กัณหา เคียงศิริ

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
(เปลี่ยนทางจาก ก. สุรางคนางค์)

กัณหา เคียงศิริ (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2542) นักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียงของไทย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2529[1] มีนามปากกาว่า ก.สุรางคนางค์

กัณหา เคียงศิริ

เกิด26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454
เมืองนนทบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต23 มิถุนายน พ.ศ. 2542 (88 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกาก.สุรางคนางค์
รสมาลิน
อาชีพนักเขียน
รางวัลสำคัญพ.ศ. 2529 - ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย)
คู่สมรสปกรณ์ บูรณปกรณ์
เล็ก เคียงศิริ
บิดามารดาบิดา: พระสุริยะภักดี (บุญช่วย วรรธนะภัฎ)
มารดา: นางสุริยะภักดี (หวั่น)

กัณหา เคียงศิริ เดิมชื่อ ชื้น วรรธนะภัฎ เขียนในแนวสัจนิยม ยึดถือความสมจริง[2] มีผลงานเขียน 200 เรื่อง คือ นวนิยายเรื่องสั้น 100 เรื่อง นวนิยายเรื่องยาว 45 เรื่อง เรื่องแปล 1 เรื่อง บทละคร 3 เรื่อง บทร้อยกรอง 1 ชิ้น และสารคดีหลายเรื่อง

นอกจากเป็นนักเขียนนวนิยายแล้ว ก.สุรางคนางค์ยังเป็นนักเขียนคอลัมน์และนักไขปัญหา เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์"เมืองทอง"รายวัน และผู้อำนวยการ"นารีนารถ"รายสัปดาห์ เจ้าของสำนักพิมพ์รสมาลิน ราชวิถี[3]

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเบญจมาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. 2495 และ 2497 ตามลำดับ และเคยเป็นกรรมการฝ่ายจรรยามารยาทของสภาวัฒธรรมแห่งชาติ

ประวัติ แก้

ก.สุรางคนางค์ เกิด ณ คลองบางกอกใหญ่ ปากคลองนางลำเจียก จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันเป็นเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรีของขุนตำรวจโทพระสุริยะภักดี (บุญช่วย วรรธนะภัฎ)[4] ข้าราชการในสำนักตำรวจหลวง และนางสุริยะภักดี (หวั่น) เป็นบุตรคนแรกในจำนวน 3 คน น้องชายชื่อชาลี น้องสาวชื่อดารา โดยชื่อ "กัณหา" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานให้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2462

ระหว่างอายุ 15–16 ปี เคยเข้าไปอยู่ในวังสวนสุนันทา ก.สุรางคนางค์ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์[5] และสำเร็จระดับมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนราชินีบน เคยเรียนภาษาอังกฤษกับแหม่ม และเรียนภาษาฝรั่งเศสกับพระเรี่ยมวิรัชพากย์ สำเร็จแล้วเป็นครูโรงเรียนราชินี สอนภาษาไทยประจำชั้น ม. 6 อยู่ 3 ปี และเคยถวายพระอักษรสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ก.สุรางคนางค์ ชอบการประพันธ์ตั้งแต่อยู่ ม.6 เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก ชื่อ "มาลินี" โดยใช้นามปากกาจากชื่อย่อตามด้วยคำประพันธ์ที่ชอบ เกิดเป็นนามปากกา "ก.สุรางคนางค์" ลงในเดลิเมล์วันจันทร์ นวนิยายเรื่องแรก คือ "กรองกาญจน์"[6] โด่งดังในหมู่นักอ่านด้วยเรื่อง "หญิงคนชั่ว" ในปี พ.ศ. 2480 ช่วงระยะสงครามโลกครั้งที่สอง "บ้านทรายทอง"เป็นที่นิยม จนสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ ตามมาด้วย "ดอกฟ้า" และ"โดมผู้จองหอง" จนกระทั่ง ถึง "เขมรินทร์-อินทิรา"

