ข้อวินิจฉัยการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ข้อวินิจฉัยการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นการกล่าวถึงการตีความประวัติศาสตร์ไทยเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่สอง อันเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักในการศึกษาเหตุการณ์ในคราวนั้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลที่ข้อวินิจฉัยการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปในแนวคิดส่วนตัว ไทยรบพม่า ในคราวนั้นว่า กองทัพพม่ายกมาอย่างกองโจร แต่กองทัพอยุธยาก็ยังไม่สามารถขับไล่ออกไปจากประเทศได้ เนื่องจากอยุธยาอ่อนแอทางด้านทหารและทางการเมืองจนถึงที่สุด

แนวคิดพม่ายกมาอย่างกองโจร แก้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่าเดิมทีจุดประสงค์ของกองทัพเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธามิใช่การเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แต่เป็นเพียงการปราบกบฏในล้านนาและทวายเท่านั้น จนกระทั่งแม่ทัพทั้งสองเห็นว่ากรุงศรีอยุธยามีความอ่อนแอ เปิดช่องทางให้สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้

ลำดับเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง แก้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองไว้ 4 ขั้น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นการปล้นหัวเมืองรอบนอก และปฏิบัติการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา โดยพระองค์ทรงวิเคราะห์ข้อมูลจากหลักฐาน คำให้การชาวอังวะ และพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ชำระขึ้นในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ขั้นที่ 1-2: การรบหัวเมืองรอบนอก แก้

สงครามเริ่มขึ้นเมื่อเดือน 7 พ.ศ. 2308 เนเมียวสีหบดีส่งฉับกุงโบคุมกำลัง 5,000 นาย ยกมาทางเชียงใหม่ ด้านมังมหานรธาก็ส่งเมชะระโบคุมกำลัง 5,000 นาย ยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ กองทัพฉับกุงโบยกล่วงมาจนตั้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์และเมืองกำแพงเพชร ส่วนกองทัพเมชะระโบรบชนะกองทัพของพระพิเรนทรเทพที่กาญจนบุรี ยกล่วงมาจนถึงตำบลลูกแก ตำบลตอกละออม และตำบลดงรักหนองขาว

ปฏิบัติการขั้นที่ 2 เริ่มในเดือน 12 พ.ศ. 2308 เนเมียวสีหบดีส่งทัพใหญ่เข้ามาทางเชียงใหม่ ตีได้พิชัย สวรรคโลกและสุโขทัย แต่มิได้ตามไปตีพิษณุโลก ส่วนมังมหานรธาก็ส่งทัพใหญ่มาทางทวาย แบ่งกองทัพออกไปสอง กองหนึ่งแยกไปทางนนทบุรีและธนบุรี อีกกองหนึ่งไปทางสุพรรณบุรีมาตั้งค่ายที่บ้านสีกุก ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309

ในช่วงนี้ พม่ายังคงล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ห่าง ๆ แต่ได้ส่งพลออกปล้นสะดมตามพื้นที่ต่าง ๆ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ วีรกรรมชาวบ้านบางระจัน พม่ารบชนะกองทัพของพระยาพระคลังจนเคลื่อนมาตั้งค่ายที่โพธิ์สามต้น และเกิดการปะทะกันประปรายกับกองทัพกรมหมื่นเทพพิพิธ

ขั้นที่ 3-4: ปฏิบัติการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา แก้

เมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง มังมหานรธาไม่ถอนทัพกลับ ตระเตรียมการเพื่อรับมือกับน้ำหลากท่วมกรุงศรีอยุธยา แต่มังมหานรธาเสียชีวิตลงในเวลาไม่นานนัก เนเมียวสีหบดีสั่งให้การปิดล้อมกรุงเข้มงวดขึ้น แต่ทหารอยุธยากับทหารพม่ายังปะทะกันด้วยการยิงปืนใหญ่เท่านั้น ครั้นถึงเดือน 12 พ.ศ. 2309 พม่ายกกองเรือมาทางทิศตะวันออกของตัวเกาะ ในกรุงส่งพระยาเพชรบุรีกับพระยาตากออกรับ แต่ก็ไม่สำเร็จ พระยาตากไม่ยอมกลับเข้าพระนครอีก แต่ตีฝ่าพม่าไปทางตะวันออกเมื่อน้ำลด

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2310 ในกรุงเกิดความระส่ำระสายกันดารอาหารอย่างหนัก พม่าตีค่ายป้องกันพระนครนอกกรุงได้ทั้งหมดและยิงปืนเข้ามาในกรุงทุกวัน กรุงศรีอยุธยาส่งทูตขอเลิกรบก็ไม่ยอม ทหารอยุธยาก็ทำการรบอย่างแข็งขันด้วยจวนตัว พม่าจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีขุดรากกำแพงทางตะวันออกเฉียงเหนือ กระทำการสองครั้ง จึงตีกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310

ความคิดเห็น แก้

การยอมรับ แก้

นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นหลัง ส่วนใหญ่ได้ยึดเอางานพระนิพนธ์ ไทยรบพม่า เป็นหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พร้อมทั้งเป็นการกำหนดทิศทางการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนมีลักษณะ "เป็นไปในทิศทางเดียว" และมีผู้ที่มีความเห็นต่างไปน้อยมาก

การศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยังยอมรับว่า สาเหตุที่นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเป็นผลมาจากความอ่อนแอภายในของอาณาจักร ซึ่งกล่าวถึงลักษณะอันไม่ดีของพระเจ้าเอกทัศ ในทำนองที่ว่า รัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงตกต่ำที่สุดในทางการเมืองและการทหาร

การเห็นต่าง แก้

งานพระนิพนธ์ ไทยรบพม่า มีความไม่กระจ่างและมีความที่ขัดกับพงศาวดารพม่าด้านยุทธศาสตร์การทหาร โดย สุเนตร ชุตินธรานนท์ มีความเห็นว่า แม้พระองค์จะทรงมีโอกาสศึกษาพงศาวดารพม่าและรู้จักกับนักประวัติศาสตร์พม่าอย่างใกล้ชิด แต่กลับทรงใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้น้อยมาก โดยยังทรงยึดจากพงศาวดารไทยที่มีอคติเอนเอียง และยังอธิบายว่า "เกิดความผิดพลาดของข้อมูล" หากในพงศาวดารพม่าระบุต่างไปจากพงศาวดารไทย

อ้างอิง แก้

  • สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2541). สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐. สำนักพิมพ์ศยาม. ISBN 974-7235-06-4.