รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500

(เปลี่ยนทางจาก คณะปฏิวัติ (พ.ศ. 2500))

รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นรัฐประหารโดยมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าเพื่อโค่นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยที่สอง เป็นการยุติยุคการเมืองสามเส้า (พ.ศ. 2490–2500) และเข้าสู่ยุคพ่อขุนอุปถัมถ์แบบเผด็จการและเผด็จการทหารที่ครองอำนาจจนถึงปี 2516 และการฟื้นฟูพระราชอำนาจที่เสื่อมลงตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกหัวหน้าคณะรัฐประหาร
วันที่16 กันยายน พ.ศ. 2500 (67 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล
  • คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
  • จุดเริ่มต้นของระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ
  • การฟื้นฟูพระราชอำนาจ
คู่สงคราม

กองทัพบก
กองทัพเรือ
กองทัพอากาศ
ในนาม คณะปฏิวัติ

ผู้สนับสนุน:

รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์

สาเหตุเกิดจากขั้วอำนาจของจอมพล ป. และพล.ต.อ. เผ่า พ่ายแพ้ต่ออิทธิพลของขั้วอำนาจกลุ่มเจ้าและอนุรักษนิยมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีชนวนเหตุมาจากความพยายามของ จอมพล ป. ในการนำตัว ปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศเพื่อช่วยค้ำจุนอำนาจของตน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความเสื่อมนิยมอันเนื่องจากการเลือกตั้งสกปรกเมื่อต้นปีทำให้จอมพล สฤษดิ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย

ภูมิหลังและสาเหตุ

แก้

หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ได้ทำให้อำนาจของคณะราษฎรหมดสิ้นลงไปอย่างสิ้นเชิง คณะรัฐประหารได้ชู จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำและนายกรัฐมนตรีสืบต่อมา อย่างไรก็ดี เขาไม่เหลือฐานอำนาจใด และการเมืองหลังจากนั้นอยู่ในการปกครองแบบสามเส้า ซึ่งมีการคานอำนาจกันระหว่าง จอมพล ป. กับฝ่ายกองทัพของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และฝ่ายตำรวจของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์

ต่อมาเกิดรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นรัฐประหารตนเอง ตามมาด้วยยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 เพื่อเป็นการลดอำนาจพระมหากษัตริย์ พระองค์เจ้าธานีนิวัตทรงบันทึกปฏิกิริยาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรว่า "ท่านกริ้วมาก ทรงตำหนิหลวงพิบูลอย่างแรงหลายคำ ท่านว่าฉันไม่พอใจมากที่คุณหลวงทำเช่นนี้"[1]: 48–9  ต่อมาทรงพยายามเจรจาต่อรองกับรัฐบาลขอให้เพิ่มเติมพระราชอำนาจบางอย่าง เช่น ให้ทรงเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้[1]: 49  ใน พ.ศ. 2496 พระองค์ขัดแย้งกับรัฐบาลเรื่องพระราชบัญญัติจำกัดการถือครองที่ดิน ทรงชะลอการลงพระปรมาภิไธย แต่สุดท้ายก็ผ่านเป็นกฎหมาย[1]: 50 

ในช่วงปลายรัฐบาล จอมพล ป. เขาร่วมมือกับพล.ต.อ. เผ่าเพื่อคานอำนาจกับฝ่ายเจ้าและอนุรักษนิยมที่มีอำนาจสูงขึ้นเรื่อย ๆ เขาพยายามดำเนินนโยบายแบบเสรีประชาธิปไตยตามแบบสหรัฐเพื่อขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ และพยายามนำตัวปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศและรื้อฟื้นคดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ใหม่เพื่อล้างมลทินให้ปรีดี อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐไม่เห็นชอบกับแผนการดังกล่าวเพราะมองว่าจะก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพที่ไม่เป็นผลดีต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ความพยายามนำปรีดีกลับประเทศน่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่รัฐประหาร[1]: 51  ตั้งแต่เดือนเมษายน 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและกลุ่มกษัตริย์นิยมเคลื่อนไหวเตรียมรัฐประหาร มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า พระองค์พระราชทานเงินสนับสนุนแก่พรรคประชาธิปัตย์ 700,000 บาท และมีรายงานว่าพระองค์เสด็จไปบ้านพักของม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชในยามวิกาลอย่างลับ ๆ อยู่เสมอ[1]: 52 

 
ภาพเหตุการณ์ขณะที่ จอมพลสฤษดิ์ นำคณะนักศึกษาเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล

ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และต่อมาได้ชื่อว่าเป็น "การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย" ซึ่งผลการเลือกตั้ง พรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสียงข้างมาก มีการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษา ฝ่าย จอมพล สฤษดิ์ ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งเป็นผู้ปราบปรามการชุมนุม แต่เมื่อฝูงชนเดินทางมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว จอมพล สฤษดิ์กลับเป็นผู้นำเดินขบวน และเป็นผู้เปิดประตูทำเนียบ นำพาประชาชนเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม บ้างเรียกการชุมนุมครั้งนั้นว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของประชาชนไทย[2] ส่วน จอมพล สฤษดิ์ ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากในหมู่ประชาชน

ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[3] 15 กันยายน จอมพล ป. หลังกลับจากเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรด้วยสีหน้าไม่สู้ดีเมื่อมีสื่อมวลชน โดยนาย ทองใบ ทองเปาด์ ได้ถามว่ามีความขัดแย้งกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจริงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นในงานฉลองกึ่งพุทธกาล และงานวิสาขบูชา ที่ทางรัฐบาลได้จัดเป็นงานครั้งใหญ่ แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มิได้เสด็จมา จึงทำให้มีการวิจารณ์ไปทั่วว่า รัฐบาลมีความขัดแย้งกับทางพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่ทางจอมพล ป. ปฏิเสธ และได้รีบขึ้นรถยนต์จากไป ต่อมา จอมพล สฤษดิ์และคณะนายทหารในบังคับบัญชา มีแถลงการณ์ขอให้ จอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ลาออก ซึ่งหลังจากแถลงการณ์อันนี้ออกมาแล้ว มีรายงานที่เชื่อถือได้ว่า สมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาเสนอให้จอมพล ป. จัดการอย่างเด็ดขาดกับ จอมพล สฤษดิ์ และกลุ่มทหารในวันพรุ่งนี้ เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ จอมพล สฤษดิ์ ตัดสินใจชิงรัฐประหารแน่นอน[2] [4]

 
รูปปั้นนูนต่ำชีวประวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ณ อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ที่จังหวัดขอนแก่น แสดงภาพเหตุการณ์รัฐประหารใน พ.ศ. 2500

รัฐประหาร

แก้

รัฐประหารเกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พล.ท. ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ. เผ่า ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย โดย ร.ท. เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ. กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) พ.ท. เอิบ แสงฤทธิ์ ,พ.ต. เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ ,พ.อ. เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ. ทวิช เปล่งวิทยา นำกำลังตามแผนยุทธศาสตร์ "เข้าตีรังแตน" โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 กองพันที่ 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ. หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย[5]

ขณะที่ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ล่วงหน้าก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้ โดยเดินทางไปโดยรถยนต์ประจำตัวนายกรัฐมนตรียี่ห้อฟอร์ด รุ่นธันเดอร์เบิร์ด พร้อมกับคนติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ

  1. ฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว
  2. พ.ต.อ. ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามตัว
  3. พ.ท. บุลศักดิ์ วรรณมาศ

ทั้งหมดได้หลบหนีไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนลงเรือ จอมพล ป. ได้ให้ พ.ท. บุลศักดิ์ นำรถไปคืนสำนักนายกรัฐมนตรี และเข้าพบหัวหน้าคณะปฏิวัติ คือ จอมพล สฤษดิ์ ว่า ทั้ง 3 ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขออย่าได้ติดตามไปเลย[6]

ขณะที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ยังมิได้หลบหนีไปเหมือนจอมพล ป. แต่ถูกควบคุมตัวเข้ากองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับกล่าวว่า "อั๊วมาแล้ว จะเอาอย่างไรก็ว่า" แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสวิตเซอร์แลนด์[7]

รัฐประหารครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการให้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[8]เป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ โดยไม่ได้เป็นพระบรมราชโองการผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น เป็นการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์คับขันที่ประเทศชาติเผชิญอยู่คือ ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์และการคอร์รัปชั่น และได้ประกาศนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกกลับมาใช้ ในการนี้ จอมพล ป. ได้แต่งตั้งตัวเองและคณะปฏิวัติ ขึ้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ แต่ขาดพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การรัฐประหารของจอมพล ป. ในปี พ.ศ. 2494 จึงถือเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นเหตุผลยืนยันได้ว่าในการปฏิวัติรัฐประหาร อำนาจทั้งหมดจะอยู่ที่ “ผู้กระทำการรัฐประหาร” เท่านั้น ต่อมา การรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปรากฏว่าไม่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2495 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475) แต่อย่างใด ดังนั้น การรัฐประหารครั้งนี้ จึงไม่ถือเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่มีประกาศแต่งตั้งจอมพล สฤษดิ์ โดยไม่มีผู้รับสนองพระราชโองการนั้น มองอีกด้านก็คือสิ่งที่จอมพล ป. ได้กระทำไว้ เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา พระปรมาภิไธย กับ ลายเซ็นผู้ลงนามสนองพระราชโองการ จะอยู่ร่วมกันตลอดจนถึงปัจจุบัน

ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทูลเกล้าฯ พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของราชอาณาจักรไทย

ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2500 23.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึกในบางจังหวัด โดยทรงยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งหมด 46 จังหวัด และให้คงกฎอัยการศึกไว้ทั้งหมด 26 จังหวัด[9] จากทั้งหมด 72 จังหวัด โดย พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พล.ท. ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของราชอาณาจักรไทย ตามมติสภาผู้แทนราษฎร

ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2501 6.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึก ใน 26 จังหวัด ที่ยังคงให้ประกาศกฎอัยการศึกไว้[10]เป็นอันจบเหตุการณ์เนื่องจากยกเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันและเวลาดังกล่าว โดยมีพล.ท. ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

เหตุการณ์ภายหลัง

แก้

รัฐประหารครั้งนี้ เป็นรัฐประหารอีกครั้งที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเข้าสู่ยุคพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ และมีฟื้นฟูสถานภาพและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หลังจากเสื่อมลงตั้งแต่ พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น อำนาจทั้งหมดก็ตกอยู่ที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่อมาก็ได้รัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม ในปีต่อมา เมื่อไม่สามารถควบคุมความวุ่นวายในสภาฯ ได้ และเป็นที่มาของการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่มอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถส่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐได้ทันที

อย่างไรก็ตาม เอกสาร CIA - RDP79R00890A000900010020-5 ซึ่งได้บันทึกสถานการณ์การปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เอาไว้ เอกสารดังกล่าวได้ให้รายละเอียดตามสถานการณ์จากการสัมภาษณ์บางบุคคล แต่ก็ได้แสดงความกังวลต่อบทบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ในข้อ V. ข้อย่อย C. อย่างน่าสนใจ ว่า “King and royalists will have to be careful, however, not to provoke the power-and-money-hungry men in whose hands rests the real power in Thailand–the royalists need Sarit much more than Sarit needs them.” ซึ่งแปลได้ว่า… “ทั้งพระมหากษัตริย์และรอยัลลิสต์ จำต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะไม่ทำให้พวกคนจำพวกกระหายเงินและอำนาจ บังเกิดความไม่พอใจขึ้นได้ ซึ่งคนพวกนี้แหละ คือผู้ที่ถือครองอำนาจที่แท้จริงในเมืองไทย ทั้งนี้ พวกรอยัลลิสต์ต้องหวังพึ่งจอมพลสฤษดิ์ มากกว่าที่จอมพลสฤษดิ์ ต้องการพวกเขาเสียอีก” ดังนั้น ในสายตาของอเมริกา ผู้มีอำนาจที่แท้จริงของไทยในเวลานั้นจึงไม่ใช่ในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือกลุ่มเจ้านายแต่อย่างใด

ในส่วนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากหลบหนีไปทางกัมพูชาแล้ว ก็ลี้ภัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นจึงเดินทางไปบวชที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย อุปสมบท ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2503 และขอลี้ภัยการเมืองเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น จอมพล ป. และครอบครัวได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นถือว่าจอมพล ป. มีบุญคุณต่อประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นผู้อนุมัติให้ทหารญี่ปุ่นสามารถยกพลเข้าสู่ประเทศไทยได้โดยง่าย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากมิต้องล้มตาย และจอมพล ป. ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบ ๆ ที่บ้านพักย่านชานกรุงโตเกียว จนถึงแก่กรรม ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ด้วยอายุ 67 ปี ต่อมา ครอบครัวได้ทำการฌาปนกิจที่นั่น และนำอัฐิกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน ท่ามกลางพิธีรับจากกองทหารเกียรติยศจากทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศ[11]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 ใจจริง, ณัฐพล (2013). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "ณัฐพล" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  2. 2.0 2.1 เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ, บทที่ ๒๙ : ก่อนสฤษดิ์ปฏิวัติ (ต่อ) โดย วิมลพรรณ ปิติธวัชชัย : หน้า 2 เดลินิวส์ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
  3. ประกาศลาออกตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  4. หน้า 73, กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 (พ.ศ. 2554) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร. ISBN 978-974-228-070-3
  5. วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 419-420
  6. วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 421
  7. นักการเมืองไร้แผ่นดินจากไทยรัฐ
  8. ราชโองการให้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
  9. ราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึกในบางจังหวัด
  10. พระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึก ใน 26 จังหวัด
  11. วินทร์ เลียววาริณ, 2540: หน้า 228

บรรณานุกรม

แก้
  • เลียววาริณ, วินทร์ (1997). ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. ดอกหญ้า. ISBN 974-85854-7-6.
  • คลองหลวง, ส. (2000). 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย. เคล็ดไทย.