ก๊กเสง หรือ กุยเสง มีชื่อในสำเนียงจีนกลางว่า กัวเซิ่ง (จีนตัวย่อ: 郭胜; จีนตัวเต็ม: 郭勝; พินอิน: Guō Shèng; เวด-ไจลส์: Kuo Shêng) (เสียชีวิต ค.ศ. 189) เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ขันทีในยุคราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย เป็นสมาชิกขันทีของคณะสิบขันที และเป็นขันทีที่มีอำนาจมากในรัชสมัยของพระเจ้าเลนเต้

ก๊กเสง
ขันทีแห่งราชวงศ์ฮั่น
เกิดไม่ทราบปี
ถึงแก่กรรมค.ศ. 189
สถานที่ถึงแก่กรรมเมืองลกเอี๋ยง
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม郭勝
อักษรจีนตัวย่อ郭胜
ยุคในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก

ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีการเรียกชื่อก๊กเสงเป็น 2 ชื่อ คือก๊กเสงและกุยเสง[1] โดยเรียกเมื่อกล่าวถึงครั้งแรกว่าก๊กเสง[2] ในภายหลังเรียกว่ากุยเสงโดยบอกว่าอยู่นอกกลุ่มสิบขันที[3] ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

ประวัติ แก้

เมื่อพระเจ้าเลนเต้สววรคต โฮจิ๋น แม่ทัพใหญ่ในราชสำนักและเป็นพี่ชายของนางโฮเฮา ได้ยกหองจูเปียนโอรสพระเจ้าเลนเต้ที่เกิดกับนางโฮเฮาขึ้นเป็นกษัตริย์ และได้ให้อ้วนเสี้ยวคุมทหารไปตามจับขันทีเกนหวนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหองจูเหียบ โอรสพระเจ้าเลนเต้ที่เกิดกับนางอองบีหยิน เกนหวนหนีไปในสวนดอกไม้และถูกก๊กเสงสังหารในสวนดอกไม้นั้น[3] เมื่อเกนหวนตาย อ้วนเสี้ยวได้ยุยงให้โฮจิ๋นกวาดล้างสิบขันทีที่เหลือให้สิ้น ก๊กเสงพร้อมด้วยขันทีที่เหลือที่นำโดยเตียวเหยียงจึงได้ไปเข้าเฝ้านางโฮเฮา อ้างว่าเกนหวนแต่เพียงผู้เดียวที่คิดการหมายจะยกหองจูเหียบขึ้นเป็นกษัตริย์ พวกตนที่เหลือมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย พร้อมอ้อนวอนให้นางโฮเฮาช่วยพูดกับโฮจิ๋นให้ไว้ชีวิตพวกตน นางโฮเฮายอมทำตามคำอ้อนวอนของสิบขันที โฮจิ๋นจึงเลิกคิดการกวาดล้างสิบขันที

ต่อมา อ้วนเสี้ยวยุยงโฮจิ๋นให้กำจัดสิบขันทีอีกครั้ง โดยแนะนำให้เรียกกองกำลังหัวเมืองยกมาเมืองหลวงเพื่อปราบสิบขันที เหล่าสิบขันทีทราบข่าวจึงได้วางแผนลวงโฮจิ๋นมาฆ่าได้สำเร็จ เมื่อโจโฉและอ้วนเสี้ยวรู้ว่าโฮจิ๋นตายแล้ว จึงนำทหารพังประตูชั้นในแล้วบุกเข้าไปในวัง ก๊กเสงและเพื่อนขันทีอีก 3 คน คือ เตียวต๋ง เชียกง (เทียควง) และเห้หุย รีบหนีเข้าไปในสวนดอกไม้ โจโฉและอ้วนเสี้ยวจึงนำทหารตามไปสังหารทั้ง 4 คน แล้วสับศพจนละเอียด[4]

อ้างอิง แก้

  1. นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้, ชัชวนันท์ สันธิเดช , สำนักพิมพ์ชวนอ่าน, พ.ศ. 2557, หน้า 43
  2. พระเจ้าเลนเต้เสวยราชย์, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 2
  3. 3.0 3.1 เกิดเกี่ยงแย่งด้วยเรื่องรัชทายาท, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 26
  4. พรรคพวกโฮจิ๋นจับขันที, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 33

ดูเพิ่ม แก้