กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 37

กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 37 หรือ พิษณุโลกเกมส์ เป็นการแข่งขันกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย จัดการแข่งขันที่จังหวัดพิษณุโลก ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับจัดมหกรรมกีฬาระดับชาติ รวมทั้งการที่ทำให้แขกผู้มาเยือนจังหวัดพิษณุโลกมีความสุขเกิดความประทับใจที่สุด จะอยู่ในช่วงกลางฤดูหนาว ถึงแม้จะเป็นฤดูหนาวแต่อากาศในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกก็มิได้หนาวจัด นอกจากนี้แล้วธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีอยู่ในช่วงนี้จะมีความสมบูรณ์เต็มที่ จึงได้กำหนดจัด การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 37 ระหว่าง วันที่ 14 – 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มีการแข่งขัน 35 ชนิดกีฬา ชิงชัย 468 เหรียญทอง มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการแข่งขัน 10,882 คน ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่จัดการแข่งขันจะอยู่ในช่วง วันกีฬาแห่งชาติ จังหวัดพิษณุโลกจะได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยอีกกิจกรรมหนึ่ง

กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 37
เมืองเจ้าภาพจังหวัดพิษณุโลก
คำขวัญกีฬา สานไมตรี สร้างคนดี พัฒนาชาติ
ทีมเข้าร่วม76 จังหวัด
นักกีฬาเข้าร่วม10,882 คน
กีฬา35 ชนิดกีฬา
พิธีเปิด14 ธันวาคม 2551 (2551-12-14)
พิธีปิด24 ธันวาคม 2551 (2551-12-24)
ประธานพิธีเปิดศศิธารา พิชัยชาญณรงค์
ผู้จุดคบเพลิงเจมส์ เรืองรอด
กัปตันทีมสโมสรพิษณุโลกเอฟซี
สนามกีฬาหลักพิษณุโลกอินเตอร์เนชั่นนอลสเตเดียม

สัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน

แก้

สัญลักษณ์การแข่งขัน คือเส้นสายแถบสีที่ร้อยเรียงกันเป็นรูป ไก่ชนพระนเรศวร โดยการนำภาพไก่ชนพระนเรศวรจัด องค์ประกอบกับตัวอักษร P (สีฟ้า) คืออักษรนำหน้าของจังหวัดพิษณุโลก (Phitsanulok) มีการผสมผสานกับแถบโค้งให้สวยงามและดูเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับลักษณะการแข่งขันกีฬา แถบสีที่แตกต่างกันหมายถึงกลุ่มจังหวัดที่เข้าร่วมการแข่งขัน

  • แถบสีเขียว คือ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ซึ่งหมายถึง กลุ่มจังหวัดในภาคเหนือ
  • แถบสีเหลือง คือ สีแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งหมายถึงกลุ่มจังหวัดในภาคกลาง
  • แถบสีส้ม คือ สีแห่งความเจริญของอารยธรรมโบราณ หมายถึงกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • แถบสีฟ้า คือ สีแห่งสภาพแวดล้อมของธรรมชาติท้องทะเล ซึ่งหมายถึงกลุ่มจังหวัดในภาคใต้
  • แถบสีม่วง คือ สีประจำจังหวัดพิษณุโลก อันเป็นสีที่หมายถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีที่มาจากสีม่วงเป็นสีผสมผสานระหว่างสีน้ำเงิน (สีแห่งความเป็นกษัตริย์) และสีแดง (คือสีแห่งความกล้าหาญ)

นอกจากนั้น การนำไก่ชนมาเป็นองค์ประกอบของสัญลักษณ์ ยังหมายถึงการแข่งขันกีฬาที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อชัยชนะด้วยความกล้าหาญอีกด้วย

สัตว์นำโชค

แก้
 
ดีใจ มาสคอตของพิษณุโลกเกมส์

"ดีใจ" เป็นชื่อสุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว มีขนาดเท่าสุนัขไทย หรือเล็กกว่าเล็กน้อย ขนปุยยาว สง่างาม ว่องไว แข็งแรง หางเป็นพวง สายพันธุ์สืบทอดมาจากหมาจิ้งจอกคือลักษณะหางตั้งโค้งไปข้างหน้า ลักษณะนิสัยของสุนัข บางแก้ว คือ ดุ ดมกลิ่นดีมาก กินง่าย กล้าหาญ จำเสียงได้แม่นยำ อดทน กัดโดยไม่เห่า หวงเจ้าของ รักเจ้าของมาก ซื่อสัตย์