ก.สุรางคนางค์ สมรสกับ ป.บูรณปกรณ์[7] (ปกรณ์ บูรณปกรณ์ หรือนามเดิม ป่วน บูรณศิลปิน) เมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2479 มีหม่อมเจ้าพิจิตรจิรภา เทวกุล ประทานงานสมรสให้ เนื่องจากบิดาไม่ยอมให้แต่งงานเพราะรังเกียจอาชีพนักเขียนไส้แห้งของป.บูรณปกรณ์ มีธิดาและบุตร 2 คน คือ นุปกรณ์ (ตุ๊ดตู่) และกิติปกรณ์ (ติ๊ดตี่) เมื่อ ป.บูรณปกรณ์ถึงแก่กรรมแล้ว (พ.ศ. 2495) ต่อมาจึงสมรสใหม่ กับเล็ก เคียงศิริ[8]

ก.สุรางคนางค์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อเช้าวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2542[9] ที่บ้านซอยอ่อนนุช มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ณ วัดธาตุทอง

ผลงานที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว แก้

  • รักประกาศิต และ ภูชิชย์ นริศรา
  • บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์
  • ดอกฟ้า และ โดมผู้จองหอง
  • หญิงคนชั่ว
  • ธารโศก
  • รอยจารึก รุ่งอรุณ
  • ค่าของชีวิตสาว
  • ถ่านไฟเก่า
  • กุหลาบแดง
  • ปราสาทรัก
  • คุณครูอินทิรา และ เขมรินทร์ อินทิรา
  • จุดหมายปลายทาง
  • ปัทมา วรารักษ์
  • ปิ่นไพร
  • ทางสายเปลี่ยว
  • นี่แหละรัก
  • ภายใต้ดวงดาว
  • คู่ครอง
  • แรงอธิษฐาน
  • สุภาพบุรุษชาวดิน
  • ปราสาททราย
  • คุณหญิงพวงแข
  • ราชาวดีสีม่วง
  • จอมเทียน
  • ชั่วชีวิตหนึ่ง
  • กรองกาญจน์
  • คนรักของข้าพเจ้า
  • เกิดมาชั่ว
  • ชุมทางรัก
  • รุ่งอรุณ
  • หมอภัคพงศ์

ผลงานที่ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ แก้

รักประกาศิต (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 4 ครั้ง 2520 ช่อง9 2531และ2555 ช่อง3 2543 ช่อง7)

บ้านทรายทอง (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 5 ครั้ง 2511 ช่อง4บางขุนพรหม 2521 ช่อง9 2530และ2548 ช่อง7 2543 ช่อง3)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๒๙" (eBook). culture.go.th. กระทรวงวัฒนธรรม. p. 6–9. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022.
  2. ดวงมน จิตร์จำนงค์ (1989). ปาจารยสาร ฉบับพิเศษ, ทอไหมในสายน้ำ: 200 ปี วรรณคดีวิจารณ์ไทย. มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป. p. 89. ISBN 978-9748690681.
  3. เสาหินแห่งกาลเวลา: รวมเรื่องสั้นของ 10 ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์. สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. 1993. p. 24–25. ISBN 978-9748908113.
  4. ขุนตำรวจโท พระสุริยะภักดี. บัณฑิตการพิมพ์. 1976. OCLC 1281294981. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในวันพระราชทานเพลิงศพ ขุนตำรวจโท พระสุริยะภักดี ณ ฌาปนสถานวัดโสมนัศวิหาร วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519
  5. ชั่วชีวิตหนึ่ง: ก. สุรางคนางค์. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 1999. p. 12. ISBN 978-9742776930.
  6. สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์, บ.ก. (2005). ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก. สำนักพิมพ์ชมนาด. p. 249. ISBN 978-9749320006.
  7. "ทำเนียบนักประพันธ์ / นักประพันธ์ในประเทศ / ป. บูรณปกรณ์". สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022.
  8. เล็ก เคียงศิริ. ม.ป.พ. 1988. OCLC 1281274613. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเล็ก เคียงศิริ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2531
  9. กองบรรณาธิการมติชน, บ.ก. (2006). 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน. สำนักพิมพ์มติชน. p. 300. ISBN 978-9743238895.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๓, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๘๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๔๑, ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๗

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • Harrison, R. (1999). The Madonna and the Whore: Self/“Other” Tension in the Characterization of the Prostitute by Thai Female Auther. in P.A. Jackson & N.M. Cook (eds.), Genders & Sexualities in Modern Thailand (pp. 168–190). Chiang Mai: Silkworm Books. ISBN 978-9747551075.