ข้อตกลงฏออิฟ

(เปลี่ยนทางจาก ข้อตกลงทาอิฟ)

ข้อตกลงฏออิฟ (อังกฤษ: Taif Agreement; อาหรับ: اتفاقية الطائف / ittifāqiyat al-Ṭā’if) ชื่ออื่นว่า ข้อตกลงประนีประนอมห่งชาติ (National Reconciliation Accord) หรือ เอกสารข้อตกลงแห่งชาติ (Document of National Accord) เป็นข้อตกลงที่ได้บรรลุเพื่อวาง "รากฐานการยุติสงครามกลางเมืองและกลับสู่ภาวะปกติทางการเมืองในเลบานอน"[1] ข้อตกลงนี้เจรจากันในเมืองฏออิฟ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ด้วยความมุ่งหมายที่จะยุติสงครามกลางเมืองเลบานอนซึ่งดำเนินมาหลายทศวรรษ และที่จะยืนยันซ้ำถึงอำนาจของเลบานอนในเขตเลบานอนใต้ (ซึ่งขณะนั้นมีกองทัพเลบานอนใต้ปกครอง และมีกองทหารของอิสราเอลคอยหนุน) ข้อตกลงนี้ลงนามกันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1989 และรัฐสภาเลบานอนให้สัตยาบันในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 และแม้ข้อตกลงจะกำหนดกรอบเวลาให้ถอนกองทัพซีเรียออกไปภายในสองปี แต่กว่าจะมีการถอนกองทัพอย่างแท้จริงก็ใน ค.ศ. 2005[2]

การปฏิรูปการเมือง แก้

ข้อตกลงนี้ระบุถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายประการ ซึ่งมีผลใช้บังคับหลังจากที่ประธานาธิบดีฮราวี (Hrawi) ลงนามในเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เป็นต้นว่า

  • อัตราส่วนของคริสตชนต่อชาวมุสลิมในรัฐสภาลดลงจาก 6:5 เป็น 1:1
  • ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประธานรัฐสภาเพิ่มจากหนึ่งปีเป็นสี่ปี
  • มาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมจาก "อำนาจบริหารเป็นของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ผู้ใช้อำนาจนั้นโดยมีรัฐมนตรีของตนคอยช่วยเหลือ" เป็น "อำนาจบริหารเป็นของคณะรัฐมนตรี ผู้ใช้อำนาจนั้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้"
  • มีการลดทอนอำนาจประธานาธิบดีลงระดับหนึ่ง เช่น
    • กำหนดให้ต้องปรึกษารัฐสภาก่อนเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
    • ห้ามแต่งตั้งหรือถอดถอนรัฐมนตรีโดยพลการ (ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน)
    • กำหนดให้เสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนส่งให้รัฐสภาต่อ จากเดิมที่ส่งให้รัฐสภาได้โดยตรง
    • การเสนอชื่อหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีแทน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อนี้ไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตในทางการเมืองมากนัก เพราะปกติรัฐมนตรีจะเสนอชื่อข้าราชการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ก่อนจะส่งให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งอีกชั้นหนึ่งอยู่แล้ว

อ้างอิง แก้

  1. Krayem, Hassan. "The Lebanese civil war and the Taif agreement". American University of Beirut. สืบค้นเมื่อ 10 June 2012.
  2. Laura Etheredge (15 January 2011). Syria, Lebanon, and Jordan. The Rosen Publishing Group. p. 151. ISBN 978-1-61530-329-8. สืบค้นเมื่อ 19 March 2013.