คณะกรรมการกฤษฎีกา (ประเทศไทย)

(เปลี่ยนทางจาก คณะกรรมการกฤษฎีกา (ไทย))

คณะกรรมการกฤษฎีกา (อังกฤษ: Council of State) เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาแห่งประเทศไทย ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและยกร่างกฎหมาย กับทั้งให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ

ราชอาณาจักรไทย
คณะกรรมการกฤษฎีกา
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง9 ธันวาคม พ.ศ. 2476; 90 ปีก่อน (2476-12-09)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • เคาน์ซิลออฟสเตต (พ.ศ. 2417)
  • รัฐมนตรีสภา (พ.ศ. 2437)
  • กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย (พ.ศ. 2440)
  • กรมร่างกฎหมาย (พ.ศ. 2440)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ไทย เลขที่ 1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
งบประมาณต่อปี285,580,900 บาท (พ.ศ. 2553)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ปกรณ์ นิลประพันธ์, เลขาธิการ[2]
  • โกมล จิรชัยสุทธิกุล[3], รองเลขาธิการ
  • ธนาวัฒน์ สังข์ทอง[4], รองเลขาธิการ
  • นพดล เภรีฤกษ์[5], รองเลขาธิการ
  • ณัฐนันทน์ อัศวเลิศศักดิ์, รองเลขาธิการ
ลูกสังกัดหน่วยงาน
เว็บไซต์KRISDIKA.go.th
เชิงอรรถ
คณะกรรมการกฤษฎีกาแบ่งเป็นคณะต่าง ๆ มีสำนักงานเลขานุการคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีเลขาธิการเป็นผู้บริหารสำนักงาน

คณะกรรมการกฤษฎีกามีสำนักงานเลขานุการคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประวัติการก่อตั้ง[6]

แก้

คณะกรรมการกฤษฎีกา มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานโดยเริ่มต้นจากเคาน์ซิลออฟสเตด (Council of State) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2417 ตาม พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นที่ปรึกษาในพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินและการร่างกฎหมาย และเป็นองค์กรที่พิจารณาเรื่องราวเดือดร้อนของราษฎร ซึ่งแต่เดิมนั้นการร่างกฎหมายเป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ เคาน์ซิลออฟสเตดจึงเป็นองค์กรแรกที่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการยกร่างและพิจารณาร่างกฎหมายโดยตรง

ผลงานร่างกฎหมายที่สำคัญของเคาน์ซิลออฟสเตด ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย ประกาศเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2417 เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสให้สูงสุดตอนเป็นเด็ก แล้วมีค่าตัวลดลงทุกปีจนหลุดพ้นเป็นไทได้จนหมดประเทศ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448 เป็นต้น

ต่อมาเคาน์ซิลออฟสเตดไม่กล้าถวายความเห็น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกไป หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรัฐมนตรี ร.ศ. 113 ขึ้น เพื่อให้มี รัฐมนตรี ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบและการแก้ไขกฎหมายเก่าและคิดทำกฎหมายใหม่แทนเคาน์ซิลออฟสเตด แต่ระยะหลังรัฐมนตรีไม่กล้าถวายความเห็น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกไปเช่นเดียวกับเคาน์ซิลออฟสเตด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงระบบกฎหมายไทยและระบบศาลให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับต่างประเทศในการยกเลิกสนธิสัญญาสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อันจะทำให้ประเทศไทยได้รับเอกราชทางศาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูประบบศาลไทยใหม่ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย ขึ้น ในปี พ.ศ. 2440 โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นองค์ประธานกรรมการ และนักกฎหมายไทยอีกจำนวนหนึ่งเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ชำระและยกร่างประมวลกฎหมายอาญา และต่อมาได้มีการตั้งกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นอีกหลายคณะเพื่อชำระและยกร่างประมวลกฎหมายอื่น ในการนี้ โปรด ฯ ให้จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างกฎหมายชาวต่างประเทศมาร่วมดำเนินการด้วย

