คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
School of Law Bangkok University
สถาปนาพ.ศ. 2526
คณบดีผศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท 119 ซอยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110 โทร 023503500 ต่อ 1660
สีสีม่วง
มาสคอต
รูปตราชู บนพื้นสีม่วง และมีเพชรอยู่ด้านหลัง
เว็บไซต์[1]

ประวัติ

แก้

ด้วยมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในทางนิติศาสตร์เพื่อออกไปรับใช้ประเทศชาติ จึงได้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้น โดยได้รับการอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2526 ซึ่งแต่แรกเริ่มนั้นเปิดทำการเรียนการสอนภาคค่ำ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2526 มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 121 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2529 จึงได้เปิดทำการเรียนการสอนภาคปกติรุ่นแรก

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางกฎหมายออกไปรับใช้สังคมตามความมุ่งหมายของมหาวิทยาลัย

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีใช้เทคโนโลยีในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น ทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนในสังคม มีการเปิดการค้าเสรีแบบไร้พรมแดน มีการค้าขายระหว่างประเทศกันมากขึ้น เป็นอีกครั้งที่ความรู้ในทางกฎหมายต้องพัฒนาและก้าวตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ในปีการศึกษา 2548 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรที่ทันสมัยโดยเปิดหลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต 2 สาขา คือ สาขากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมุ่งผลิตนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้กับภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดทำการสอนระดับบัณฑิตศึกษาที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาดังกล่าว และทีมอาจารย์ผู้บรรยายเป็นนักปฏิบัติที่มีประสบการณ์เฉพาะทางทั้งสิ้น

รายนามคณบดี

แก้
  1. ดร.อัมภารัชฏ์ วิเศษสมิต (19 มิถุนายน 2527 – 18 มิถุนายน 2531)
  2. รศ.นเรศร์ เกษะประกร (19 มิถุนายน 2531 – 18 มิถุนายน 2541)
  3. ผศ.สุรวุธ กิจกุศล (19 มิถุนายน 2541 – 31 พฤษภาคม 2550)
  4. ผศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ (1 มิถุนายน 2550 – 31 พฤษภาคม 2556)
  5. อาจารย์อวยชัย คูหากาญจน์ (ปัจจุบัน)

หลักสูตรและการเรียนการสอน

แก้

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดสอน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) และหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.)

นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) / Bachelor of Law (LL.B.)

แก้

การศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตครอบคลุมเนื้อหา 4 หมวดวิชา คือ ยกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมหาชน

การศึกษาตลอดหลักสูตรประกอบด้วย หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หมวดการศึกษาวิชากฎหมาย เป็นหมวดวิชาพื้นฐานสำคัญในการประกอบวิชาชีพกฎหมายและสามารถนำไปใช้ในการศึกษากฎหมายขั้นสูงต่อไป และ หมวดวิชาชีพ ซึ่งเป็นวิชาเลือกนั้นจะเป็นการศึกษากฎหมายเฉพาะด้าน อาทิ กฎหมายธุรกิจ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมหาชน ฯลฯ ตามความสนใจของนักศึกษา ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ฯ มีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ

การเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ฯ จะเน้นให้นักศึกษาคิดเป็นทำเป็นสามารถแก้ปัญหากฎหมายได้ด้วยตัวเอง ฝึกให้รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและสืบค้นข้อมูลโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนการเรียนของนักศึกษาด้วยการจัดโปรแกรมดังกล่าวทั้งในรูปแบบซีดีรอมหรือการสืบค้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมกันนี้ได้จัดหาตำราเกี่ยวกับกฎหมายจากต่างประเทศที่ทันสมัยให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

นิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.) / Master of Law (LL.M.)

แก้

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ จึงได้พัฒนาหลักสูตรที่จะคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นไว้ ด้วยการเปิดหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตทางด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลิตนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและสามารถใช้กฎหมายได้อย่างสร้างสรรค์

ผู้ที่จะศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับรอง

การศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตนั้น แบ่งออกเป็น 2 แผนการศึกษา คือ แผน ก. คือ เลือกทำวิทยานิพนธ์ และ แผน ข. คือ เลือกทำสารนิพนธ์ ซึ่งทั้งสองแผนการศึกษาต้องผ่านการสอบประมวลความรอบรู้ (Comprehensive Examination) ทั้งการสอบข้อเขียนและการสอบปากเปล่า

ในส่วนของคณาจารย์นั้น บัณฑิตวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์พิเศษซึ่งเป็นนักวิชาการและนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ทั้งจากผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในสาขาที่เปิดสอน นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาบรรยายพิเศษด้วย

การรับรองคุณภาพการศึกษา

แก้

ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะได้รับการรับรองคุณวุฒิเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และสภาทนายความแห่งประเทศไทย นอกจากนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจะได้รับรองคุณวุฒิเป็นนิติศาสตรมหาบัณฑิต ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ผ่านการรับรองการประเมินคุณภาพภายในจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ระดับดีมาก และการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ในระดับดี

ความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ

แก้

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านวิชาการ และคุณภาพการศึกษา เช่น

องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) เป็นหนึ่งในองค์การเฉพาะทางของสหประชาชาติ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจการสร้างสรรค์ และสนับสนุนการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก

สถาบันกฎหมายแห่งเอเชีย (ASIAN Law Institute: ASLI) เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 12 แห่งในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับเอเชียให้มากขึ้น โดยผ่านการเรียนการสอนและการทำวิจัยร่วมกัน

กิจกรรมและรางวัลเกียรติยศ

แก้

ที่ผ่านมานักศึกษาคณะนิติศาสตร์ฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการและได้รับรางวัลสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะฯ อาทิ ชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชนะเลิศและรองชนะเลิศการแข่งขันโตเถียงกฎหมายโดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจัดโดยเนติบัณฑิตยสภา และได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย และคณะฯ ยังสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมและสามารถสร้างชื่อเสียงได้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นความสำเร็จของคณะนิติศาสตร์ฯ ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต

ศิษย์เก่าดีเด่น

แก้

ตลอดเวลาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก่อตั้งและดำเนินการมานั้นได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมมากมายในหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น

  1. แทมมารีน ธนสุกาญจน์ (นิติศาสตรบัณฑิต รุ่น 33) อดีตนักกีฬาเทนนิสทีมชาติไทย ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกองการเงิน สำนักงานงบประมาณและการเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  2. เขมสรณ์ หนูขาว (นิติศาสตรบัณฑิต รุ่น 35) อดีตนักแสดง ปัจจุบันเป็นผู้ประกาศข่าวทางช่องไทยรัฐทีวี และช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี
  3. ดนัย อุดมโชค (นิติศาสตรบัณฑิต รุ่น 42) อดีตนักกีฬาเทนนิสทีมชาติไทย ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาเทนนิส
  4. วิวัฒน์ สรรพคุณ (นิติศาสตรบัณฑิต รุ่น 42) บัณฑิตมหาวิทยาลัยเอกชนคนแรกที่สามารถสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของสมัยที่ 61 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเป็นทนายความของบริษัท BKK Inter Law จำกัด (บีเคเค อินเตอร์ลอว์)

นอกจากนั้น บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังได้เข้าทำงานในภาครัฐและเอกชน เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย ตำรวจ ฯลฯ

สถานที่ตั้ง / สิงอำนวยความสะดวก

แก้

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดทำการเรียนการสอนทั้งสองวิทยาเขต คือ

  1. วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ตั้งอยู่ที่ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เปิดทำการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 3 - 4 และหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
  2. วิทยาเขตรังสิต ตั้งอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เปิดทำการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยให้เหมาะสมกับการเรียนการสอน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอน เช่น

ศูนย์หนังสือด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ World Intellectual Property Organization (WIPO) ประจำประเทศไทย ณ หอสมุดกลาง วิทยาเขตกล้วยน้ำไท

หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ที่มีความทันสมัย รองรับการค้นคว้าฐานข้อมูลที่หลากหลาย และพื้นที่การเรียนรู้ที่กว้างขวาง ห้องบรรยาย มหาวิทยาลัยได้จัดรูปแบบห้องบรรยายให้ทันสมัย ผู้เรียนและผู้สอนสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้

ฐานข้อมูลเครือข่ายทางด้านกฎหมาย เช่น www.westlaw.com www.thailandlaw9.com เป็นต้น เพื่อรองรับการค้นคว้าข้อมูลกฎหมายทั้งประเทศไทย และทั่วโลก

พื้นที่การเรียนรู้อิสระ มหาวิทยาลัยฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา จึงจัดพื้นที่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษา เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เช่น Imagine Lounge เป็นต้น

ศูนย์กีฬา มหาวิทยาลัยฯ สนับสนุนให้นักศึกษามีความรู้ มีสติปัญญา พร้อมกับสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จึงได้สร้างศูนย์กีฬาที่รองรับการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้นักศึกษาสามารถออกกำลังกายได้ตามอัธยาศัย

ศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน (คลินิกยุติธรรม)

แก้

คณะนิติศาสตร์ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้บริการสังคมด้านกฎหมายควบคู่กับการฝึกทักษะความรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษา จึงได้ก่อตั้งสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2542 เพื่อให้บริการปรึกษาปัญหาแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเมื่อมหาวิทยาลัยปิดภาคการศึกษา คณะฯ ได้จัดค่ายแนะนำกฎหมายแก่ประชาชนในชนบท อันเป็นบริการวิชาการเพื่อสังคมที่นักศึกษาจะได้มีโอกาสให้คำปรึกษาทางกฎหมายในสถานการณ์จริงภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