นชนิดแรกซึ่งได้รับเลขทะเบียนแล้วเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2555

โรงงานฟาร์มแคร์ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นโรงงานผลิตยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้ยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณภาพ ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้ดั้งเดิมและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและความเข้มแข็งของประเทศทางด้านความอุดมสมบูรณ์ของสมุนไพร ความหลากหลายของสายพันธุ์ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยยาและผลิตภัณฑ์ทุกชนิดผ่านการวิจัยและการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน

ร้านยามหาวิทยาลัย แก้

ร้านยามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (University Pharmacy) เป็นสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน ตั้งอยู่บริเวณเขตหอพักนิสิตขามเรียง ทำหน้าที่เป็นสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนให้กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เก็บถาวร 2021-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564
  2. กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี : ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยคณะเภสัชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๘. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2564.
  3. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : สถิติจำนวนบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามปีการศึกษา 2563 โดย กองแผนงาน สำนักงานธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2564.
  4. "หลักสูตรคณะเภสัชศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2021-02-14.
  5. ข่าวประชาสัมพันธ์ มมส. [http://www.web.msu.ac.th/ssystem/msuhotnews/detailnews.php?hm=&hotnewsid=6317&uf=&qu= มมส จัดการแข่งขันกีฬาโฮมหมอเกมส์ ครั้งที่ 8.] เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 6 ตุลาคม 2565.
  6. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 809/2545, 18 มีนาคม 2564.
  7. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 1115/2551, 18 มีนาคม 2564.
  8. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 1706/2551, 18 มีนาคม 2564.
  9. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 1193/2560, 18 มีนาคม 2564.
  10. คณะเภสัชศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เก็บถาวร 2021-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 17 พฤษภาคม 2564.
  11. ประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง การรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี โครงการเด็กดีมีที่เรียน ปีการศึกษา 2574 เก็บถาวร 2021-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  12. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) เก็บถาวร 2021-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  13. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บถาวร 2021-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  14. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : แอดมิสชันรอบที่ 1 ผ่าน กสพท. เก็บถาวร 2021-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  15. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : แอดมิสชันรอบที่ 2 ผ่าน ทปอ. เก็บถาวร 2020-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  16. จัดอันดับคุณภาพคณะชีวการแพทย์ 50 อันดับแรก สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  17. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 50 อันดับคณะชีวการแพทย์ สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  18. เปิด 50 อันดับสาขาด้าย "วิจัย-สอน" สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  19. Unigang เก็บถาวร 2011-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สภาเภสัชฯห่วงคุณภาพ 'หมอยา'ไทยชี้บัณฑิตเภสัชฯม.เอกชนห่วย-ส่อเค้าสั่งห้ามผลิต สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  20. Unigang เก็บถาวร 2012-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมปี 2553 สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  21. Unigang เก็บถาวร 2012-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสอบใบประกอบวิชาชีพ เภสัช 2555 !! ! สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  22. KM มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอแสดงความยินดีกับผลสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ปี 2556 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  23. tobepharmacist ผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ปี 2560 สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  24. tobepharmacist ผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ปี 2561 สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  25. tobepharmacist ผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ปี 2562 สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564
  26. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โรงงานฟาร์มแคร์ สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564