ขนมฝรั่งกุฎีจีน

ขนมฝรั่ง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมไทยอย่างหนึ่ง ที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี โดยเป็นขนมที่อยู่คู่กับชุมชนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส คือ ชุมชนกุฎีจีน ในเขตธนบุรี และชุมชนบ้านเขมร ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองชุมชนนี้มีตำรับการทำขนมที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย[1]

ขนมฝรั่งกุฎีจีน
ขนมฝรั่งที่กุฎีจีน พ.ศ. 2563
มื้ออาหารหลัก, อาหารว่าง
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ภูมิภาคชุมชนกุฎีจีนและชุมชนบ้านเขมร กรุงเทพมหานคร
ส่วนผสมหลักแป้งสาลี ไข่เป็ด น้ำตาล

ประวัติ แก้

ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากขนมโปรตุเกสเช่นเดียวกับขนมไทยหลายอย่าง เช่น ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง หรือลูกชุบ ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ ตัวขนมเป็นตำรับของขนมแบบโปรตุเกส โดยใช้วัตถุดิบสามอย่าง คือ แป้งสาลี, ไข่เป็ด และน้ำตาลทราย ตีให้ส่วนผสมเข้ากันจนขึ้นฟูและเทลงแม่พิมพ์ โดยไม่ผสมผงฟู, ยีสต์ หรือสารกันบูด จากนั้นโรยด้วยลูกเกด, ลูกพลับอบแห้ง, ฟักเชื่อม และน้ำตาลทราย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากขนมของจีน โดยชาวจีนเชื่อว่าเมื่อรับประทานฟักเชื่อมแล้วจะก่อให้เกิดความร่มเย็น ส่วนน้ำตาลทรายจะเกิดความมั่งคั่งไม่รู้จบเหมือนกับน้ำตาลทรายที่นับเม็ดไม่ได้ ส่วนพลับอบแห้งและลูกเกด ก็เป็นผลไม้ที่มีราคาและมีคุณค่าทางอาหารอีกด้วย แล้วจึงนำไปเทใส่แม่พิมพ์แล้วอบจนสุกโดยใช้วิธีอบแบบโบราณด้วยเตาถ่าน ขนมฝรั่งในชุมชนกุฎีจีนมีความกรอบนอก นุ่มใน

ขณะที่ขนมฝรั่งในชุมชนบ้านเขมร ซึ่งเป็นชุมชนโปรตุเกสอีกแห่ง ตัวเนื้อขนมปังจะมีความนิ่ม นุ่มฟู ไม่กรอบ โรยหน้าเพียงแค่ฟักแห้งกับลูกเกดเท่านั้น และไม่โรยน้ำตาลอย่างกุฎีจีน[2] และจัดทำเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาภายในชุมชนของตนเท่านั้น[1]

การจำหน่าย แก้

เดิมทีขนมฝรั่งกุฎีจีนจะทำกันเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาและแจกจ่ายรับประทานกันเองในครอบครัวหรือชุมชนเชื้อสายโปรตุเกส เช่น คริสต์มาส ต่อมาเมื่อได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จึงมีการทำออกมาขาย จนมีคำร้องคล้องจองกันของผู้ค้า เมื่อนำขนมออกไปเร่ขายเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ซื้อว่า "อ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางคูวัด ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝรั่งกุฎีจีน แม่เอ๊ย" อันบ่งบอกได้ถึงอดีตที่เคยรุ่งเรืองของอาหารพื้นถิ่นและการค้าขายในแถบนี้ ซึ่งในอดีตก็จะมีขายเฉพาะในช่วงปลายปีเท่านั้น อันตรงกับช่วงเทศกาลคริสต์มาส[3]

ปัจจุบันที่ชุมชนกุฎีจีนเหลือร้านที่ทำและจำหน่ายขนมฝรั่งกุฎีจีนเพียงไม่กี่รายเท่านั้น[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 อรรถพล โชคอำนวย (2564). การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมชุมชนคอนเซ็ปชัญ (บ้านเขมร) สามเสน กรุงเทพมหานคร. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 48.
  2. ณัชชา ทิพย์บำรุง (25 มิถุนายน 2552). "ว่าด้วยเรื่อง 'ขนม' แห่งชุมชนสามเสน". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. พินิจนคร (Season 1) ตอน ธนบุรี. พินิจนคร. สานฟ้า. 9 กุมภาพันธ์ 2009. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2018.
  4. ""ขนมฝรั่งกุฎีจีน" ขนมโบราณคู่ชุมชนกุฎีจีน". ผู้จัดการออนไลน์. 27 ธันวาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้