พระยาราชาเศรษฐี (เฉิน เหลียน)

(เปลี่ยนทางจาก ขุนพิพิธวาที)

พระยาราชาเศรษฐี นามว่า ตั้ง เลี้ยง (陳聯 แต้จิ๋ว: ting5 liêng5) หรือ เฉิน เหลียน[1] (พินอิน: Chén Lián) หรือ เจิ่น เลียน (เวียดนาม: Trần Liên[2] ตามเอกสารเวียดนาม) หรือเจ้าขรัวเหลียน[2] (昭科聯) หรือพระยาราชาเศรษฐีจีน เป็นเจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อปีพ.ศ. 2314 ในสงครามสยาม-เวียดนาม พ.ศ. 2314 เดิมดำรงตำแหน่งเป็นพระยาพิพิธผู้ว่าราชการที่โกษา[3]

พระยาราชาเศรษฐี
(เฉิน เหลียน)
เจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียน
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2314 - 2316
ก่อนหน้าหมัก เทียน ติ๊อ (Mạc Thiên Tứ)
ถัดไปหมัก ตื๊อ ซิญ (Mạc Tử Sinh)
เสนาบดีกรมคลัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2310 - 2314
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหนายก
ถัดไปพระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง)

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอว่าพระยาพิพิธคือ"ขุนพิพิธวาที"[1] ซึ่งเข้าร่วมกับกองกำลังของพระยาตากเมื่อตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อขุนรามหมื่นซ่องยกกำลังเข้าโจมตีพระยาตากที่เมืองระยอง ปรากฏ"หลวงพิพิธ"เป็นหนึ่งในผู้บัญชาการทหารจีน "แลทหารจีนนั้นคือหลวงพิพิธ หลวงพิชัย ขุนจ่าเมือง เสือร้าย หมื่นท่อง หลวงพรหม..."[4]

ยูมิโอะ ซากูราอิ (Yumio Sakurai) เสนอว่า พระยาพิพิธนั้น เดิมเป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วชื่อว่าเฉิน ไท่ (陳太 พินอิน: Chén Tài) หรือเจิ่น ท้าย (Trần Thái) ตามเอกสารเวียดนามที่ระบุว่า เฉินไท่เป็นพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว รวบรวมกำลังพลที่เขาบัคมาเพื่อเข้าโจมตีเมืองห่าเตียน หมัก เทียน ติ๊อ (Mạc Thiên Tứ) เจ้าเมืองบันทายมาศห่าเตียนสามารถส่งทัพออกไปปราบเฉินไท่ได้สำเร็จ เป็นเหตุให้เฉินไท่หลบหนีไปยังเมืองจันทบุรีและไปสยามในที่สุด[2] เดอเฟลส์ (de Fels) สันนิษฐานว่า เฉิ่นไท่ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระยาตากที่เมืองตราดในนามว่า"จีนเจียม"[2]

ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2310 พระยาตากยกทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเข้ามาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเข้าโจมตีเมืองธนบุรีและต่อไปโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่า โดยมีพระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) และพระยาพิชัย (พระยาพิชัยราชา) เป็นทัพหน้า[4] สามารถเอาชนะสุกี้พระนายกอง ยึดค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ต่อมาเมื่อพระยาตากขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ผู้ดำรงตำแหน่งว่าที่พระคลังในช่วงปีแรกของรัชกาลคือพระยาพิพัฒโกษา หรือ พระยาพิพิธโกษา (Pia Pipit Kosa[5] ดังปรากฏในจดหมายที่ส่งไปยังทางการฮอลันดาที่เมืองบัตตาเวียในเดือนมกราคมพ.ศ. 2312)[5] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) ให้ได้ว่าที่โกษาธิบดี เดอเฟลส์สันนิษฐานว่า พระยาพิพิธนั้นคำรงตำแหน่งเป็น"พระยาพิพิธโภคากร" เจ้าเมืองตราด เมื่อทางการจีนเมืองกวางตุ้งส่งขุนนางลงมาสืบเหตุการณ์ที่เมืองบันทายมาศในพ.ศ. 2311 ปรากฏชื่อ"เฉินเหลียน"เป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตามของพระยาตาก[6]

ในพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยาโกษาธิบดี (ตั้ง เลี้ยง) ยกทัพเข้าตีเมืองกัมพูชาทางปราจีนบุรี พระยาโกษาสามารถเข้ายึดเมืองพระตะบองได้[7]แต่มีเหตุให้ต้องถอยและเลิกทัพไปในที่สุด เอกสารเวียดนามระบุว่า ในพ.ศ. 2312 หมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองห่าเตียนส่งทัพเข้ามาโจมตีเมืองจันทบุรี แม่ทัพฝ่ายสยามที่ป้องกันเมืองจันทบุรีในเวลานั้นชื่อว่าเจิ่นไล (Trần Lai) ซึ่งยูมิโอะ ซากูราอิ สันนิษฐานว่าเจิ่นไลนี้คือคนคนเดียวกับเฉินเหลียนและเฉินไท่[2]