สุนัขบางแก้วมีถิ่นกำเนิดที่หมู่บ้านบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ในอดีตบ้านบางแก้วเต็มไปด้วยป่าระกำ ป่าไม้และต้นไม้อื่น ๆ หนาแน่น มีสัตว์ป่าชุกชุม สุนัขพันธุ์ไทยที่บ้านบางแก้ว จึงมีโอกาสผสมพันธุ์กับสุนัขพันธุ์จิ้งจอก และสุนัขพันธุ์หมาป่า ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่เรียกว่าสุนัขบางแก้ว ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงและเพาะพันธุ์สุนัขบางแก้วขาย ซึ่งทำรายได้ดีแก่ผู้เลี้ยง สามารถฝึกใช้งานได้ มีความสามารถเท่ากับสุนัขพันธุ์ต่างประเทศมีการประกวดสุนัขบางแก้วเกือบทุกปี จึงนับได้ว่าสุนัขบางแก้ว เป็นมรดกของแผ่นดินไทย และของชาวจังหวัดพิษณุโลกที่ตกทอดสายพันธุ์สุนัขอีกสายพันธุ์หนึ่งของคนไทยและสร้างชื่อเสียงดังไปทั่วโลก จึงได้นำมาเป็นสัญลักษณ์นำโชคในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 37 (พ.ศ. 2551) พิษณุโลกเกมส์ ใช้ชื่อว่า "ดีใจ" ต้องการสื่อความหมายถึง การได้ต้อนรับ ผู้มาเยือนจังหวัดพิษณุโลกด้วยความปีติยินดี และดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของชาวจังหวัดพิษณุโลก เป็นสิ่งบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ที่จะนำแต่ความโชคดี มาสู่ผู้มาเยือนจังหวัดพิษณุโลกได้เป็นอย่างดี

“ดีใจ” เป็นสุนัขบางแก้วสีขาวน้ำตาล จะใส่เสื้อสีเหลืองเพราะสีเหลืองให้ความรู้สึกถึงความมุ่งมั่น ความสำเร็จ นุ่งกางเกงสีม่วง เพราะสีม่วง ให้ความรู้สึกถึงความสุภาพและเป็นมิตรกับทุก ๆ คน

คำขวัญประจำการแข่งขัน

แก้

กีฬาสานไมตรี สร้างคนดี พัฒนาชาติ

— Sport encourages friendship’ builds character and helps the nation to go forward

ด้วยคำขวัญดังกล่าวข้างต้น จังหวัดพิษณุโลก มีความมุ่งมั่นที่จะใช้กิจกรรมกีฬาเป็นสื่อ ในการสานสัมพันธ์ไมตรีของชนทุกหมู่เหล่าโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาในลักษณะของความสมานฉันท์ ด้วยกีฬาเป็นกิจกรรมที่มีกฎ กติกา มีการยอมรับในผลแพ้ ผลชนะ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนของการพัฒนาจิตใจของคนจะส่งผลให้ประชาชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นคนดี เป็นการสร้างอนาคตของชาติ โดยให้คนดีเหล่านั้นไปเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

ชนิดกีฬาที่แข่งขัน

แก้
  • กรีฑา
  • กอล์ฟ
  • กาบัดดี้
  • จักรยาน
  • ซอฟท์บอล
  • ตะกร้อ
  • เทควันโด
  • เทนนิส
  • เทเบิลเทนนิส
  • บาสเกตบอล
  • บิลเลียด – สนุกเกอร์
  • แบดมินตัน
  • ปันจักสีลัต
  • เปตอง
  • เพาะกาย
  • ฟุตบอล
  • มวยไทยสมัครเล่น
  • มวยปล้ำ
  • มวยสากลสมัครเล่น
  • ยกน้ำหนัก
  • ยิงปืน
  • ยิมนาติก
  • ยูโด
  • รักบี้ฟุตบอล
  • เรือพาย
  • ลีลาศ
  • วอลเลย์บอล
  • ว่ายน้ำ
  • วูซู
  • หมากล้อม
  • แฮนด์บอล
  • บริดจ์
  • คาราเต้โด
  • ฟุตซอล

อ้างอิง

แก้