คณะภราดาลาซาล
คณะภราดาแห่งโรงเรียนคริสตชน (อังกฤษ: Institute of the Brothers of the Christian Schools) มักรู้จักกันในนาม คณะภราดาลาซาล (La Salle Brothers) เป็นคณะนักบวชคาทอลิกที่นักบุญฌ็อง-บาติสต์ เดอ ลา ซาล ก่อตั้งขึ้น เน้นปฏิบัติงานด้านการจัดการศึกษาแก่เยาวชนและเด็กที่ยากจน
ชื่อย่อ | F.S.C |
---|---|
คําขวัญ | Signum Fidei (สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ)[1] |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2223 |
ประเภท | คณะนักบวชคาทอลิก |
สํานักงานใหญ่ | กรุงโรม ประเทศอิตาลี |
ภราดาอัลบาโร โรดรีเกซ เอเชเบเรีย | |
เว็บไซต์ | http://www.lasalle.org/ |
ปัจจุบันมีภราดาลาซาลอยู่ประมาณ 5,000 คน ปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน 80 ประเทศทั่วโลก[2]
ประวัติ
แก้บาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ เดอ ลา ซาล ได้อุทิศตนทำงานด้านการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนในประเทศฝรั่งเศสสมัยนั้นให้มีการศึกษา จึงรวมกลุ่มชายที่มีความกระตือรือร้นจะทำงานด้านการศึกษาตั้งเป็นคณะภราดาแห่งโรงเรียนคริสตชนซึ่งเป็นคณะนักบวชที่เน้นงานสอนเด็กเหล่านั้นโดยเฉพาะ สมาชิกของคณะมีเฉพาะภราดา นับเป็นคณะนักบวชฆราวาสคณะแรกที่เน้นงานสอน และยังเป็นต้นแบบให้คณะนักบวชอื่น ๆ ที่เน้นการสอนที่เกิดขึ้นภายหลังด้วย[3] ในปี ค.ศ. 1680 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 13 ได้รับรองคณะของท่านอย่างเป็นทางการ ท่านยังริเริ่มให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในการเรียนการสอนแทนการใช้ภาษาละตินที่ทำมาแต่เดิม[4] เป็นผู้บุกเบิกการอบรมวิชาชีพครู ได้ก่อตั้งวิทยาลัยครูที่เมืองแร็งส์ ปารีส และแซ็ง-เดอนี[4] และตั้งโรงเรียนขึ้นอีกหลายแห่งในฝรั่งเศส สอนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา
ในประเทศไทย
แก้พระคุณเจ้าฌอง หลุยส์ เวย์ มุขนายกผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบคาทอลิก จึงเชิญนักบวชคณะภราดาลาซาลเข้ามาปฏิบัติงานสอนในประเทศไทย คณะได้ส่งภราดาชาวฝรั่งเศสมา 5 คน จากไซ่ง่อน ถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2494[5] ภราดาทั้ง 5 ได้เรียนภาษาไทยกับบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จนได้รับสิทธิ์สอนในประเทศได้
วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2496 คณะภราดาลาซาล ได้ก่อตั้งโรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ขึ้นเป็นโรงเรียนแรกของคณะในประเทศไทย ตามด้วยโรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) ในปี พ.ศ. 2505 และแห่งที่สามคือโรงเรียนลาซาลกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2506[5]
คณะภราดาลาซาลได้ตั้งบ้านอบรมยุวลัย เดอลาซาล ขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2532 เพื่อฝึกอบรมกุลบุตรชาวไทยเป็นภราดาลาซาล[5] นอกจากนี้ยังตั้ง "ศูนย์การศึกษาลาซาล สามพราน" ขึ้นเพื่ออบรมโนวิซที่จบจากบ้านยุวลัยต่อให้สามารถทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาโดยเฉพาะ
อ้างอิง
แก้- ↑ ตราคณะภราดาลาซาล, หอจดหมายเหตุ มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ
- ↑ Who are we เก็บถาวร 2014-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, La Salle, เรียกข้อมูล 17 เม.ย. 2556
- ↑ ประวัตินักบุญตลอดปี:นักบุญยอห์น แบปติสต์ เดอ ลาซาล เก็บถาวร 2016-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ตุ.ค. พ.ศ. 2555.
- ↑ 4.0 4.1 St. John Baptist de la Salle. Catholic Online. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ตุ.ค. พ.ศ. 2555.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ประวัติความเป็นมา[ลิงก์เสีย]. คณะภราดาลาซาล. เรียกข้อมูลวันที่ 17 เม.ย. พ.ศ. 2556.