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า แม้จะได้จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมและปรับปรุงระบบศาลไทยใหม่แล้ว แต่การเจรจากับต่างประเทศเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญาสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากกฎหมายที่กองกรรมการชำระประมวลกฎหมายจัดทำขึ้นนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศ สมควรที่จะดำเนินการปรับปรุงระบบการร่างกฎหมายใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง กรมร่างกฎหมาย ขึ้นในปี พ.ศ. 2466 โดยยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดี สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการชำระประมวลกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมาย และยกร่างกฎหมายอื่น ๆ เพื่อให้การร่างกฎหมายถูกต้องตามหลักวิชา และเพื่อให้การร่างกฎหมายเป็นระบบระเบียบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งร่างกฎหมายให้กรมร่างกฎหมายตรวจแก้เสียก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้โอนกรมร่างกฎหมายมาขึ้นตรงต่อคณะกรรมการราษฎรเพื่อความสะดวกในการยกร่างกฎหมาย หลังจากนั้น รัฐบาลเห็นว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการร่างกฎหมายควรมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองระหว่างรัฐกับเอกชนด้วยเช่นเดียวกับรัฐมนตรีสภา (Conseil d'État) ของประเทศในภาคพื้นยุโรป จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 ขึ้น โดยให้มี คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทำหน้าที่ด้านการร่างกฎหมาย การให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองระหว่างรัฐกับเอกชน แต่การทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองนี้จะทำได้ต่อเมื่อมีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อกำหนดว่าข้อพิพาทใดเป็นข้อพิพาททางปกครองแล้ว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เคยทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองเนื่องจากไม่มีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อกำหนดว่าข้อพิพาทใดเป็นข้อพิพาททางปกครอง คงทำหน้าที่ด้านการร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น

ต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ขึ้น เพื่อปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาใหม่ โดยนอกจากงานร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายแล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการกฤษฎีกาในการวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองด้วย และในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ เพื่อจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยว่ากฎหมายใดมีบทบัญญัติไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยและสมควรปรับปรุงแก้ไขหรือสมควรมีกฎหมายใดขึ้นใหม่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ขึ้นเพื่อจัดตั้งศาลปกครองเพื่อทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองโดยเฉพาะ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวให้โอนบรรดาเรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเป็นคดีของศาลปกครอง และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาฯโดยให้โอนบรรดาบุคลากรและอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเป็นของศาลปกครอง

คณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน

แก้

ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 คณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบด้วยกรรมการซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับผู้ที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกาต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือการบริหารราชการแผ่นดิน และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  1. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า
  2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการพระธรรมนูญศาลทหารสูงสุด
  3. เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในสถาบันการศึกษาของรัฐในระดับมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
  4. เคยเป็นกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476
  5. มีความรู้และเคยทำงานในการร่างกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปีและมีความชำนาญและความสามารถเป็นประโยชน์แก่งานของกรรมการกฤษฎีกา

ใน พ.ศ. 2558 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 140 ราย[7] ส่วนใน พ.ศ. 2565 มีการแต่งตั้งจำนวน 136 ราย[8]

อำนาจหน้าที่คณะกรรมการกฤษฎีกา

แก้

คณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ดังต่อไปนี้

  1. จัดทำร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือมติของคณะรัฐมนตรี
  2. รับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ หรือตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือมติของคณะรัฐมนตรี
  3. เสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมาย หรือแก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย

นอกจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบความเห็นพร้อมด้วยสำนวนการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งกระทำการโดยเที่ยงธรรมหรือไม่

รายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา

แก้

บทความหลัก : รายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2565

รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกฤษฎีกาและเคยดำรงตำแหน่ง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ [สำนักนายกรัฐมนตรี : นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ]
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/334/T_0005.PDF
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/142/T_0041.PDF
  5. เช็ครายชื่อมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง
  6. "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา". www.ocs.go.th.
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/309/1.PDF
  8. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา จำนวน ๑๓๖ ราย

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้