ในพ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้แต่งทัพเรือเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศห่าเตียน สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จนำทัพเรือด้วยพระองค์เองโดยมีพระยาพิพิธหรือพระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพเรือ และพระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) 楊進宗 Yáng Jìnzōng) เป็นทัพหน้า[4][7] เมื่อทัพเรือหลวงเสด็จถึงจันทบุรี มีพระราชโองการให้พระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) ยกทัพล่วงหน้าไปโจมตีเมืองกำปงโสมจนสำเร็จเสียก่อน จากนั้นจึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ ฝ่ายสยามเข้ายึดเมืองบันทายมาศได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2314 หมักเทียนตื๊อเจ้าเมืองห่าเตียนหลบหนีไป สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พระยาพิพิธ (ตั้ง เลี้ยง) ผู้ว่าราชการที่โกษาธิบดี ขึ้นเป็นพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศ[2][4][7]คนใหม่ แล้วให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยาง จิ้นจง) มาว่าราชการที่โกษาธิบดีแทนที่[1] นับจากนั้นมา พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) จึงได้รับสมยาว่า "พระยาราชาเศรษฐีจีน" ในขณะที่หมัก เทียน ตื๊อ อดีตเจ้าเมืองบันทายมาศ ได้รับสมญาว่า "พระยาราชาเศรษฐีญวน"

ในปีต่อมาพ.ศ. 2315 หมัก เทียน ตื๊อ อดีตเจ้าเมืองบันทายมาศ ได้ส่งหนังสือไปแจ้งราชสำนักจีนใจความว่า "ปีที่แล้วเจิ้งสิ้นยกทัพเรือมาเป็นจำนวนประมาณหมื่นคน มีเฉิน เหลียน เป็นแม่ทัพเรือ และผู้คุมเครื่องบรรณาการหยางจิ้นจงเป็นแม่ทัพหน้า"[6] เอกสารเวียดนามระบุว่า "หลังจากปราบเมืองนครได้สำเร็จแล้ว ฟี้ยาตันนำกำลังทหารจำนวนสองพันคนมารุกรานห่าเตียน โดยมีเจิ่นท้ายแห่งเขาบัคมาเป็นผู้นำทาง"[2]

หลังจากที่พระยาราชาเศรษฐีจีนครองเมืองบันทายมาศได้ประมาณแปดเดีอน ฝ่ายเวียดนามเจ้าญวนใต้เหงียน ฟุก ถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần) ส่งทัพญวนเข้ามาโจมตีเพื่อยึดเมืองบันทายมาศคืนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2315[2] ฝ่ายพระยาราชาเศรษฐีจีนไม่ทันตั้งตัวจึงเสียเมืองบันทายมาศให้แก่ญวน พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) ไปตั้งหลักที่เมืองกำปอดได้รับความช่วยเหลือจากพระยาปังลิมาเจ้าเมืองกำปอดจึงสามารถยกทัพมาซุ่มโจมตียึดเมืองบันทายมาศคืนจากญวนได้ในสามวัน[7] ปีต่อมาพ.ศ. 2316 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตัดสินพระทัยว่า เมืองบันทายมาศนั้นรักษาไว้ได้ยาก จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐีถอยทัพออกมาจากบันทายมาศ พระยาราชาเศรษฐีจึงกวาดต้อนชาวเมืองบันทายมาศลงเรือใหญ่น้อยกลับเข้ามาที่กรุงธนบุรี[7]

หลังจากที่ถอยทัพกลับมาจากเมืองบันทายมาศห่าเตียนแล้ว พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) ยังคงดำรงราชทินนามเดิมต่อไปในฐานผู้บัญชาการกองทหารจีน ในสงครามบางแก้วพ.ศ. 2318 สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยาราชาเศรษฐีและพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ยอยู่รักษาค่ายเมืองราชบุรี[7]เพื่อป้องกันการรุกรานของพม่าจากเมืองทวาย ในปีเดียวกันสงครามอะแซหวุ่นกี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ทรงให้พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) นำกองทัพจีนอยู่รักษาเส้นทางเสบียงที่เมืองนครสวรรค์[7] ในช่วงปลายยุคสมัยกรุงธนบุรี พระยาราชาเศรษฐีจีนมีบทบาทเป็นหัวหน้าชุมชนชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณที่ลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างเมืองกรุงเทพพระนครเป็นราชธานีในพ.ศ. 2325 ทรงให้พระยาราชาเศรษฐี (ตั้ง เลี้ยง) นำการย้ายชาวจีนไปตั้งบ้านเรือนใหม่อยู่ที่ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงสำเพ็ง[8]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2004). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.11. Matichon Public Company Limited. p. 248. ISBN 9789743230561.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Breazeale, Kennon. From Japan to Arabia; Ayutthaya's Maritime Relations with Asia. Bangkok: the Foundation for the promotion of Social Sciences and Humanities Textbook Project, 1999.
  3. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๖: จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร และจุลยุทธการวงศ์
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  5. 5.0 5.1 The Diplomatic Correspondence between The Kingdom of Siam and the Castle of Batavia during the 17th and 18th centuries. Jakarta; Arsip Nasional Republik Indonesia (ANRI), October 2018.
  6. 6.0 6.1 Masuda Erika. The Fall of Ayutthaya and Siam's Disrupted Order of Tribute to China (1767-1782). Taiwan Journal of Southeast Asian Studies, พ.ศ. 2550.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  8. ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.